xs
xsm
sm
md
lg

รำลึกโศกนาฏกรรม"ซานติก้าผับ"-4ปีเต็มไร้มาตรการคุมสถานบันเทิง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เช่นนี้ หากย้อนกลับไป 4 ปี คนไทยต้องเศร้าสลดกับโศกนาฏกรรมจากความประมาทขาดความรับผิดชอบของผู้ประกอบการเป็นเหตุให้สถานบันเทิงดังย่านเอกมัย “ซานติก้าผับ”ต้องกลายเป็น “นรกในกองเพลิง” สังเวยชีวิตผู้บริสุทธิ์ ถึง66 ศพ และยังมีคนต้องบาดเจ็บ - พิการ จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ในคืนข้ามปีอีกกว่า 100 ราย

หากยังจำได้ค่ำคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ช่วงรอยต่อของคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลังมีความสุขกับการ “เคาท์ดาวน์” เริ่มศักราชใหม่ได้ไม่กี่นาที นักท่องราตรีต่างดื่มกินกันเต็มที่ในคืนแห่งการเฉลิมฉลอง และยังคืนส่งท้ายก่อนปิดกิจการของสถานบันเทิงระดับตำนาน ซึ่งกลายเป็น “สุสานแห่งความหายนะ” ในชั่วพริบตา !

“เหยื่อผับนรกซานติก้า” เล่าเหตุการณ์ที่ไม่มีวันลืมในคืนนั้นว่า หายนะคืบคลานเข้ามาขณะทุกคนกำลังสนุกสนานและเมามาย บนเวที วงดนตรี “เบิร์น” กำลังบรรเลงเพลง “ it my life” ของ “ บอง โจวี่ ” จนวินาทีที่เพลงจบ กำลังจะขึ้นเพลงใหม่ พลุไฟเอฟเฟ็คที่วางเรียงกันไว้บนเวทีตรงพื้นที่หน้ากองชุด ถูกจุดขึ้น ! ลูกไฟสวยงามพุ่งทะยานสูงถึงหลังคาเพดานร้านก่อนติดไฟและลุกลามอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นไม่นานซานติก้าผับก็กลายเป็นทะเลเพลิง!

นักเที่ยวที่ยังพอมีสติต่างเบียดเสียดกันออกจากร้านเพื่อหนีตาย หลายคนต้องกลายเป็น “ผีในกองเพลิง”เพราะประตูทางออกคับแคบไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า 1 พันชีวิต เสียงกรีดร้อง ขอความช่วยเหลือระงมไปทั่ว แม้ตำรวจดับเพลิงและเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะระดมกำลังกันเข้ามา แต่กว่าจะควบคุมเพลิงไว้ได้ก็ปาเข้าไปเกือบรุ่งเช้าของวันขึ้นปีใหม่

หลังเพลิงสงบภาพของ “ศพถูกย่างสด” นอนตายกันเกลื่อนกลาดน่าสลดใจ ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก “โศกนาฏกรรมซานติก้าผับ” เป็นข่าวใหญ่บนหน้าสื่อไทย และสำนักข่าวต่างประเทศต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ หลายฝ่ายถามหาความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าของผับ หน่วยงานภาครัฐที่ไม่กวดขันดูแล หรือแม้แต่ตำรวจท้องที่ที่ปล่อยให้สถานบันเทิงแห่งนี้เปิดบริการโดยไร้ซึ่งมาตรฐานด้านความปลอดภัย แต่ไม่นานเรื่องก็เงียบหาย

ความล่าช้าในการสืบสวนคดีทำให้ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค”รมว.ยุติธรรม (ขณะนั้น) ต้องเข้ามา “ล้วงลูก” ชงคดีซานติก้าให้ คณะกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.) พิจารณาเพื่อรับเป็นคดีพิเศษ พร้อมส่ง พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่เกิดเหตุตรวจหาวัตถุพยาน ทำงานคู่ขนานกับกองพิสูจน์หลักฐาน(พฐ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่สุดท้ายไม่มีการโอนคดีให้ดีเอสไอรับผิดชอบแต่อย่างใด

การสอบดำเนินต่อไป พนักงานสอบสวนเผยหลักฐานชิ้นใหญ่ เป็นประจักษ์พยานที่อ้างว่าเห็น “สราวุธ อะริยะ” นักร้องนำวงเบิร์น เป็นผู้จุดพลุไฟจนทำให้เกิดเพลิงไหม้ ซึ้งขัดแย้งกับภาพในม้วนเทปวีดีโอที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์พบในที่เกิดเหตุ แนวทางการสอบสวนที่ดูสะเปะสะปะไปคนละทิศทางทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า อาจมีเบื้องหลังที่ทำให้คดีล่าช้าและอาจมีการโยนบาปให้ “แพะ”จนญาติผู้สูญเสีย และสื่อมวลชนต้องดาหน้ากันออกมาทวงถาม ติดตามการทำงานของตำรวจแบบใกล้ชิดในที่สุดการสอบสวนก็แล้วเสร็จ

