“ยุติธรรม” ถกคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฏีกาเสื้อแดงขออภัยโทษ “นช.แม้ว” สั่ง “กรมราชทัณฑ์” หาข้อมูลย้อนหลังเพิ่มสำหรับผู้ยื่นฎีกาในอดีต เพื่อนำประกอบพิจารณาในที่ประชุม ขณะที่ “ธงทอง” หวั่นการลงมติจากคณะทำงานอาจทำให้สังคมเคลือบเแคลง พร้อมทำความเห็นเสนอ ครม.ประกอบความเห็นและหลักฐานเทียบเคียง
วันนี้ (22 ก.ย.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม นายธงทอง จันทรางศุ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมคณะทำงานกลั่นกรองและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคนเสื้อแดงได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 2 ต่อจากครั้งก่อนที่ได้กำหนดประเด็นเรื่องตรวจสอบบุคคลที่ยื่นถวายฎีกา รวมทั้งกระบวนการยื่นแบบฟอร์มและวิธีการยื่นมีระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง รวมทั้งประเด็นจะต้องบังคับโทษก่อนหรือไม่ ทั้งโดยข้อกฎหมาย และธรรมเนียมปฎิบัติ
นายธงทองกล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้สอบถามข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ แต่เห็นว่ายังเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน จึงขอให้กรมราชทัณฑ์ไปประมวลสถิติข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของที่ประชุม โดยให้ช่วยรวบรวมข้อมูลที่อยู่ในสารบบย้อนหลังไปเท่าที่จะทำได้ เช่น ผู้ยื่นฎีกาในอดีตที่ผ่านมามีใครบ้าง จัดแบ่งได้กี่กลุ่ม นอกจากตัวนักโทษเองแล้วมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการอภัยโทษอีกบ้างหรือไม่ เช่น ครอบครัว คนใกล้ชิด แม้กรมราชทัณฑ์ค้นหาข้อมูลมาได้จำนวนหนึ่งแล้ว แต่เพื่อให้รอบด้านจึงขอให้กรมราชทัณฑ์ไปสืบค้นเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ประเด็นกระบวนการยื่นฎีกาก็ขอให้กรมราชทัณฑ์ไปช่วยสืบค้นเช่นกันว่าในอดีตที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์มีแนวปฏิบัติอย่างไร นอกจากการยื่นผ่านกลไกของกรมราชทัณฑ์โดยตรงแล้ว เคยมีการยื่นผ่านหน่วยงานราชการใดบ้าง มีขั้นตอนปฎิบัติอย่างไร
“การประชุมอาจจะยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก แต่เห็นว่าต้องตอบคำถามของคณะทำงานด้วยกันเองให้ชัดเจนเสียก่อนว่ากระบวนการทั้งหมดนี้มีข้อมูล เอกสารที่เทียบเคียงได้อย่างไรบ้าง” นายธงทองกล่าว
นายธงทองกล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนการทำงานนั้นเห็นว่าการลงมติเพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้สังคมได้รับความสบายใจ จึงได้วางแนวทางในตอนท้ายของการทำงาน ว่าคณะทำงานจะต้องทำความเห็นเสนอรัฐมนตรี โดยความเห็นนั้นต้องประกอบด้วยเหตุผล หลักฐานอ้างอิง และกรณีศึกษาที่เทียบเคียงได้ มีความละเอียดคล้ายงานทางวิชาการ ระบุเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ประกอบเหตุผลอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ การพิจารณากลั่นกรองและตรวจสอบข้อเท็จจริงการถวายฎีกาครั้งนี้ เป็นการพิจารณาเพื่อขออภัยโทษเป็นการเฉพาะรายบุคคล ไม่เกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องขังทั่วไป ในวันมหามงคลต่างๆ ที่กระทรวงยุติธรรมดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งนี้จะประชุมครั้งต่อไปวันที่ 5 ต.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรมราชทัณฑ์ ครม.ได้มีการโยกย้ายคนในระบอบทักษิณ คือ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย จากผู้ตรวจราชการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มานั่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แทนนายชายชาติ สุทธิกลม ที่ไปนั่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม
นอกจากนั้น การสั่งให้กรมราชทัณฑ์ไปสืบค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่แปลก เนื่องจากก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็พูดชัดว่า การโยกย้าย พ.ต.อ.พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ไม่เกี่ยวกับเรื่องฎีกาอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเรื่องได้ผ่านมาถึงกระทรวงแล้ว ขณะที่ นายชายชาติ สุทธิกลม ก็ยืนยันว่าเรื่องการถวายฎีกาในส่วนความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ได้เสร็จสิ้นไปนานแล้ว ดังนั้น การสั่งให้กรมราชทัณฑ์ที่มี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย เป็นอธิบดีคนใหม่ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าย้าย พ.ต.อ.สุชาติ มาเพื่อสานต่อภารกิจฎีกาอภัยโทษให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้