xs
xsm
sm
md
lg

โอละพ่อ! ข่าวเงินหมื่นล้านถูกถอนหาย เป็นเรื่องเข้าใจผิด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.
ผบ.ตร.แจงกรณีเงินสดหมุนเวียนในสถาบันการเงินไทยหายไปกว่าหมื่นล้านเป็นการเข้าใจผิด โดยทาง ธปท.ยืนยันไม่เคยให้ข่าวเช่นนั้น ขณะที่การเลือกตั้ง ตร.เตรียมกำลังทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 1 แสนนาย ส่วนการร้องเรียน ผกก.บึงกาฬวางตัวไม่เป็นกลาง ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบ ด้านโฆษก ตร.ระบุป้ายหาเสียงถูกทำลาย 1,057 ป้าย ถูกดำเนินคดีแล้ว 4 คดี พร้อมสั่งจับตาการหาเสียงผ่านทางโซเชียลมีเดียกว่า 200 เว็บ พร้อมตรวจสอบข้อความ เบื้องต้นยังไม่พบการกระทำผิด


วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง (ศรส.ลต.ตร.) ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อรักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งมีประมาณ 90,200 หน่วยทั่วประเทศ เบื้องต้นจะใช้กำลังตำรวจอย่างน้อย 1 นายประจำหน่วยเลือกตั้ง คาดว่าจะต้องใช้กำลังตำรวจไม่ต่ำกว่า 1 แสนนาย จากทั้งหมด 2 แสน 1 หมื่นนาย ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ ซึ่งทาง กกต.จะสามารถสรุปผลเขตเลือกตั้งได้ชัดเจนภายในวัน 10 มิ.ย.

ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องเงินสดหมุนเวียนในระบบสถาบันการเงินไทยหายไปกว่าหมื่นล้านบาท พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า ได้รับการยืนยันจากนายสรสิทธิ์ สุนทร​เกศ ​ผู้ช่วย​ผู้ว่า​การ สายกำกับสถาบัน​การ​เงิน ธนาคาร​แห่งประ​เทศ (ธปท.) เป็นการเข้าใจผิดข่าวที่เห็นทางเว็บไซต์หรือสื่ออื่นๆ ยืนยันว่าไม่เคยให้ข่าวไปเช่นนั้น ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้งที่ บช.น.มี 4 คดี เช่น ยิงหัวคะแนนที่บึงกุ่ม, ยิงหัวคะแนนที่หนองจอก, ยิงบ้านหัวคะแนนพรรคประชาธิปัตย์ที่บางบอน, บช.ภ. 1 กรณียิงนายประชา ประสพดี, ปาระเบิดหัวคะแนน สมุทรปราการ, ยิงนายวิโรจน์เสียชีวิตที่ จ.อ่างทอง, บช.ภ.5 มีลักษณะการทะเลาะวิวาทกันระหว่างสองพรรคใหญ่, ยิงผู้ใหญ่บ้านที่แม่จันเสียชีวิต และยิงหัวคะแนนที่ จ.ลำปาง พื้นที่ทำลายป้ายหาเสียงมากที่สุด คือ บช.ภ.1 โดยพื้นที่ บช.น.จำนวน 104 ป้าย บช.ภ.1 จำนวน 301 บช.ภ.2 จำนวน 86 ป้าย บช.ภ.3 จำนวน 46 ป้าย บช.ภ.4 จำนวน 148 ป้าย บช.ภ.5 จำนวน 142 ป้าย บช.ภ.6 จำนวน 64 บช.ภ.7 จำนวน 39 ป้าย บช.ภ.8 จำนวน 65 ป้าย บช.ภ.9 จำนวน 57 ป้าย ศชต.จำนวน 11 ป้าย

พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวถึงกรณี ผกก.สภ.บึงกาฬ ถูกร้องเรียนว่าวางตัวไม่เป็นกลาง ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบไม่สามารถสรุปได้ ส่วนตำรวจใน จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ มีการร้องเรียนเข้ามาว่ามีการตั้งด่านตรวจค้นอย่างเข้มงวดทำให้เกิดความลำบากในการเดินทางไปฟังการปราศรัยต้องผู้สมัคร ส.ส.นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งด่านอย่างเข้มข้น เพื่อตรวจค้นอาวุธป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีเจตนาที่จะขัดขวางแต่อย่างใด