19 ตุลาคม 2552 พนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีเพลิงไหม้ซานติก้าให้อัยการพิจารณาพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง "เสี่ยขาว" นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ หุ้นส่วนใหญ่ , นายสุริยา ฤทธิ์ระบือ กรรมการผู้จัดการ บ.ไวท์แอนด์บราเธอร์, ผู้ถือใบอนุญาต, ผู้จัดการร้าน, นายบุญชู เหล่าศรีนาท ผู้จัดทำเอฟเฟกต์, พ่วงท้ายด้วย นายสราวุธ อะริยะ นักร้องนำวงเบิร์น ฐานกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

ในชั้นอัยการใช้เวลาพิจารณาพยานหลักฐาน อีก 4 เดือน 16 กุมภาพันธ์ 2553 นายวรุจจ์พร นิมิตกุล อธิบดีอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ มีความเห็นสั่งฟ้อง นายวิสุข กับพวกรวม 7 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในความผิดฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และข้อหาอื่นอีก 2 ข้อหา

ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ ภายใต้ความช่วยเหลือของ “สภาทนายความ” ขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งศาลใช้เวลาพิจารณายาวนานกว่า 1 ปี สืบพยานโจทก์ -จำเลย ทั้งสิ้นกว่า 50 ปาก จนครบถ้วนกระบวนความ ก่อนมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา

คดีนี้ ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 กับโจทก์ร่วมญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ รวม 64 คน ฟ้องนายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ หรือเสี่ยขาว กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (2003) จำกัด ผู้บริหารซานติก้าผับ ,นายธวัชชัย ศรีทุมมา ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการ,นายพงษ์เทพ จินดา ผจก.ฝ่ายบันเทิง, นายวุฒิพงศ์ ไวลย์ลิกรี ผจก.ฝ่ายการตลาด, นายสราวุธ อะริยะ นักร้องวงเบิร์น ผู้จุดพลุไฟ , บริษัท โพกัสไลท์ ซาวน์ซิสเต็ม จำกัด ซึ่งรับจ้างติดตั้งการทำเอ็ฟเฟค ซานติก้าผับ และนายบุญชู เหล่าสีนาท กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โพกัสไลท์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานผู้ใดทำให้เกิดเพลิงไหม้เป็นเหตุให้ผู้อื่น ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและเป็นอันตรายกับชีวิตผู้อื่น , ผู้ใดกระทำการประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย , ผู้ใดกระทำการให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และผู้ใดกระทำการให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 225 , 291, 300, 390 และกระทำผิด พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 16/1, 16/3.27 และ 28/1 ฐานเป็นผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการปล่อยปละละเลยให้บุคคลซึ่งอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปในสถานบริการ และปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานบริการ มาตรา 291

บรรยายฟ้องสรุปว่า เมื่อคืนวันที่ 31 ธํนวาคม 2551 ต่อเนื่องวันที่ 1 มกราคม 2552 พวกจำเลยได้กระทำการโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จัดให้มีงานรื่นเริงให้บริการจำหน่ายอาหารสุรา เครื่องดื่ม การแสดงดนตรีรวมทั้งการแสดง แสง สี เสียง ในโอกาสฉลองเทศกาล วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ภายในตัวอาคารซานติก้าผับ ย่านเอกมัย ซึ่งภายในตัวอาคารไม่มีแบบแปลนแผนผังอาคารติดตั้งแสดงไว้ ไม่มีป้ายบอกทางหนีไฟ และไม่ได้ติดตั้งไฟฉุกเฉินให้มีจำนวนเพียงพอที่จะสามารถเปิดส่องสว่างแก่ ลูกค้าเพื่อการหลบหนีออกจากตัวอาคารได้สะดวกและปลอดภัย

อาคารมีพื้นที่ให้บริการลูกค้าที่สามารถจุคนได้ไม่เกิน จำนวน 500 คน แต่ขณะเกิดเหตุมีลูกค้าเข้าไปใช้บริการเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 คน โดยจำเลยที่ 5 ได้จุดพลุไฟที่บริเวณหน้าเวที ซึ่งมีความสูงประมาณ 5 เมตร จนเกิดลูกไฟขึ้นไปชนเพดานเวที ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นที่บริเวณเพดานเวทีและภายในตัวอาคารเป็นเหตุให้ ลูกค้าผู้เข้าไปใช้บริการ ในอาคารถึงแก่ความตาย 67 คน บาดเจ็บสาหัส 32 คน บาดเจ็บอีก 71 คน จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยจำเลย 1 ให้การปฏิเสธอ้างว่า ขณะเกิดเหตุไม่ได้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทไวท์ แอนด์บราเธอร์ส์(2003) จำกัด ซึ่งบริหารร้านซานติก้าผับ ส่วนจำเลยที่ 6 และ 7 ต่อสู้คดีว่าเพลิงที่ลุกไหม้ไม่ได้เกิดจากเอฟเฟ็ก

