รมว.ศึกษาธิการพร้อมคณะเดินทางเข้าหารือ ผบ.ตร.เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเด็กอาชีวะตีกัน เบื้องต้นมีแนวคิดส่งหน่วยคอมมานโดเข้าอบรมวินัยและจริยธรรมภายในสถานศึกษา เล็ง 4 เขตบางกะปิ บางแค ดอนเมือง และสมุทรปราการ
วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ พร้อมคณะ เดินทางมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าพบ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา (สบ 10) เพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาเด็กนักเรียนอาชีวะตีกันทำให้มีผู้อื่นได้รับบาดเจ็บเสียชีวิต โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์กล่าวว่า รมว.ศึกษาธิการเข้าหารือแนวทางการแก้ปัญหาเด็กนักเรียนตีกัน โดยเบื้องต้นต้องการให้ตำรวจเข้าไปอบรมเด็กนักเรียนอาชีวะภายในโรงเรียนเหมือนเป็นครู ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่ตำรวจเข้าไปแค่ตรวจค้นอาวุธ แต่ครั้งนี้เราจะนำตำรวจเข้าไป เบื้องต้นมีแนวคิดนำตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวร หรืออาจจะเป็นตำรวจหน่วยคอมมานโด กองปราบปราม เข้าไปฝึกระเบียบวินัย จริยธรรม และเรื่องอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่เด็กนักเรียนอาชีวะ
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์กล่าวอีกว่า ปัญหานี้ต้องเร่งแก้ไข เพราะเด็กอาชีวะกลุ่มหนึ่งทำให้เกิดปัญหาสังคม พ่อแม่ผู้ปกครองไม่สบายใจ ไม่กล้าส่งลูกหลานมาเรียนที่อาชีวะ ทั้งที่จริงแล้วเด็กๆ เหล่านี้บางคนมีความสามารถมาก แต่ไม่กล้ามาเรียนก็น่าเสียดาย
ด้าน นายสุชาติกล่าวว่า โรงเรียนอาชีวะที่มีปัญหาจะมีเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 36 โรงเรียน ส่วนต่างจังหวัดไม่มีปัญหาแต่อย่างใด สำหรับเขตพื้นที่มีพบการก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันบ่อย มี 4 เขต ประกอบด้วย เขตบางกะปิ บางแค ดอนเมือง และ จ.สมุทรปราการ โดยมีหัวโจกอยู่ประมาณ 130 คน นอกจากนี้ได้สั่งให้เจ้าหนาที่ที่เกี่ยวข้องทำรายงานเหตุการณ์เด็กนักเรียนตีกันย้อนหลัง 3 ปี เพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหา
นายสุชาติกล่าวด้วยว่า ได้ขอความร่วมมือตำรวจในการตรวจค้นอาวุธตามร้านค้า โรงเรียน ซึ่งตำรวจรู้ดีอยู่แล้ว นอกจากนี้ มาตรการแยกปลาออกจากน้ำ คือ แยกเด็กไม่ดีออกมา ซึ่งหากพิจารณาแล้ว มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีปัญหา บางทีอาจนำ 130 คนไปเข้าโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองของทหารก็ได้เพื่อปรับพฤติกรรม ยังได้พูดคุยในเรื่องการแก้ปัญหาตรงนี้ต้องทำอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่ผ่านมาครูเองก็มองว่าเป็นลูกเป็นหลานทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และยังมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอยู่ ซึ่งจริงๆ เด็กเหล่านี้ถ้าไม่ได้แต่งเครื่องแบบนักศึกษาก็เป็นแค่โจรคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งแนวทางอาจมีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กก็ได้ ส่วนการแก้ปัญหาโดยการปิดโรงเรียนนั้นก็ทำได้ยากอยู่ เพราะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนของรัฐและเอกชน จึงได้สั่งการให้ทำรายงานเหตุการณ์ย้อนหลังไว้ ถ้าโรงเรียนไหนปล่อยปละละเลยให้เกิดเหตุบ่อยครั้งเกินไป ก็จะเป็นเหตุผลที่จะปิดโรงเรียนได้ ทั้งนี้ มีการหารือกันเรื่องเพิ่มหลักสูตรให้เหมือนที่ไต้หวัน เข้าไปฝึกอบรมเด็กนักเรียนในโรงเรียนอาชีวะ ซึ่งไต้หวันสามารถแก้ปัญหาการตีกันได้