รองนายกฯเฉลิม เป็นประธานประชุม ศพส.สรุปผลงานไตรมาสแรก พร้อมวางยุทธศาสตร์เชิงรุกตัดวงจรยาเสพติด
วันนี้ (13 ก.พ.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด (ผอ.ศพส.) พร้อมด้วย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เลขา ป.ป.ส. พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการ สมช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ “พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด” พ.ศ.2555 ไตรมาสที่ 1 (11 กันยายน 2554 - 31 มกราคม 2555) พร้อมพิจารณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในไตรมาสที่ 2 โดยใช้เวลาการประชุมกว่า 2 ชั่วโมง
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวภายหลังการประชุม ว่า การทำงานที่ผ่านมาได้วิเคราะห์และสรุปผลจากศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.) พร้อมได้วางยุทธศาสตร์ ยุทธการ และยุทธวิธี โดยตัด 3 วงจร ได้แก่ ตัดตัวยา(supply) ตัดการใช้ (demand) ตัดกลุ่มเสี่ยง(potential demand) และใช้ยุทธศาสตร์ วาระแห่งภูมิภาค เป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศ
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ขณะนี้การนำเข้ายาเสพติดมีน้อยลง เนื่องจากได้ปิดชายแดนและสกัดสารตั้งต้น รณรงค์ป้องกันปราบปราม และ บำบัดรักษา ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจที่ค่อนข้างพึงพอใจและประสบผลสำเร็จ แต่ยังมียาเสพติดส่วนหนึ่งที่ยังหลงเหลือ คือ เป็นยาเสพติดที่นำเข้ามาแล้วและยังตกค้างอยู่ในประเทศ โดยการทำงานได้ขอความร่วมมือจากประชาชนให้มีส่วนร่วมมากขึ้น เน้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทำงานร่วมกับผู้บังคับการจังหวัด ส่วนนายอำเภอทำงานกับผู้กำกับและให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันทำงานลงไปจนถึงระดับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด ขณะเดียวกันจะทำการบำบัดผู้ป่วยควบคู่กันไป
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวอีกว่า การทำงานในเชิงรุก ได้ปิดสกัดกั้นชายแดน ทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน ยกระดับการแก้ปัญหายาเสพติด จากวาระแห่งชาติเป็นวาระแห่งภูมิภาค โดยใช้ยุทธการร่วมมือกัน 2 ฝั่งลำน้ำโขง และให้คณะรัฐมนตรีอนุมัตินำเจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองยาเสพติดไปอยู่ในสถานฑูตไทยตามประเทศต่างๆของภูมิภาคและในอีกหลายประเทศ เพื่อทำการปราบปรามและบำบัดคู่กันไป
“ส่วนนักโทษคดียาเสพติดที่อยู่ในเรือนจำแต่สามารถสั่งการออกมาข้างนอกได้จะเน้นให้เจ้าหน้าที่ดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะนักโทษคดียาเสพติดที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินประหารชีวิตแล้ว ซึ่งผมจะแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้มีสิทธิ์ยื่นฎีกา และให้ทำการประหารโดยเร็วที่สุดภายใน 60 วัน นับเฉพาะนักโทษคดียาเสพติดเท่านั้นไม่เกี่ยวกับคดีอื่น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างให้กฤษฎีกายกร่างเพื่อพิจารณาตรวจสอบ” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
นายแพทย์ บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้ตรวจราชการสาธารณสุข กล่าวว่า ระยะเวลา 4 เดือน ในยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาด้วยความสมัครใจประมาณ 1.2 แสนคน เมื่อเทียบกับปี 2554 ใน 4 เดือนแรกเหมือนกัน พบว่า มีผู้เข้ารับการรักษาเพียง 40,000 รายเท่านั้น ทั้งนี้ คาดว่า ตลอดทั้งปีนี้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดเกี่ยวกับยาเสพติดอาจจะมากกว่า 400,000 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ไตรมาสที่ 2 แบ่งหลักการทำงาน ดังนี้
ยุทธศาสตร์ คือ การตัด 3 วงจร ได้แก่ การปราบปรามผู้ผลิต/ผู้ค้าและลดปริมาณยาเสพติดหรือตัดตัวยา, การลดผู้เสพ/ผู้ติดหรือตัดการใช้ และการลดกลุ่มเสี่ยงหรือตัดกลุ่มเสี่ยง โดยใช้ยุทธศาสตร์ วาระแห่งภูมิภาค เป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศ
ยุทธการ คือ เปิดแผนยุทธการ 6 ยุทธการในทุกจังหวัดของประเทศพร้อมๆกัน ให้เป็นกระแสของการขับเคลื่อนใหญ่ ได้แก่ ยุทธการความร่วมมือ 2 ฝั่งโขง, ยุทธการปิดกั้นยาเสพติดพื้นที่ชายแดน, ยุทธการปราบปรามยาเสพติดและตัดวงจรการค้าทุกระดับ, ยุทธการจัดระเบียบสังคม, ยุทธการหมู่บ้าน/ชุมชนเอาชนะยาเสพติด และยุทธการบำบัดเยียวยาคืนลูกหลานสู่สังคม
ส่วนยุทธวิธี คือ กำหนดวิธีการปฏิบัติในแต่ละแผนยุทธการเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ โดยมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจ ให้การศึกษา และการใช้หลักกฎหมาย โดยจะเริ่มจากเบาไปหาหนักตามความเหมาะสม