ป.ป.ช. ส่งทนายฟ้องศาลฎีกานักการเมืองเอาผิด "อภิรักษ์-โภคิน-บริษัท สไตรเออร์ ฯ" กับพวกรวม 6 คน ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ฮั้วประมูลจัดซื้อรถ-เรือ ดับเพลิง กทม. กว่า 6 พันล้านบาท ศาลนัดฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่ 24 ส.ค. นี้ เวลา 10.00 น.
วันนี้ (25 ก.ค.) เวลา 10.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ทนายความ ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย , นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย , นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ , พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร , บริษัท STEYR - DAIMLER - PUCH Spezialfahrzeug AG&CO KG และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1- 6 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ( ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 จากกรณีการจัดซื้อรถ และเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ตามโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6,687,489,000 บาท
โดยศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีหมายเลขดำที่ อม.5/2554 และนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีหรือไม่ในวันที่ 24 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น.
ภายหลังนายสิทธิโชค ศรีเจริญ ทนายความ กล่าวว่า หลังจากนี้ศาลฎีกาจะเรียกประชุมใหญ่เพื่อเลือกผู้พิพากษา 9 คน เป็นองค์คณะรับผิดชอบสำนวนคดีและมีคำสั่งต่อไป สำหรับการยื่นฟ้องมีพยานหลักฐานและเอกสารจำนวนมากประมาณ 5,000 ชุดที่ ป.ป.ช. รวบรวมจากการสอบสวนเพื่อเสนอต่อศาล ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดจำเลยทั้งหก และที่ ป.ป.ช. ต้องใช้สิทธิ์ยื่นฟ้องคดีเองเนื่องจากเมื่อเสนอสำนวนให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว แต่อัยการมีความเห็นต่างว่าสมควรฟ้องและไม่ฟ้องบางคนเท่านั้น ขณะที่ทางเนื้อหาคดีถือว่าทั้ง ป.ป.ช. และอัยการไม่ได้มีความเห็นต่างกัน ดังนั้น เมื่อ ป.ป.ช.มีพยานหลักฐาน และยืนยันลักษณะความผิดของจำเลยทั้งหกคนจึงตัดสินยื่นฟ้องในวันนี้ ส่วนผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไรก็เป็นดุลยพินิจของศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดจำเลยทั้งหก โดยเห็นว่าการกระทำของนายอภิรักษ์ ภายหลังที่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่า กทม. เมื่อปี พ.ศ.2547 ได้ทราบข้อมูลการทุจริตเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาตลอด เพราะมีการร้องเรียนมายังที่ ป.ป.ช. และหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งมีการพูดกันในหมู่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และพบว่า A.O.U. ไม่ได้ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง และพบว่าการถอนเรื่องคืนมาจากสำนักงานอัยการสูงสุดมีเหตุผลที่ไม่น่ารับฟัง แต่กลับไม่ดำเนินการตรวจสอบโดยเร็วเพื่อทราบข้อเท็จจริงแล้ว ดำเนินการยกเลิกตามสัญญา แต่นายอภิรักษ์เพียงแต่ตั้งกรรมการพิจารณาละเอียดการจัดซื้อรถยนต์ดับเพลิง และอุปกรณ์ ทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบรายละเอียดการจัดซื้อเท่านั้น
อีกทั้งการที่ได้ดำเนินการขอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาทบทวนการจัดซื้อ โครงการนี้ตลอดมานายอภิรักษ์ ย่อมทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการซื้อรถและเรือดับเพลิงแล้วว่ามีความบกพร่อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับอ้างว่าอำนาจในการบริหารเงินทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ผู้ว่า กทม. แต่เป็นอำนาจของนายโภคิน และอ้างว่าได้รับคำชี้แจงยืนยันจากกระทรวงมหาดไทยว่าการจัดซื้อครั้งนี้เป็นไปถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทุกประการ และแม้จะอ้างว่าได้รับการเร่งรัดให้ กทม. เปิดบริษัทแอลซี แก่บริษัท STEYRฯ อยู่เสมอก็ตาม ก็ไม่อาจฟังได้
