xs
xsm
sm
md
lg

ก่อสร้างท่าเรือก่อนได้รับอนุญาต ความผิดพลาดที่ต้องชดใช้ ! (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ต่อเนื่องจากคราวที่แล้ว... ซึ่งผมได้นำกรณีที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดำเนินการถมทะเลเพื่อก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดแล้วเสร็จก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่า และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่าการออกใบอนุญาตของกรมเจ้าท่า เป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการออกใบอนุญาตหลังจากที่มีการดำเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้ว อันทำให้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ท้ายใบอนุญาตซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต้องปฏิบัติตามนั้น ไม่มีสภาพบังคับจริงในทางปฏิบัติ

ดังที่ผมได้นำเสนอไปแล้วว่า... คดีนี้มีความพิเศษในประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดคำบังคับของศาลปกครอง โดยเมื่อศาลท่านได้วินิจฉัยแล้วว่าการออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างท่าเรือเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองก็จะกำหนดคำบังคับโดยสั่งให้เพิกถอนคำสั่งนั้นเสีย ทั้งนี้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งก็คือสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างท่าเรือ

แต่ในกรณีนี้ศาลท่านมิได้พิพากษาเช่นนั้น แต่ได้พิพากษาให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยชำระค่าปรับให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 โดยหากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไม่ปฏิบัติตาม จึงจะให้เพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองสูงสุดท่านได้อธิบายเหตุผลไว้อย่างชัดเจนรวมทั้งได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการเพื่อให้เป็นตาม
คำพิพากษา ดังนี้ครับ

เมื่อการออกใบอนุญาตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้กระทำมาเป็นเวลานานแล้ว และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ได้ดำเนินการตามใบอนุญาตนั้นจนเสร็จสิ้นแล้ว หากศาลมีคำบังคับให้เพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวก็จะมีผลให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต้องดำเนินการเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิมรวมถึงการรื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั้งหมด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ตามมาจากการรื้อถอนและระบบการลงทุนที่ได้ดำเนินการโดยต่อเนื่องตลอดมารวมถึงจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่การที่กรมเจ้าท่าได้ใช้อำนาจออกใบอนุญาตดังกล่าวตามมาตรา 118 ทวิ วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงต้องชำระค่าปรับตามที่กรมเจ้าท่ากำหนดตามอัตราในมาตรา 118 ดังกล่าว

สำหรับข้อที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ตนได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการถมทะเลตามโครงการดังกล่าวนั้น ในชั้นการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลยังไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายตามคำฟ้อง กรณีนี้ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้ แต่การป้องกันและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว ยังถือเป็นกรณีที่อยู่ในความรับผิดชอบของ
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง

ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาให้กรมเจ้าท่า (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) มีคำสั่งเรียกให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ชำระค่าปรับให้ถูกต้องตามมาตรา 118 ทวิ วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาดังกล่าวให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1

โดยศาลปกครองสูงสุดมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่า เมื่อการก่อสร้างตามโครงการนี้เป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดท้ายใบอนุญาต ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงสมควรเร่งรัดตรวจสอบว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต้องปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงมาตรการการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและมาตรการติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง โดยจัดทำแนวป้องกันการพังทลายของชายฝั่งและดูแลปรับปรุงซ่อมแซมให้มีความมั่นคงแข็งแรง ปรับสภาพพื้นที่ด้านหลังและป้องกันเขื่อนหินเรียงสองฝั่งถนนเลียบชายหาดที่เสียหายจากการกัดเซาะจากการถมทะเลตามโครงการให้มีระดับพื้นที่ใกล้เคียงกับระดับพื้นที่เดิม ซึ่งหากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวก็เป็นเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อาจพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตหรือดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ (คดีหมายเลขแดงที่ อ.21/2555)
ผมเห็นว่าการกำหนดคำบังคับของศาลปกครองสูงสุดในกรณีนี้ ท่านได้พิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการพิพากษาคดีของศาลอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อระบบนิเวศน์ การพัฒนาประเทศในทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสังคมและสาธารณชนในวงกว้าง ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรักษาประโยชน์สาธารณะควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิของบุคคลในการที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตได้อย่างเหมาะสม ภายใต้หลักความยุติธรรม ซึ่งการพิจารณาคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนี้ต้องใช้ความรู้ในลักษณะสหวิทยาการ โดยเฉพาะการวิเคราะห์กฎหมายในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งคงต้องติดตามพัฒนาการของคดีประเภทดังกล่าวกันต่อไปครับ...

คราวหน้า... ครองธรรม ธรรมรัฐ จะมีเรื่องเล่าดีดีอะไรมาฝากกันอีก....โปรดติดตามครับ !
                                                                           ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น