xs
xsm
sm
md
lg

ตร.เข้มการข่าว-ความมั่นคงปิดทางก่อเหตุอาชญากรรม!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกตร.
โฆษก ตร.ย้ำ ผบ.ตร.สั่งตำรวจทุกนายไม่ให้ข้อมูลระเบิด หวั่นกระทบต่อการสืบสวนฯคดี พร้อมทั้งสันติบาลจะต้องประสานไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา และ จีน เพิ่มมากขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลให้สอดรับกับวิวัฒนาการของอาชญากรรม โดยจะเน้นดูแลในมิติความมั่นคง-ด้านการข่าวเพิ่มขึ้น พร้อมกำชับ ตม.และตชด.ระมัดระวังการผ่านเข้าออกประเทศมากขึ้น

วันนี้ (22 ก.พ.) เมื่อเวลา 11.00 น.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกตร.แถลงถึงกรณีเหตุระเบิด 3 จุด ย่านสุขุมวิท 71 เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.สั่งการให้ตำรวจทุกนายไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุระเบิดนั้น เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการสืบสวนสอบสวนได้ โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนได้นำตัว นายโมฮัมหมัด คาซาอี จากกองบังคับการปราบปรามไปยังศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อฝากขังผลัดแรก ทั้งหมด 12 วัน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ได้แบ่งผู้ต้องหาชาวอิหร่านออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ต้องหาที่สามารถจับกุมได้ บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ คือ นายโมฮัมหมัด คาซาอี 2.กลุ่มผู้ต้องหาที่โดนระเบิดขาขาดและรักษาตัวอยู่ รพ.จุฬาฯ คือ นายซาอิด โมราดิ ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา แต่ใช้การควบคุมตัวตามพ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง และ3.กลุ่มที่หลบหนีไปต่างประเทศ คือ นายมาซูด ซีดากัส ซาเดท ที่ถูกทางการมาเลเซียควบคุมตัวไว้ ซึ่งอัยการฝ่ายต่างประเทศทำเรื่องไปที่กระทรวงการต่างประเทศเพื่อเสนอต่อทางการมาเลเซียเพื่อขอนำตัวมาสอบสวน รวมทั้งออกหมายจับ นางโรฮานี ไลลา ที่หลบหนีอยู่ในประเทศของตนเอง ซึ่งกระบวนการของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

พล.ต.ต.ปิยะ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานตามพยานหลักฐานที่พบจริง ไม่ใช่ตามความคาดคะเนและต้องทำควบคู่กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหลัก รวมถึงความปลอดภัยของประชาชน ส่วนการตรวจสอบสติ๊กเกอร์คำว่า “SEJEAL” นั้น พล.ต.ท.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น ผู้ช่วย ผบ.ตร.ได้ตรวจสอบแล้ว ซึ่งยังไม่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกัน และขอเวลาให้พนักงานสืบสวนสอบตรวจสอบก่อนอีกครั้ง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีเจ้าหน้าที่จากต่างประเทศขอเข้าร่วมให้ข้อมูลในการสืบสวนคดีนี้ด้วย พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่พร้อมรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย รวมถึงเบาะแสจากประชาชนด้วย ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี แต่คงจะไม่มีการเข้าร่วมให้ข้อมูลจากฝ่ายอื่นๆ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งชุดสืบสวนสอบสวนขึ้นมาดูแลเรื่องดังกล่าวเอาไว้แล้ว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการประสานขอตัวผู้ต้องหาจากทางการมาเลเซีย โดยมีเวลาควบคุมตัวไว้ 14 วัน ซึ่งตอนนี้เหลือเวลาอีก 7 วันจะครบกำหนดการปล่อยตัว ซึ่งทางการไทยจะได้ตัวทันหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาของแต่ละประเทศมีขั้นตอนและกระบวนการแตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย หรืออัยการมาเลเซียเป็นผู้พิจารณา โดยกระบวนการของกฎหมายมีรูปแบบแตกต่างกันไป ซึ่งทางการไทยไม่สามารถเร่งรัดได้ว่าจะเป็นวันใด

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการข่าวของสันติบาล ว่า มีความบกพร่องหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มองว่า เป็นความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะยังไม่ได้เกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรงขึ้น ซึ่งตั้งแต่เหตุการณ์ นายอาทริส ฮุสเซน ผู้ต้องชาวเลบานอนก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ในการก่ออาชญากรรมของชาวต่างชาติมีวิวัฒนาการใหม่ๆในการก่อเหตุ ซึ่งจากที่ตำรวจเคยใช้ได้ผลจะต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น เช่น ฝ่ายข่าวและฝ่ายความมั่นคงต้องประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลมากยิ่งขึ้นกับข้อมูลระหว่างต่างประเทศ และแต่เดิมกองบังคับการตำรวจสันติบาลมีหน่วยประสานงานตั้งอยู่ที่ประเทศมาเลเซียที่เดียว แต่ตอนนี้ต้องจัดเจ้าหน้าที่ประสานงานเพิ่มมากขึ้นไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้ง ประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และจีน พร้อมต้องปรับบางส่วนเพื่อให้สอดรับกับการวิวัฒนาการของอาชญากรรม

“นอกจากนี้ ต้องกำชับเรื่องความระมัดระวังการผ่านเข้าออกประเทศในส่วนของ ตม.และ ตชด.เพิ่มมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ ประเทศไทยพิจารณาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างเดียว โดยต้องมีการดูแลในมิติความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งด้านการข่าว” โฆษก ตร.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น