ศาลเยาวชนฯ เรียกแพรวา สาวซีวิค ถกครอบครัวผู้เสียหาย หลังประชุมกลุ่มครอบครัวเสร็จ เพื่อร่างแผนฟื้นฟูฯ เยียวยา ยันไม่กระทบคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน “แพรวา” นำดอกไม้ขอขมาญาติผู้เสียชีวิต ตัวแทนญาติยืนยันต้องการให้ศาลอ่านคำพิพากษา แต่ยอมรับว่ารู้สึกสงสาร “ผู้ต้องหา” เช่นกัน แต่ต้องว่ากันไปตามคดีความอาญาเบาลง แต่ทางแพ่งก็ต้องดำเนินการต่อไป
ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สนามหลวง เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 30 ก.ค. 55 นี้ ศาลนัดประชุมคดีหมายเลขดำหมาย 1233/2554 ที่อัยการฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องน.ส.แพรวา (นามสมมติ) อายุ 18 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทจนเป็นเหตุในผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายต่อร่างกายบาดเจ็บสาหัส และทรัพย์สินเสียหาย และใช้โทรศัพท์ขณะขับรถยนต์ เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 27 ธ.ค.53 เวลากลางคืน จำเลยขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค หมายเลขทะเบียน ฎว 8461 กรุงเทพมหานคร ขึ้นบนทางยกระดับโทลล์เวย์ ขาเข้ามุ่งหน้าถนนดินแดง ด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งขณะนั้น นางนฤมล ปิตาทานัง อายุ 38 ปี เป็นคนขับตู้โดยสารเส้นทางศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทำให้รถยนต์ตู้เสียหลักหมุนไปชนขอบกั้นทางโทลล์เวย์พลิกคว่ำพังเสียหาย คนขับรถตู้โดยสารและผู้โดยสารภายในรถยนต์ตู้กระเด็นออกจากตัวตกจากทางด่วนเสียชีวิตรวม 9 คน และบาดเจ็บสาหัสจำนวนหนึ่ง
โดยวันนี้เป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรกระหว่างญาติผู้เสียหายและจำเลย ซึ่งศาลได้ออกหมายเรียกเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้ทั้งสองฝ่ายมาประชุมร่วมกัน โดยญาติผู้เสียหายเดินทางมาศาลเกือบครบ เพื่อเข้าประชุมหารือถึงมาตรการเยียวยาอีกครั้งหนึ่ง นำโดยนางทองพูน พานทอง มารดาของคนขับรถตู้ นางถวิล เช้าเที่ยง มารดาของดร.ศาสตรา เช้าเที่ยง และทนายความ ส่วนครอบครัวของ พ.ต.อ.ศรัญ นิลวรรณ บิดาของนางสาวชุติพร นิลวรรณ ได้ส่งตัวแทนมา ขณะที่บางครอบครัวไม่ได้เดินทางมาศาลเนื่องจากอยู่ต่างจังหวัดและไม่ได้รับหมายเรียก ด้านน.ส.แพรวพราวเดินทางมาพร้อมพ่อและแม่โดยรถตู้ และได้หลบผู้สื่อข่าวเข้ามาภายในอาคารทันที
ทั้งนี้ นายจิรนิติ หะวานนท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง แถลงภายหลังศาลออกหมายเรียกให้ครอบครัวผู้เสียหายและจำเลยมาประชุมหารือมาตรการเยียวตามกฎหมาย โดยระบุว่า ตามหลัก พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และกติกาสากลที่อยู่ในอนุสัญญาสิทธิเด็ก ต้องแก้ไขฟื้นฟูเด็กให้กลับมาเป็นคนดีและอยู่ในสังคมต่อไปได้ ซึ่งคดีนี้ศาลได้ดำเนินการประชุมกลุ่มครอบครัวผู้เสียหาย และสหวิชาชีพตามกฎหมาย มาตรา 132 เพื่อนำไปสู่การกำหนดวิธีขั้นตอนมาตรการเยียวยา และบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชน โดยให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาช่วยกันคิด เพราะหากศาลคิดเองอาจไม่เหมาะสม และเด็กไม่สามารถปฏิบัติได้ ซึ่ง ในการประชุม 3 ครั้งก่อนหน้านี้ ผู้เสียหายได้บอกความต้องการของตนเองมาแล้ว แต่ในวันนี้ฝ่ายครอบครัวผู้เสียหายและจำเลยมีโอกาสพูดคุยกันเป็นครั้งแรก จะตกลงกันได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับบรรยากาศในที่ประชุม หากไม่สามารถตกลงกันในวันนี้ได้ ก็สามารถขยายระยะเวลาในการพูดคุยของทั้งสองฝ่ายออกไปได้ แต่อย่างมากที่สุดควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน
