ญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รถตู้ชนขอบกั้นทางโทลล์เวย์เสียชีวิต 9 ศพ ผิดหวังไม่ได้เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยคดีกับ “แพรวา” ระบุกระบวนการเยียวยาจิตใจไม่เกิดผล เหตุคดีผ่านมาแล้วเกือบ 2 ปี วอนศาลเร่งพิพากษาอาญาเพื่อฟ้องร้องทางแพ่งต่อไป
วันนี้ (2 ก.ค.) ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สนามหลวง ศาลนัดประชุมคดีหมายเลขดำหมาย 1233/2554 ที่อัยการฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.แพรวา (นามสมมติ) เยาวชนหญิง อายุ 18 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาท จนเป็นเหตุในผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายต่อร่างกายบาดเจ็บสาหัส และทรัพย์สินเสียหาย และใช้โทรศัพท์ขณะขับรถยนต์ กรณีเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 53 เวลากลางคืน จำเลยขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าซีวิค หมายเลขทะเบียน ฎว-8461 กรุงเทพมหานคร ขึ้นบนทางยกระดับโทลล์เวย์ ขาเข้ามุ่งหน้าถนนดินแดงด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งมีนางนฤมล ปิตาทานัง อายุ 38 ปี เป็นคนขับทำให้รถยนต์ตู้เสียหลักหมุนไปชนขอบกั้นทางโทลล์เวย์พลิกคว่ำพังเสียหาย คนขับรถตู้โดยสารและผู้โดยสารภายในรถยนต์ตู้กระเด็นออกจากตัวตกจากทางด่วนเสียชีวิตรวม 9 คน และบาดเจ็บสาหัสจำนวนหนึ่ง
โดยวันนี้ฝ่ายผู้เสียหาย มีนางถวิล เช้าเที่ยง มารดาของ ดร.ศาตรา เช้าเที่ยง และ นพ.กฤช รอดอารีย์ บิดาของนายเกียiติมัน รอดอารีย์ นศ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเสียชีวิต รวมทั้งญาติผู้เสียชีวิตรายอื่นรวม 9 รายเดินทางมาศาล ขณะที่ฝ่ายจำเลยนั้น น.ส.แพรวาไม่ได้เดินทางมาศาล มีเพียงทนายความและญาติของจำเลยรับมอบอำนาจมาแทน ต่อมาศาลได้จัดให้ฝ่ายผู้เสียหายและญาติผู้เสียชีวิตเข้าพบนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เพื่อเยียวยาและประเมินสภาพจิตใจ ที่ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานการประชุมเพื่อบำบัดฟื้นฟูเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่อยู่ภายในบริเวณศาลเยาวชนฯ
ภายหลังใช้เวลาพูดคุยนานกว่า 3 ชั่วโมง พ.ต.อ.ศรัญ นิลวรรณ บิดาของของ น.ส.สุดาวดี หรือน้องนุ่น นศ.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมาเป็นการเยียวยาสภาพจิตใจของครอบครัวผู้เสียหาย โดยมีนักจิตวิทยา จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งมีผู้พิพิากษาสมทบร่วมด้วย ซึ่งเป็นการพูดคุยสอบถามถึงความรู้สึก ความต้องการของฝ่ายผู้เสียหายเพื่อเป็นข้อมูลรายงานต่อศาล โดยครั้งแรกกลุ่มญาติเข้าใจว่าวันนี้จะได้เจรจาไกล่เกลี่ยกับจำเลย แต่เป็นเพียงการเยียวยาจิตใจตามขั้นตอนของศาล ซึ่งนัดหน้าหากเป็นเพียงการเยียวยาจิตใจแบบนี้ นั้นทางครอบครัวผู้เสียชีวิตพูดคุยและได้ข้อสรุปร่วมกันว่า อาจจะไม่มาอีก ถ้าเห็นว่าไม่มีประโยชน์ การเยียวยาฟื้นฟูจิตใจผู้เสียหายน่าจะดำเนินการหลังเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ ช่วง 3 เดือนแรก แต่ตอนนี้เหตุการณ์ผ่านมาจะครบ 2 ปีแล้ว หลายครอบครัวก็เริ่มทำใจกันได้แล้ว และหลายครอบครัวต้องเดินทางไกลจาก จ.เชียงราย และต้องหยุดงานเพื่อมารับฟังการเยียวยาจิตใจ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่ามีขั้นตอนอย่างไรอีก หรือจะส่งนักจิตวิทยาไปพูดคุยที่บ้านหรือไม่ แต่หากเป็นนัดฟังคำพิพากษาก็จะเดินทางมาแน่นอน