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงทราบได้ว่าอำนาจในการบริหารเงินทั้งหมดอยู่ที่ผู้ว่า กทม. ไม่ได้เป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทยตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เพราะว่างบอุดหนุนที่กระทรวงมหาดไทยจัดให้ กทม. เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดให้ กทม.เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้จ่ายเงินอุดหนุน พ.ศ. 2533 ข้อ 6 ซึ่งถ้าหากได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็จะทราบว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดซื้อตามโครงการนี้ว่ามีความไม่ชอบอย่างไร แต่ปรากฏว่าวันที่ 10 ม.ค. 2548 นายอภิรักษ์ กลับดำเนินการเปิดแอลซี และแก้ไขแอลซีให้กับบริษัท STEYR เป็นเหตุให้ข้อตกลงซื้อขายที่นายสมัคร ลงนามกับ บริษัท STEYR เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2547 มีผลผูกพันและบังคับใช้กับคู่สัญญาต่อไป ทั้งที่นายอภิรักษ์ทราบอยู่แล้วว่าการจัดซื้อตามโครงการนี้ได้มีการจัดซื้อ ตามเอ็มโอยูที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ เมื่อได้รับแจ้งจากธนาคารกรุงไทย เพื่อให้แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขของแอลซี นายอภิรักษ์ก็ดำเนินการแก้ไขโดยไม่ชักช้า และไม่ได้แก้ไขเพียงเงื่อนไขเพื่อส่งมอบในประเทศไทยเท่านั้นแต่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในเนื้อหาอื่นอีกหลายรายการ อันเป็นการทำให้ บริษัท STEYR ได้รับประโยชน์จากการเปิดแอลซีที่เกิดจากการทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักสุจริตตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 และการแก้ไขดังกล่าวทำให้นายโภคิน กับพวกที่ได้กระทำไปแล้วในตอนแรก ยังไม่ได้ปรากฏเป็นมูลค่าความเสียหายที่เป็นตัวเงิน แต่โดยผลของการเปิดแอลซีดังกล่าวทำให้ กทม. ต้องจ่ายงบประมาณไปแล้วจำนวน 2,354 ล้านบาท โดยไม่ได้สินค้าตามวัตถุประสงค์ของการจัดหาพัสดุแต่อย่างใด การกระทำของอภิรักษ์ จึงมีมูลตามความผิดมาตรา 157
ส่วนความผิดของนายโภคิน นายประชา นายวัฒนา พล.ต.ต.อธิลักษณ์ และบริษัท STEYR มีพฤติการณ์มิชอบเกี่ยวกับการจัดซื้อโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่และอุบายหลอกลวง ตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มโครงการจนไปถึงการอนุมัติโครงการ โดยเฉพาะการทำข้อตกลงทำความเข้าใจ A.O.U. ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรียที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายคือ 1.ร่าง A.O.U. ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องด้านกฎหมายจากหน่วยงานที่รับผิดชอบประกอบ ด้วยกระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด และกระทรวงการต่างประเทศ 2.ขัดต่อมติ ครม.เมื่อวันที่ 1 ก.ย.35 เรื่องหลักเกณฑ์การส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาเนื่อง จากไม่ได้ส่งร่าง A.O.U. ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา
3.ขัดต่อมติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ก.ค.35 , 1 ต.ค.45 , 7 ม.ค.46 และวันที่ 30 ธ.ค.46 เรื่องการติดต่อทำความตกลงกับต่างประเทศ การทำอนุสัญญาและสนธิสัญญาต่าง ๆ ซึ่งมติ ครม.ดังกล่าวกำหนดไว้ว่า หลักปฏิบัติในการติดต่อทำอนุสัญญา และสนธิสัญญาต้องมอบให้กระทรวงต่างประเทศเป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการ และก่อนนำเรื่องเสนอ ครม. ให้กระทรวง ทบวง กรม ส่งเรื่องให้กระทรวงต่างประเทศพิจารณาเสนอความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม.ทุกครั้ง
