xs
xsm
sm
md
lg

ก.ต.ช.มีมติไม่ยุบ ศชต.พร้อมฟื้น ศปก.ตร.ส่วนหน้า

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

โฆษก ตร.เผย ที่ประชุม ก.ต.ช.มีมติไม่ยุบศชต.และรับหลักการให้ปรับปรุงโครงสร้าง พร้อมฟื้น ศปก.ตร.ส่วนหน้า นอกจากนี้ ยังมีมติจ่ายเงินทดแทนให้กับตำรวจสายปราบปราม ที่ทุพพลภาพ และเสียชีวิต จากการปฏิบัติหน้าที่ รายละ 5 แสนบาท เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ (26 เม.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงผลการประชุม ก.ต.ช.ครั้งที่ 1/2555 โดยมี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม มีคณะกรรมการ ก.ต.ช.เข้าครบทุกคน โดยการประชุมวันนี้ มีหลายเรื่องที่สำคัญ เรื่องแรกเป็นเรื่องยาเสพติด จะยกปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งภูมิภาคอาเซียน สืบเนื่องจากการที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปประชุมผู้นำอาเซียน ทุกประเทศเห็นว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญของภูมิภาค ต้องร่วมกันแก้ปํญหาทั้งการป้องกันและปราบปราม การดุแลเนวชายแดนร่วมกัน ลดพื้นที่การปลูกฝิ่นโดยการปลูกป่าทดแทน โดยมอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพในการพิจารณาเรื่องนี้ภายใต้การกำกับดูแลของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้มีการเรียกประชุมฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด และในการประชุม ก.ต.ช.ครั้งนี้ให้ ตร.จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อไปเสนอต่อไป

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องการปรับปรุงการทำงานของตำรวจในภาคใต้ ในการปรับโครงสร้าง ศชต.ที่ก่อนหน้านี้ การประชุม ก.ต.ช.ครั้งที่ 4/2554 ลงวันที่ 9 เมษายน ให้ยุบ ศชต.ขึ้นต่อ บช.ภ.9 วันนี้ ก.ต.ช.มีมติ ให้คง ศชต.ไว้ เหมือนเดิม และรับหลักการให้ปรับปรุงโครงสร้าง ส่วนราชการใน ศชต.เพิ่ม บก.อีก 3 บก. 1.ดูแลด้านความมั่นคง 2.ดูแลงานยุทธศาสตร์ 3.งานด้านการติดตามเทคโนโลยีกล้องซีซีทีวี และมีมติให้คงไว้ ศปก.ตร.ส่วนหน้า และให้ตั้ง ศปก.ตร.ส่วนหน้า เป็น รองผบ.ตร.อยู่ในพื้นที่ 24 ชั่วโมง คอยดูแลมอนิเตอร์เหตุการณ์โดยตลอด ประสานกับ ศปก.ตร.ส่วนหลัง ซึ่งมี ผบ.ตร.เป็น ผอ.ดูแลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่ง ศปก.ตร.จะมีหน้าที่ในการดูแลพื้นที่เขตเทศบาลเมืองดูเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นการเฉพาะ และ ผอ.ศปก.ตร.ที่เป็นระดับ รองผบ.ตร.จะสามารถบูรณาการกำลังในส่วนต่างๆ ทั้ง ตชด.ท่องเที่ยว ตำรวจส่วนกลางมาช่วยได้ทันที ทั้งนี้ จะได้ประสานหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ได้สะดวกขึ้น

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า การให้คงไว้ ศปก.ตร.ส่วนหน้าครั้งนี้ จะมีการแต่งตั้งไปทำงานในตำแหน่งประจำ ไม่ให้เป็นการช่วยราชการอย่างที่ผ่านมา พร้อมกำหนดระยะเวลาในการทำงานประจำที่ ศปก.ตร.ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งทางฝ่ายกำลังพลกำลังไปดำเนินการเรื่องนี้อยู่ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปดูแลเรื่องวางระบบซีซีทีวีให้มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงกับกล้องซีซีทีวีของหน่วยราชการ เอกชน และของประชาชนในพื้นที่ได้ เมื่อเกิดเหตุจะได้นำข้อมูลมาใช้ได้ทันที นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเร่งรัดสำนวนการสอบสวนในพื้นที่ภาคใต้ และการส่งฟ้องไม่ให้สำนวนค้าง และให้ดูแลเรื่องนักท่องเที่ยวไม่ให้นักท่องเที่ยวถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงการดูแลเรื่องอบายมุขต่างๆ ในพื้นที่ที่ส่งผลกระทบต่ออาชญากรรมอื่นๆ ด้วย

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า เรื่องที่ 3 ก.ต.ช.มีมติโอนศูนย์ฝึกอบรม บช.ภ.1-8 และ ศชต.ไปสังกัด บช.ศ.ทั้งหมด โดยขั้นตอนจะเสนอ ก.ตร.เพื่อตัดโอนตำแหน่งไปยัง บช.ศ.เมื่อ ก.ตร.อนุมัติตำแหน่ง ก็จะเสนอ ครม.เพื่อแก้กฎกระทรวง ปรับปรุงโครงสร้างต่อไป เรื่องที่ 4 ก.ต.ช.มีมติยุติเรื่องการยกระดับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เป็นกองบัญชาการตามที่เสนอมา ให้คงให้เป็นหน่วยงานระดับกองบังคับการเหมือนเดิม โดยให้เหตุผล 3 ข้อ คือ 1.การยกระดับจะทำให้สายการบังคับบัญชายาวเกินไป ไม่คล่องตัวในการทำงาน 2.การยกระดับต้องมีการแก้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 11 วรรค 2 3.จะมีปัญหาเรื่องงบประมาณและบุคลากร

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 5 ก.ต.ช.มีมติให้รัฐบาลจ่ายเงินทดแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สายงานปราบปรามทั้งหมดที่ทุพพลภาพ และเสียชีวิต จากการปฏิบัติหน้าที่ รายละ 5 แสนบาท เช่นเดียวกับการจ่ายเงินชดเชยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการจ่ายเงินชดเชยเป็นรายคน ใช้งบประมาณน้อยกว่าการทำประกันชีวิตให้ตำรวจสายปราบปรามทั้งระบบ นอกจากนั้น ก.ต.ช.ยังรับหลักการการเพิ่ม บก.ด้านการสกัดกั้นการขนส่งยาเสพติดใน บช.ปส.เพิ่มอีก 1 บก.ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำงานของ ศปก.ตร.ส่วนหน้ากับ ศชต.เป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ศชต.เทียบเท่ากองบัญชาการ จะมีหน้าที่ดูแลอาชญากรรมทั่วไป ส่วน ศปก.ตร.ส่วนหน้า รูปแบบโครงสร้างสูงกว่า ศชต.เน้นงานการดูแลเหตุการร์ความไม่สงบ ความปลอดภัยต่างๆ ประสานงานกับ กอ.รมน.ศอ.บต.
กำลังโหลดความคิดเห็น