xs
xsm
sm
md
lg

“อดุลย์” รับถูกทาบทามช่วยรักษาการ เลขา ป.ป.ส.เน้นปราบยาจริง!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผบ.ตร.
“อดุลย์ แสงสิงแก้ว” ยอมรับถูกทาบทามช่วยราชการรักษาการเลขา ป.ป.ส.จริง แต่ยังคงไว้ในตำแหน่ง รองผบ.ตร.เช่นเดิม เผย จะเริ่มงานปราบยาเสพติดทันที 1 ต.ค.ย้ำ ยุทธศาสตร์แรกทุกมาตรการทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองต้องทำพร้อมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล

วันนี้ (13 ก.ย.) เมื่อเวลา 11.30 น.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีที่ถูกทาบทามให้โยกไปช่วยรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แทน นางสุรีย์ประภา ตรัยเวช เลขาธิการ ป.ป.ส.ที่ถูกโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่า พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ขอตัวทาบทามตนไปรักษาการเลขาธิการ ป.ป.ส.1 ปี ตั้งแต่เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นการไปช่วยราชการแทนเท่านั้น ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งเป็นรอง.ผบ.ตร.อยู่โดยให้ไปดูแลเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็นงานที่ต้องบูรณาการหลายหน่วยงาน โดยประการแรกเรื่องเกี่ยวกับการสกัดตามแนวชายแดน ซึ่งต้องใช้กำลังทหารและฝ่ายตำรวจที่เป็นตัวหลักในการสกัดกั้นตามแนวชายแดน ประการที่สองใช้บทบาทของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องนำผู้เสพที่เป็นผู้ป่วยเข้ามาบำบัด และมาตรการด้านการปราบปรามจะต้องเป็นบทบาทของตำรวจ รวมทั้งมาตรการที่เป็นเรื่องของกระทรวงยุติธรรม ทั้งเรือนจำและยึดทรัพย์ คือจะใช้หลายๆ หน่วยงานในการที่จะเข้าไปแก้ปัญหา ซึ่งเลขา ป.ป.ส.จึงมีบทบาทที่จะเข้าไปบูรณาการตามแผนและยุทธศาสตร์ที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาล

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ก็ต้องเอานโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อนในเรื่องของขั้นตอนปฏิบัติที่ตามเป้าหมายและกำหนดรูปแบบว่าจะทำอะไรก่อนหลัง อย่างไรก็ตาม ตนเพิ่งได้รับทาบทามมา จึงต้องไปจัดระบบในการที่จะให้ทุกหน่วยงานที่เป็นเสาหลักของชาติมีเอกภาพและมีโอกาสทุกฝ่าย ในทุกมิติของการทำงาน

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลัวแรงต้านหรือไม่เพราะเป็นคนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ใช่คนในของป.ป.ส. พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ป.ป.ส. มีตำรวจไปทำหน้าที่เป็นเลขาธิการป.ป.ส.หลายท่าน เช่น พล.ต.อ.เภา สารสิน, สุวิทย์ แก้วมณี, พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์, พล.ต.อ.กฤษณะ ผลอนันต์ และให้ตนไปช่วยก็เหมือนกัน

ต่อข้อถามว่าไปแล้วกลัวไม่ได้กลับมาหรือไม่ พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ตนไปช่วยราชการ โดยไม่มีพันธะสัญญาใดๆ ไปทำหน้าที่ เพื่อวางระบบให้ดำเนินการไปพร้อมกันได้ทุกๆ ด้าน และก็ประสานการปฏิบัติกับทางตำรวจอย่างใกล้ชิด โดยจะเริ่มทำงานวันที่ 1 ต.ค.ในตำแหน่งนั้นไม่จำเป็นต้องนำเข้าไปพิจารณาที่ประชุมครม. เป็นการขอตัวและมอบหมายให้รักษาการ โดยระเบียบ ซึ่งมาตรการที่ทำมาตลอดอย่างแผน 315 ที่ทำมาตลอดนั้น ต้องรอให้ไปทำงานดูก่อน

เมื่อถามว่า หนักใจหรือไม่ปัญหายาเสพติดขนาดนี้ ซึ่งชุดนี้จะเข้าไปดำเนินการกับตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการค้ายาเสพติดด้วยหรือเปล่า พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ในส่วนของตำรวจคงจะเป็นตร. แต่ตนขอไปดูภาพรวมของแผนที่ต้องใช้กลไกลทุกส่วนในการแก้ปัญหา เรื่องของยาเสพติดเป็นเรื่องที่ใหญ่ โดยในการทำงานต้องบูรณาการหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน

เมื่อถามขณะนี้ได้มีการวางแผนในการทำงานหรือยัง พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ตอนนี้ได้มีการประชุมเบื้องต้นแล้ว อย่างเมื่อได้เรียก พล.ต.ท.อติเทพ ปัญจมานนท์ ผบช.ปส.เพื่อรับทราบเกี่ยวกับสถานการณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องศึกษาข้อมูลก่อนทำงานก่อน โดยในคำสั่งกำหนดให้เป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.) ซึ่งเป็นศูนย์ที่พึ่งเปิดใหม่

“ที่จริงผมอยู่หลายหน่วยงานมาก เป็นทั้ง ตชด. รองผบช.น.จราจร จนถึงรองผอ.ฝ่ายปราบปราม และหัวหน้าศูนย์ปราบปรามยาเสพติด เมื่อปี 47 และไปเป็นผบช.ภาค 9 มา 3 ปีครึ่ง มีหลายประสบการณ์ที่จะเอามาใช้ งานพวกนี้ต้องใช้แผนและบทบาทในการบูรณาการหลายหน่วยงาน ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ย้ำว่า ยุทธศาสตร์แรกทุกมาตรการต้องทำพร้อมกัน” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น