ตร.หารือร่วมหน่วยงานเกี่ยวข้องวางมาตรการคุมการรั่วไหลของยาที่มีสารซูโดอีเฟดรีน หรือสารตั้งต้นผลิตยาบ้าที่มีบาง รพ.สั่งซื้อผิดปกติ เพื่อให้รู้เส้นทางของยาซูโดอีเฟดรีน และรู้ช่องโหว่นำไปสู่การเอาผิดกับผู้ดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย ชี้ ทางสืบฯ พบมี 6 บริษัทเกี่ยวข้องส่งยาให้ รพ.
วันนี้ (13 มี.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมศุลกากร และ ป.ป.ส.เพื่อประชุมหารือกำหนดมาตรการคุมแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของยาที่มีสารซูโดอีเฟดรีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า เป็นส่วนผสมไปใช้นอกระบบการควบคุม
พล.ต.ท.จรัมพร กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเร่งรัดสืบสวนติดตามคดีที่เกี่ยวกับสารตั้งต้นซูโดอีเฟดรีน โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ โดยสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ ทาง บช.ภ.5 ได้ไปตรวจที่บ้านหลังหนึ่งใน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ พบซองยาที่มีการแกะเม็ดยาออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งทาง บช.ภ.5 จึงได้มีการขยายผลการสืบสวนไปตรวจสอบที่บ้านหลังหนึ่งพบยาที่มีสารซูโดอีเฟดรีน อีก 2.3 แสนเม็ด เป็นการทำผิดกฎหมาย เพราะยาที่มีส่วนผสมของสารดังกล่าว ห้ามมีไว้ครอบครองเกินจำนวน
พล.ต.ท.จรัมพร กล่าวต่อว่า สำหรับยาที่มีส่วนผสมของสารซูโดอีเฟดรีนห้ามจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป โดยให้ทางโรงพยาบาลที่มีเตียงคนไข้เท่านั้นที่สั่งซื้อได้ โดยสั่งซื้อได้ 5,000 เม็ดต่อครั้งต่อเดือนเท่านั้น สำหรับยาที่พบที่ อ.สันกำแพง นั้น จากการตรวจสอบพบว่า มีที่มาจาก รพ.ทองแสงขัน จ.อุตรดิตถ์ และเมื่อไปตรวจสอบที่ รพ.ดังกล่าวก็พบว่ามีการรั่วไหลจริง เนื่องจากการสั่งซื้อบัญชีแรกซื้อในชื่อ รพ.อย่างถูกต้อง อีกบัญชีเป็นบัญชีสวัสดิการของ รพ.เป็นการแอบอ้างชื้อ ซึ่ง รพ.ซื้อและส่งไปที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
พล.ต.ท.จรัมพร กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น จากการตรวจสอบของ บช.ภ.5 ยังพบว่า ยาซูโดอีเฟดรีน ได้รั่วไหลจาก รพ.ศูนย์อุดรธานี จำนวน 3 ล้านเม็ด โดยอ้างว่าสั่งซื้อเพื่อส่งไปโรงพยาบาลตำบล แต่เมื่อตรวจสอบแล้ว พบว่า ทางโรงพยาบาลตำบลไม่ได้รับยาแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การประชุมในวันนี้ เพื่อให้รู้เส้นทางของยาซูโดอีเฟดรีน ว่า มีขั้นตอนการสั่งซื้อและการตรวจสอบอย่างไรก่อนถึงมือผู้บริโภคเพื่อให้รู้ช่องโหว่อยู่ที่ไหนจะได้ดำเนินการในการตรวจสอบและหาทางสกัดกันยาซูโดอีเฟดรีน
“สำหรับโรงพยาบาลที่เข้าไปเกี่ยวแนวทางการดำเนินคดีก็ต้องตรวจสอบว่าโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ใช้ตำแหน่งในการไปสั่งซื้อยาหากดำเนินการผิดกฎหมายก็จะมีความผิด และหากพบว่ามีการนำตัวยาไปผลิตเป็นยาเสพติดก็จะมีความผิดเพิ่มตามพ.ร.บ.ยาเสพติดซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจากการตรวจสอบยังพบว่า มี 6 บริษัทยาจาก 56 บริษัท ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในการส่งยาซูโดอีเฟดรีนไปให้โรงพยาบาล” พล.ต.ท.จรัมพร กล่าว