4.ขัดมติ ครม. 22 มิ.ย.47 ที่กำหนดว่าส่วนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศให้นำเข้าเฉพาะที่จำเป็น และเป็นส่วนที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทยเท่านั้น และต้องดำเนินการเรื่องการค้าต่างตอบแทน แต่ปรากฏว่า A.O.U. ไม่ระบุเรื่องการค้าต่างตอบแทน และไม่ระบุเรื่องความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาลออสเตรีย คือ ยานพาหนะดับเพลิงและยานบรรเทาสาธารณภัย ปรากฏว่าเรือดับเพลิงและโครงประธานรถดับเพลิงชนิด 4×4 มิตซูบิชิ L200 เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย
5.ขัดต่อข้อบัญญัติ กทม. เรื่องการพัสดุ พ.ศ. 2538 โดยมีการกำหนดตัวผู้ขายและสินค้าไว้ล่วงหน้าโดยไม่มีการจัดประกวดราคา พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นการอาศัยข้อตกลงระหว่างรัฐกับรัฐ เพื่อกำหนดความผูกพันในเรื่องการขายสินค้า คุณลักษณะของสินค้า และเงื่อนไขอื่น ซึ่งผิดวิสัยการทำข้อตกลงระหว่างรัฐกับรัฐ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเชื่อว่าเกิดผลผูกพันรัฐบาลและเกิดสิทธิหน้าที่ต่างๆ โดยต้องทำข้อตกลงซื้อขายต่อไป และผูกพันให้รัฐบาลมีภาระหนี้ที่มากถึง 6,687 ล้านบาทเศษ
นอกจากนี้ A.O.U.ดังกล่าวเมื่อมีการลงนามแล้ว ได้มีการเสนอ ครม.เพื่อทราบ มิใช่เพื่ออนุมัติ ซึ่งพยานบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารในสำนักเลขา ครม.ที่รับผิดชอบดูแลการประชุม ครม.ว่า การทำความเข้าใจของไทยกับต่างประเทศมีกระบวนการและขั้นตอน มีหลักต้องปฏิบัติตามมติ ครม.และหากมีการยกเว้นมติดังกล่าว ต้องมีมติยกเว้นที่ชัดเจน
6.บริษัท STEYR ได้จ้างบริษัทในเครือบริษัทเอกชนใหญ่ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับนายวัฒนา เป็นผู้ดำเนินการตามข้อตกลงว่าด้วยการซื้อต่างตอบแทนกับกรมการค้าต่างประเทศ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมบริการเป็นเงินจำนวนร้อยละ 2.20 ของพันธกรณีการซื้อต่างตอบแทนเป็นเงิน 2,942,495.16 ยูโร นอกจากนี้ การทำการค้าต่างตอบแทนดังกล่าว ฝ่ายไทยไม่ได้ประโยชน์ตามที่จัดทำแต่อย่างใด การที่บริษัทเอกชนดังกล่าวได้ทำสัญญาการค้าต่างตอบแทน โดยใช้ไก่ต้มสุขไปขายต่างประเทศทั้งที่บริษัทดังกล่าวก็ได้ส่งไก่ออกไปยังต่างประเทศเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่นำเอารายการส่งออกไปแจ้งต่อกรมการค้าต่างประเทศว่าได้ส่งไก่ไปครบจำนวนตามที่ทำสัญญาการค้าต่างตอบแทนแล้ว นอกจากนี้ในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 24 ส.ค.47 มีมติเรื่องไก่ต้มสุขเป็นสินค้าอันดับแรก เพื่อพยายามนำรายการสินค้าไก่ต้มสุขมาทำรายการสินค้าต่างตอบแทนอันเป็นการ เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นเครือญาติกับนายวัฒนา ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุไม่ให้โอกาสผู้อื่นเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม จนเป็นเหตุให้บริษัท STEYR ได้เข้าร่วมในโครงการจัดซื้อรถดับเพลิง โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ และเป็นการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้ตามกฎหมายให้กับ บริษัท STEYR ดังนั้นการกระทำของนายโภคิน นายประชา นายวัฒนา นายสมัคร พล.ต.ต.อธิลักษณ์ มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐตาม พ.ศ. 2542 มาตรา 7 ,11 ,12 ,13
ส่วนบริษัท STEYR เนื่องจากไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน แต่ได้กระทำการอันเป็นการช่วยเหลือในการที่เจ้าพนักงานกระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงาน ของรัฐ ฯ มาตรา 7 ,11 ,12,13