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานนำสืบทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2546 บริษัทไวท์ แอนด์บราเธอร์ส์ ฯได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด โดยมีนายวิสุข จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ ต่อมาวันที่ 17ธ.ค. 47 บริษัท ไวท์ฯ ได้เปลี่ยนแปลงกรรมการผู้จัดการโดยให้นายสุริยา หรือตั้ม ฤทธิ์ระบือ ซึ่งมิได้ถือหุ้นบริษัทแม้แต่เพียงหุ้นเดียวเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการแทน และมีจำเลยที่ 2-4 เป็นพนักงานบริษัท ต่อมาวันที่ 25 ธ.ค. 51 บริษัทไวท์ฯ ได้จัดให้มีการแถลงข่าวปิดกิจการร้านซานติก้าผับ พร้อมกับจัดงานฉลองปีใหม่โดยมีจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันแถลงข่าวชักชวนให้ลูกค้ามาใช้บริการในคืนวันที่ 31 ธ.ค. 51 โดยนายสุริยา ไม่ได้ร่วมแถลงข่าวแต่อย่างใดย่อมเป็นการผิดวิสัย มีพิรุธ อีกทั้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานภายในซานติก้าผับก็ไม่เคยรู้จักนายสุริยา เลย แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 เชิดนายสุริยาไว้โดยตนเองบงการอยู่เบื้องหลัง

นอกจากนี้ ฝ่ายโจทก์มีนายอนุวัต ปิลาผล ผู้ตรวจพิสูจน์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้นำเทปบันทึกภาพจากกล้องมาลงแผ่นดีวีดีแสดงเหตุการณ์เพลิงไหม้ อย่างชัดเจน โดยมีจำเลยที่ 5 ถือไมโครโฟนร้องเพลง พร้อมกับมีการจุดเอฟเฟ็กไฟฟ้าลักษณะเป็นพลุไฟเป็นสะเก็ดดาว บางลูกกระจายขึ้นไป บางลูกตกลงบนพื้นเวทีจากทั้งหมด 7 ลูก และมีพลุลูกที่ 4 เป็นลูกไฟแตกต่างจากลูกอื่นจนเกิดเพลิงลุกไหม้ โดยมีคนพูดว่า “ใครติดกลับหัววะ” โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ใช้ไฟแช็กจุดพลุแต่อย่างใด ส่วนจุดที่เป็นต้นเหตุเกิดจากพลุเอฟเฟคไฟลุกไหม้บริเวณเพดานด้านบนขวาของ เวทีก่อนลุกลามอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเพดานเป็นวัสดุที่ติดไฟง่าย

ส่วนที่จำเลยที่ 6 และ 7 ซึ่งเป็นผู้จัดทำพลุไฟเอฟเฟคต่อสู้ สาเหตุเกิดเพลิงไหม้ไม่ได้เกิดจากเอฟเฟ็ก เพราะเป็นพลุมีลักษณะสวยงาม มีแสงสว่างแวบเดียว ส่วนสาเหตุเพลิงไหม้อาจจะเกิดจากการจุดไฟเย็นจากผู้ที่เข้ามาใช้บริการก็ได้ นั้น เป็นข้ออ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

อีกทั้งร้านซานติก้าผับซึ่งมีลักษณะอาคารสาธารณะ แต่ขาดมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน ไม่มีแผนผังทางหนีไฟ ไม่มีป้ายบอกทางหนีไฟ ไม่มีระบบสัญญาณเตือนไฟ ไม่มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ รวมทั้งประตูทางเข้าออกสามารถรองรับจำนวนคนเข้าออกอย่างปลอดภัยได้เพียง 408 คน และใช้วัสดุตกแต่งร้านที่ติดไฟง่าย เกิดแก๊สพิษ ดังนั้นจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 6 และ ซึ่งเป็นผู้จัดทำพลุไฟต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแต่กลับละเลยจนเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นดังกล่าว

ส่วนความผิดฐานฐานเป็นผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการปล่อยปละละเลยให้บุคคลซึ่ง อายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปในสถานบริการ และปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานบริการ โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนกระทำผิดอย่างไรคดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง

เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1,6 และ 7 จึง เป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 อันเป็นบทหนักสุด ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 7 คนละ 3 ปี และปรับจำเลยที่ 6 จำนวน 20,000 บาท แม้จำเลยที่ 1 จะให้เงินช่วยเหลือทายาทผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บแล้วเป็นเงิน 3,394,800 บาท

“แต่การที่จำเลยที่ 1 ใน ฐานะผู้บริหารสถานบริการซึ่งเป็นอาคารสาธารณะที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของ ผู้ใช้อาคารเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานบริการจะต้องมีระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัย เพื่อให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย แต่จำเลยที่ 1 กลับ ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ประกอบการรายอื่น อันเป็นการปกป้องสังคมและประชาชนผู้ใช้บริการตามสถานบริการ จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 7”

ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2-5 และให้จำเลยที่ 6-7 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 4-6 เป็นเงินรายละ 1,540,000 บาท พร้อมทั้งให้โจทก์ร่วมที่ 7-8 เป็นเงินรายละ 2,040,000 บาท รวม 8,700,000 บาท

หลังฟังผลคำพิพากษา “เสี่ยขาว” กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ยังไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา และจะยื่นอุทธรณ์แน่นอนตามความเป็นจริงที่ปรากฏ ก่อนยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 5 แสนบาท ประกันตัวออกไประหว่างอุทธรณ์คดี

ขณะที่ ญาติผู้เสียชีวิตที่มาร่วมฟังคำพิพากษากว่า 100 คน จนแน่นห้องพิจารณา ส่วนใหญ่พอใจกับผลคำพิพากษา แต่บางคนก็ยังเห็นว่าศาลลงโทษพวกจำเลยน้อยไป คงต้องยื่นอุทธรณ์ให้ศาลลงโทษจำคุกมากกว่าเดิม

น.ส.รัตนา แซ่ลิ้ม เหยื่อที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นแผลรอยถูกไฟไหม้ตามร่างกายและใบหน้า 30 เปอร์เซ็นต์ จนศีรษะโล้น มือขวากุด มือซ้ายพิการผิดรูป มีแผลไฟไหม้ทั้งตัว เห็นว่า พอใจกับคำพิพากษาระดับหนึ่ง โดยตนจะเอาผลคำพิพากษานี้ไปยันกับคดีแพ่งที่ฟ้องเรียกค่าสินไหมจำนวน 8 ล้านบาทที่ศาลจังหวัดพระโขนง ซึ่งปกติตนเป็นสาวเชียร์เบียร์ยี่ห้อหนึ่ง วันเกิดเหตุอยู่ใกล้เวที จนถึงไฟไหม้ และรักษาตัวที่รพ.นพรัตน์ฯผ่าตัดมา 10 ครั้ง แผลลึกถึงผิวหนังระดับสาม ต้องรักษาตลอดชีวิต โดยที่ผ่านมานายวิสุข หรือเสี่ยขาวให้เงินมา 15,000 บาทเท่านั้น แล้วไม่เคยจ่ายอีก จนอีกสองวันก่อนพิพากษาติดต่อมาจะให้เงินอีก 100,000 บาท เพื่อยอมความกันไป แต่ได้ปฏิเสธ และขอให้นายวิสุขแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้

ด้าน นายเกรียงศักดิ์ วรมงคลชัย รองโฆษกสภาทนายความ กล่าวว่า ในส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งเหยื่อผู้เสียหายโดยสภาทนายได้ยื่นฟ้องนายวิสุขกับพวก ที่ศาลจังหวัดพระโขนง 48 สำนวน รวม 571 ล้านบาท และที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ 8 สำนวนรวม 151 ล้านบาท คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา เชื่อผลคำพิพากษาของศาลที่ลงโทษจำเลยในคดีอาญาจะเป็นแนวทางให้ศาลแพ่งพิจารณาพิจารณาสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

แม้ในทางอาญาจะสามารถพิสูจน์ความผิดจำเลยได้ แต่ในทางแพ่งเหยื่อผู้เสียหายคงต้องก้มหน้าสู้กันต่อไป และท้ายที่สุดไม่ว่าศาลจะสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายมากเท่าไร ก็คงเทียบไม่ได้กับความสูญเสียทั้งทางร่างกายและจิตใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น “โศกนาฏกรรมซานติก้าผับ” กลับไม่ได้สอนอะไร ถึงวันนี้เหตุการณ์ผ่านไป 4 ปีเต็ม ยังไม่มีหน่วยงานใด หรือแม้แต่ผู้ประกอบการสถานบันเทิงแห่งไหน ใส่ใจกับมาตรฐานความปลอดภัยตามกฎหมาย เปิดบริการรับเงินเข้ากระเป๋ากันแบบมักง่าย ส่วนคนออกใบอนุญาตก็ปากว่าตาขยิบกันไป ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
เสี่ยขาว นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์
สภาพศพที่ถูกไฟไหม้ในคืนเกิดเหตุ
กำลังโหลดความคิดเห็น