ส่วนเรื่องการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้น พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สถิติการทำลายป้ายประกาศหาเสียงเลือกตั้งทั้งหมด 1,057 ป้าย ได้ถูกดำเนินคดีแล้ว 4 คดี เกิดขึ้นที่ บช.ก.จำนวน 2 คดี บช.ภ.3 จำนวน 1 คดี และ บช.ภ.6 จำนวน 1 คดี ซึ่งมีการแจ้งความมาทั้งหมด 20 เลขคดี มักเป็นคดีที่มีการแจ้งความฟ้องฝ่ายตรงข้ามจากการพูดจาใส่ร้ายป้ายสี เพิ่มจำนวนเขตการเฝ้าระวังทั้งหมด 40 เขต 24 จังหวัด ต้องเฝ้าระวังพิเศษ คือ 3 เขตเดิม คือ จ.นครสวรรค์ เชียงราย นราธิวาส ขณะนี้มีผู้สมัคร ส.ส.รักษาความปลอดทั้งหมด 256 ราย จึงการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยแก่ผู้สมัครไปทั้งสิ้น 540 นาย

พล.ต.ต.ประวุฒิกล่าวต่อว่า ให้ทาง บช.ก.และสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สทส.ตร.) จากการตรวจสอบพบว่า มีการหาเสียงผ่านทางโซเชียลมีเดียกว่า 200 เว็บไซต์ บางส่วนเป็นทวิตเตอร์ บางส่วนเป็นเฟซบุ๊ก การตรวจสอบเบื้องต้น เป็นการบันทึกว่าผู้สมัครรายใดได้ใช้โซเชียลมีเดียบ้างเพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบต่อไป ขณะนี้ยังไม่พบการกระทำผิดในเรื่องของการกล่าวให้ร้ายซึ่งกันและกัน ตรวจสอบข้อความแล้วยังเป็นเพียงการหาเสียงตามปกติ

พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา (สบ 10) กล่าวว่า เรื่องของการหาเสียงทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย ผบ.ตร.สั่งการให้มีการตรวจสอบทุกวัน โดย บช.ก.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตองยอมรับว่าการตรวจสอบข้อความการหาเสียงทางเว็บไซต์นั้น ค่อนข้างยากแต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้พยายามแบ่งแยกว่า ข้อความใดเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือสนับสนุนพรรคการเมือง ซึ่งหากข้อความเหล่านี้เป็นข้อความที่เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ อย่างไรก็ตามประชาชนสามารถการกระทำที่ผิดกฎหมายให้แจ้งเบาะแสเข้ามาที่หมายเลข 1599 ซึ่งขณะนี้พบว่าเริ่มมีประชาชนให้เบาะแสกับการซื้อสิทธิขายเสียง ทางตำรวจจะนำข้อมูลดังกล่าวประสานไปยัง กกต. อีกทั้งยังสามารถแจ้งเบาะแสการซื้อสิทธิขายเสียงที่หมายเลข 1171 ของ กกต.ได้ด้วย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการ ซ้ำซ้อนกันในการทำงานและจะดำเนินการภายใน 7 วัน

เมื่อถามว่าที่ จ.สมุทรปราการ มีการซื้อสิทธิขายเสียงโดยให้เงินหัวละ 500 บาท มีการตรวจสอบอย่างไร พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า ถ้ามีข้อมูลผ่านมาทางหมายเลข 1599 และมีการตรวจสอบกับ กกต.ทุกกรณี หรือ กกต.มีข้อมูลที่จะให้ตำรวจตรวจสอบและสืบสวนขยายผลเพื่อทำงานร่วมกัน หากมีการแจ้งความทางเจ้าหน้าที่จะเร่งดำนเนินคดีแล้วแจ้งให้ทาง กกต.ทราบ อย่างไรก็ตาม กฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งระบุว่า ผู้ที่รับเงินและมาแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ กกต.ภายใน 7 วัน หลังจากวันเลือกตั้งก็จะไม่มีความผิด จึงขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ถ้าพบเบาะแสว่ามีการให้ทรัพย์สินหรือสัญญาว่าจะให้ก็ให้มาแจ้งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวเตือนถึงการทำลายป้ายหาเสียงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงสืบสวนขยายผลว่าเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ แม้เจ้าของป้ายหาเสียงจะไม่เอาความก็ตาม เป็นการกระทำด้วยคึกคะนอง ซึ่งหากการสืบสวนของตำรวจพบบว่ามีการจ้างวานให้ทำลายป้ายหาเสียงฝ่ายตรงข้ามก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย ถ้าหากมีการพาดพิงตามมาตรา 53 ตามกฎหมายเลือกตั้งโทษสูงสุดถึงขั้นยุบพรรคการเมือง เรื่องของการทำลายป้ายทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังมีการเฝ้าระวังอยู่ และขอร้องไปยังพรรคการเมืองให้เฝ้าระวังป้ายขอตัวเองด้วย หากมีเบาะแสที่จะสาวถึงตัวคนร้ายให้เปิดเผยกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีที่ จ.ชลบุรี ตรวจสอบแล้วว่าเป็นเพียงความคึกคะนองของเด็กวัยรุ่น และอีกแห่งหนึ่งเป็นการกระทำที่เกิดจากการเมาสุรา ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องการกระทำหรือกลั่นแกล้งจากฝ่ายตรงข้าม
กำลังโหลดความคิดเห็น