ดีเอสไอสอบ ผอ.สกสค.ทุจริตจัดพิมพ์หนังสือ-แบบเรียนช่วยน้ำท่วม และกรณีการขายที่ดินในสุราษฎร์ธานีให้ภาคเอกชน พบสัญญาข้อพิรุธหลายอย่าง จึงเชื่อว่ามีมูลปฏิบัติหน้าที่มิชอบ พร้อมสรุปสำนวนส่งให้ ป.ป.ช.-รมว.ศึกษาธิการ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
วันนี้ (20 ก.พ.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีดีเอสไอ นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ รองผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ดีเอสไอ แถลงผลการสอบสวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กรณีการสั่งซื้อหนังสือแบบเรียนและสื่อการเรียนการสอนของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือ ไทยทีวีสีช่อง 3 ให้กับโรงเรียนที่ประสบอุทกภัย 158 แห่ง มูลค่า 3.6 ล้านบาท และกรณีการขายที่ดินชอง สกสค.ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้กับเอกชน
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบว่า ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้มีหนังสือถึงนายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ผอ.องค์การค้าของ สกสค.เพื่อสั่งซื้อหนังสือแบบเรียนและสื่อการเรียนการสอน จำนวน 3 รายการ ได้แก่ หนังสือ สมุด และเครื่องเขียน มูลค่า 3,696,855 บาท แต่ ผอ.องค์การ สกสค.ได้แก้ไขหนังสือของช่อง 3 ที่มีความประสงค์จะทำสัญญาตรงกับ สกสค.โดยไม่ต้องการมีผู้ประสานการขาย พร้อมลงนามทำสัญญาให้ นางพรทิพย์ เขมะรัตน์ น้องสาว เป็นผู้ประสานการขาย โดยจ่ายค่าประสานการขายให้นางพรทิพย์ เป็นเงิน 1,215,052 บาท ซึ่งเรื่องนี้ช่อง 3 ได้รับความเสียหายที่จะได้เป็นเงินส่วนลด แต่กลับมีการนำเงินไปจ่ายให้กับผู้ประสานการขาย จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อการนำสื่อการเรียนการสอนไปบริจาคให้กับโรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วม หรือแทนที่เงินรายได้จะเข้าไปที่ สกสค.เต็มจำนวน แต่การตั้งน้องสาวตัวเอง เป็นผู้ประสานการขาย ทำสัญญากับช่อง 3 ดีเอสไอเห็นว่าผลสอบสวนมีมูลความผิดปฏิบัติหน้าที่มิชอบแล้ว
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่ 2 กรณีการขายที่ดินในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขององค์การค้าของ สกสค.โดย นายสันติภาพ ให้กับเอกชน อาจทำให้องค์การค้าของ สกสค.เสียหาย เพราะมีข้อพิรุธในการทำสัญญาขายที่ดินของ สกสค.เนื้อที่ 48 ไร่ โดยมีการแบ่งขาย 2 แปลง แปลงแรกจำนวน 5 ไร่ ขายไร่ละ 8 แสนบาท ส่วนที่ดินแปลงที่สอง 43 ไร่ ซึ่งติดกันขายไร่ละ 1 ล้านบาท ซึ่งราคาที่ดินไม่เท่ากันทั้งที่ติดกัน จึงเป็นประเด็นสอบสวน ว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ ประเด็นต่อมาคือที่ดินดังกล่าวมีราคา 47 ล้านบาท แต่เอกชนมีการวางมัดจำเพียง 3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินมัดจำค่อนข้างจะน้อยเมื่อเทียบกับราคาซื้อขายที่ดิน ส่วนเงินค่าที่ดินที่เหลืออีก 44 ล้านบาท ได้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายตกลงจ่ายเงินที่เหลืออีก 44 ล้านบาท ใน 9 เดือนต่อมา จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า การทำสัญญาเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนหรือไม่ เป็นข้อพิรุธที่ไม่ปรกติในเรื่องราคา และการยืดระยะเวลาการจ่ายเงินออกไป 9 เดือน ที่ดีเอสไอน่าเชื่อว่ามีมูล ดังนั้น ดีเอสไอได้สรุปสำนวนส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พร้อมแจ้งให้ รมว.ศึกษาธิการ และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รับทราบดำเนินการต่อไป