นายจิรนิติกล่าวอีกว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถพูดคุยกันได้จริงๆ ก็ต้องส่งเรื่องกลับไปที่องค์คณะในคดีดังกล่าวเพื่อให้มีการอ่านคำพิพากษาต่อไป ทั้งนี้ เหตุที่เพิ่งนำแผนการฟื้นฟูเยียวมาเข้ามาใช้กับคดีนี้เนื่องจากกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้เมื่อ พฤษภาคม 2554 ซึ่งขณะนั้นคดีนี้ได้มีการสืบพยานไปบ้างแล้ว หากจะยุติการสืบพยานกลางครัน จะส่งผลต่อรูปคดี เพราะทั้งสองฝ่าย ต่อสู้นำสืบพยานอย่างเต็มที่ จึงต้องเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายสืบพยานอย่างเต็มที่จนเสร็จสิ้นกระบวนการก่อนแล้วค่อยนำคดีเข้าสู่แผนฟื้นฟูฯ ซึ่งกรณีการกระทำประมาทจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ ในศาลนี้ยังไม่เคยมีคดีเข้าสู้ขั้นตอนการเยียวยามาก่อน แต่ย้ำว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีแรกที่ศาลนำมาตรการเยียวยามาใช้ ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีเยาวชนถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดสงขลาในคดีลักขโมยกล้วย และเมื่อมีการประชุมกำหนดแผนฟื้นฟูเยียวยากับผู้เสียหาย ศาลก็ได้กำหนดให้เยาวชนไปปลูกต้นกล้วยคืนจำนวน 20 ต้น พร้อมกับทำความสะอาดมัสยิด
สำหรับกรณีที่ญาติของผู้เสียยืนยันให้ศาลอ่านคำพิพากษาในคดี และต้องการให้จำเลยยอมรับสารภาพ จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น อธิบดีศาลเยาวชนฯ กล่าวว่า ศาลไม่สามารถบังคับให้จำเลยรับสารภาพได้ ขึ้นอยู่ตัวจำเลยเอง เพราะหากศาลบังคับให้สารภาพ จะเป็นการทำลายความยุติธรรม
ส่วนการประชุมที่สามารถนำไปสู่การกำหนดมาตรการเยียวยา จะส่งผลต่อกรณีที่ญาติผู้เสียหาย ไปฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายต่อจำเลยหรือไม่นั้น อธิบดีศาลเยาวชนฯ ยืนยันว่ากระบวนการเยียวยาเป็นการดำเนินการในส่วนของคดีอาญา ไม่เกี่ยวข้องกับคดีแพ่งแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังประชุมนานร่วม 3 ชั่วโมง ต่อมาเวลา 15.50 น. น.ส.แพรวา ครอบครัวและทนายได้ขึ้นรถตู้และเดินทางกลับทันทีโดยไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ขณะที่ น.พ.กฤช รอดอารีย์ บิดาของนายเกียรติมัน รอดอารีย์ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในการประชุมร่วมกันของสองฝ่ายวันนี้ จำเลยได้นำพวงมาลัยมามอบให้กับทางญาติผู้เสียหายทั้งหมด พร้อมทั้งกล่าวแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเราก็รู้สึกพอใจที่จำเลยมาพบและกล่าวแสดงความเสียใจ โดยจำเลยได้เล่าว่าปัจจุบันจำเลยพร้อมครอบครัวไม่กล้าเดินทางไปที่สาธารณะมากนัก เพราะเคยมีคนพูดจาข่มขู่ ซึ่งเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นมากว่า 2 ปีแล้ว ฝ่ายญาติผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วมรู้สึกสงสารตัวจำเลย แต่คดีก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการถูกผิด ซึ่งฝ่ายโจทก์ยืนยันให้ศาลมีคำพิพากษาในคดีนี้ โดยคาดว่าการประชุมพูดคุยเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย และรอให้ศาลแจ้งหมายอีกครั้ง เพราะยังไม่ได้กำหนดวันเวลานัดครั้งต่อไป ซึ่งการประชุมวันนี้ก็ไม่ได้มีการพูดถึงการเรียกร้องค่าเสียหาย ส่วนคดีที่มีการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่ง กับพ่อแม่จำเลย ก็ยังดำเนินการต่อไป
ด้านนายจิรนิติ หะวานนท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่า หลังจากนี้จะสรุปรายละเอียดทั้งหมดจากการประชุมระหว่างญาติผู้เสียหายและจำเลยส่งกลับไปให้องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณา ส่วนองค์คณะจะนัดวันฟังคำพิพากษาเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ ตนไม่สามารถระบุเวลาได้ เพราะจะเป็นการกดดันองค์คณะ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังให้สัมภาษณ์ นพ.กฤชได้นำพวงมาลัยที่จำเลยนำมามอบให้ไปสักการะศาลพระภูมิภายในบริเวณศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง