xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสั่งจำคุก 15 ปี “ดา ตอร์ปิโด” โอหัง! จาบจ้วงเบื้องสูง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ศาลพิพากษาคดี น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด จาบจ้วงเบื้องสูง สั่งจำคุก 15 ปี
ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 15 ปี “ดา ตอร์ปิโด” ปราศรัยหมิ่นเบื้องสูงบนเวที นปช. เจ้าตัวยันไม่อุทธรณ์ ไม่ศรัทธากระบวนการยุติธรรมและจะไม่ขออภัยโทษ



วันนี้ (15 ธ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3959/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ ฟ้อง น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดา ตอร์ปิโด แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 3-15 ปี

คดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.51 เวลากลางคืน จำเลยขึ้นปราศรัยบนเวทีเสียงประชาชน ณ ท้องสนามหลวง ด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนมาก ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ล่วงเกิน เปรียบเทียบและเปรียบเปรย หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ องค์ปัจจุบัน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อจะล้มล้างรัฐบาล โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม.

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ส.ค.52 ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ซึ่งกระทำผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม จำคุก 3 กระทงๆ ละ 6 ปีรวมจำคุก 18 ปี ซึ่งระหว่างพิจารณาคดีจำเลย ไม่ได้รับการประกันตัว แต่จำเลยยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า บทบัญญัติตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ที่ศาลชั้นต้นสั่งพิจารณาคดีลับขัดหรือแย้งสิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 29 และ 40 หรือไม่ ซึ่งจำเลยเคยยื่นคำร้องให้ศาลชั้นต้นส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง

โดยศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ก.พ.54 ว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจดูแล้ว พบว่าไม่เคยมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าวมาก่อน จึงชอบที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และที่ศาลชั้นต้นไม่รอการพิพากษาคดีไว้ก่อนเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์จึงให้ยกคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นจำคุก 18 ปี และให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตาม ป.วิ อาญา มาตรา 177 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หรือไม่ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่แล้วแต่กรณี

ต่อมาวันที่ 17 ต.ค.54 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตาม ป.วิ อาญา มาตรา 177 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 29 และ 40 (2) จากนั้นศาลอาญา จึงได้นัดพิพากษาคดีใหม่ในวันนี้

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้ว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม 3 นาย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค.51 เวลา 21.00 น. และ 24.00 น. จำเลยขึ้นเวทีปราศรัยที่สนามหลวง โดยพยานทั้งสามเป็นสายสืบฟังการปราศรัย และพบว่าจำเลยกล่าวข้อความดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จึงบันทึกเสียงลงในเครื่องบันทึกเสียงเอ็มพี 3 และบันทึกลงในแผ่นซีดี แล้วนำมาถอดเทป และจำเลยยังขึ้นปราศรัยกล่าวดูหมิ่นอีกในวันที่ 7 และ 13 มิ.ย.51 ซึ่งได้บันทึกเสียงไว้แล้วแจ้งข้อหาดำเนินคดีจำเลย โดยพยานโจทก์เบิกความด้วยว่า แผ่นซีดีบันทึกเสียงที่เป็นหลักฐาน พบว่าเป็นเสียงคนคนเดียวกัน จึงฟังได้ว่าตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยได้ขึ้นเวทีปราศรัย

ขณะที่ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวบนเวที พบว่า แม้จะไม่ระบุตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงอย่างชัดแจ้ง แต่ถ้อยคำที่กล่าวถึง เช่น สัญลักษณ์สีเหลือง สีฟ้า ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทำให้เห็นว่าจำเลยกระทำการจาบจ้วงล่วงเกิน โดยทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์ทรงสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสื่อมเสียพระเกียรติยศ รวมทั้งการกล่าวถึงการรัฐประหาร โดยกล่าวถ้อยคำถึงมือที่มองไม่เห็นในสี่เสาเทเศวร์ ซึ่งประชาชนรับรู้อยู่แล้วว่าสี่เสาเทเวศร์คือสถานที่ที่เป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยการแต่งตั้งองคมนตรีนั้น ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้ง ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนับสนุน พล.อ.เปรม ยึดอำนาจจากประชาชน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชั้นพิจารณาจำเลยจะเบิกความว่า จดจำถ้อยคำที่กล่าวปราศรัยไม่ได้ว่ามีประเด็นใดบ้าง และจดจำวัน-เวลาไม่ได้ แต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่าไม่ได้กล่าวถ้อยคำที่โจทก์ยื่นฟ้อง ซึ่งแม้ว่าคำพูดของจำเลยไม่บังเกิดผล เพราะไม่มีใครเชื่อ แต่จำเลยไม่อาจพ้นผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

พิพากษาจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมรวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี

ภายหลังฟังคำพิพากษา น.ส.ดารณีกล่าวว่า ตนจะปล่อยให้คดีจบเด็ดขาด และจะไม่อุทธรณ์ เพราะขณะนี้ไม่ศรัทธากระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังไม่คิดเรื่องที่จะขออภัยโทษด้วย

ด้าน นายประเวศ ประภานุกุล ทนายความจำเลย กล่าวว่า เท่าที่ได้พูดคุยเรื่องคดีลูกความประสงค์ที่จะไม่อุทธรณ์คดีต่อ ยอมถูกจำคุก ซึ่งลูกความถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงมา 3 ปีเศษแล้ว ส่วนจะยื่นอภัยโทษหรือไม่ ต้องหารือกันอีกครั้ง ซึ่งแล้วแต่ความประสงค์ของลูกความ

กำลังโหลดความคิดเห็น