“การเยียวยาผมมองว่าไม่จำเป็นแล้ว เพราะเหตุการณ์ผ่านมาจะ 2 ปีแล้ว แต่ละครอบครัวเห็นตรงกันว่าเวลาได้ช่วยเยียวยาไปแล้วส่วนหนึ่ง บ้างก็มีการเยียวยากันเอง และก็นัดเจอเพื่อพูดคุยปลอบใจกัน ทำให้เริ่มรับได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและคิดว่าชีวิตต้องเดินต่อไป แต่เราไม่เคยลืมความรู้สึกที่ต้องสูญเสีย ครั้งหน้าหากศาลนัดมาพูดคุยทำความเข้าใจอีก ทางผู้เสียหายก็จะพิจารณาว่ามีความจำเป็นหรือไม่ หากไม่จำเป็นก็จะของด” บิดาผู้เสียชีวิตกล่าว
พ.ต.อ.ศรัญกล่าวว่า ช่วงบ่ายจะต้องพูดคุยกันอีกครั้งว่าจะนัดอย่างไรต่อไป แต่กระบวนการเยียวยาจะต้องเสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน ขณะที่การเดินทางมาในวันนี้กลุ่มญาติไม่ได้เตรียมเงื่อนไขอะไรเพราะเรายืนยันตามที่เสนอศาลไป แต่เมื่อฝ่ายจำเลยยังคงยืนยันให้การปฏิเสธ ก็ไม่ทราบจะพูดคุยกันเพื่ออะไร โดยเราหวังว่าคดีนี้จะเสร็จสิ้นโดยเร็ว ซึ่งหากคดีอาญาเสร็จสิ้นแล้วจึงจะเริ่มกระบวนการคดีทางแพ่ง
ทั้งนี้ พ.ต.อ.ศรัญเล่าถึงบรรยากาศการพูดคุยเพื่อเยียวยาด้วยว่า เต็มไปด้วยความโศกเศร้าเสียใจเมื่อยังมีการพูดเรื่องนี้ แต่รู้สึกดีขึ้นที่ได้ระบายเพราะอึดอึดใจ โดยหวังว่าคดีจะจบโดยเร็ว
นพ.กฤช รอดอารีย์ บิดาของนายเกียรติมันต์ นศ.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่เข้าใจขั้นตอนของกระบวนการเยียวยา แต่รู้สึกไม่พอใจที่การเดินทางมาในวันนี้ เพราะยังไม่มีโอกาสได้พบจำเลย เนื่องจากหวังว่าการนัดมาในวันนี้น่าจะมีความชัดเจนและได้พบกับจำเลย อีกทั้งไม่อยากให้คดียืดเยื้อเพราะเป็นการบั่นทอนจิตใจญาติผู้เสียชีวิต ส่วนที่จำเลยไม่ได้เดินทาง เเต่ส่งตัวแทนมานั้น ถือเป็นสิทธิ์ของจำเลยไม่สามารถบังคับได้
ด้าน นางทองพูน พานทอง มารดาของ น.ส.นฤมล ปิตาทานัง ผู้ขับขี่รถตู้โดยสาร ผู้เสียหาย เปิดเผยภายหลังการร่วมประชุมกลุ่มครอบครัวผู้เสียหายเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาว่า ศาลได้แยกกลุ่มสอบถามยังไม่ได้ให้เผชิญหน้ากัน โดยการประชุมจะเป็นการสอบถามแต่ละฝ่ายว่ามีความต้องการอะไรบ้าง ขณะที่การประชุมศาลได้แจ้งว่า การพูดคุยนี้เพื่อให้ได้รับการเยียวยา บรรเทาผลกระทบกระเทือนให้น้อยที่สุด โดยส่วนตัวรู้สึกผิดหวังว่า การเดินทางมาศาลในวันนี้ยังไม่ใช่การไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ยังไม่ได้มีการเรียกร้องใดๆ ซึ่งหลังจากนี้ศาลได้นัดประชุมเพื่อจะพูดคุยกับญาติผู้เสียหายแต่ละรายอีกครั้ง โดยส่วนของตัวเองนั้น ศาลนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 6 ก.ค.นี้ เวลา 13.00 น.
ขณะที่ นางยุวดี เยี่ยงยุกดิ์สากล อัยการประจำสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัว 1 โจทก์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมกลุ่มครอบครัวผู้เสียหายซึ่งได้มีการแยกกลุ่มย่อยด้วย แล้วหากการประชุมกลุ่มเสร็จสิ้นเมื่อใดก็จะได้ทำรายงานเสนอศาล เพื่อกำหนดวันนัดหมายในคดีนี้อีกครั้ง โดยคาดว่าภายในเดือน ก.ค.นี้ ศาลจะกำหนดวันนัดประชุมกลุ่มประมาณ 3 ครั้ง ซึ่งเข้าใจว่าศาลจะได้นัดจำเลยมาพูดคุยในนัดใดนัดหนึ่งเพื่อพูดคุยถึงมาตรการเยียวยาครอบครัวผู้เสียหาย