คำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ๑๐๗๒ /๒๕๕๓
คดีหมายเลขแดงที่ ๖๐๙ /๒๕๕๔
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลจังหวัดนางรอง
วันที่ ๒๙ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔
ความอาญา
ระหว่าง
พนักงานอัยการจังหวัดนางรอง โจทก์
นางปิยพร คำสะสม ที่ ๑
นางไพฑูลย์ มีพวงผล ที่ ๒
นายสมร ผลเกิด ที่ ๓
นายประยูร แก้วกาญจน์ ที่ ๔ จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๓ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสี่กับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันโฆษณาหรือประกาศให้บุคคลทั่วไปบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง เข้าทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณป่าหินเพลิง อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ และมีกำหนดโทษไม่ต่ำกว่าหกเดือน จนมีบุคคลจำนวนมากบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง และเข้าทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณป่าหินเพลิง เพราะเหตุที่ได้มีการโฆษณาหรือประกาศของจำเลยทั้งสี่กับพวก เป็นเนื้อที่ ๘ ไร่ โดยตัดฟันต้นไม้และเผาทำลาย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อรัฐเป็นเงิน ๕๔๕,๙๕๔.๔๐ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและเป็นการทำลายป่า ทั้งนี้ จำเลยทั้งสี่กับพวกไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้รับสัปทาน หรือได้รับยกเว้นใดๆตามกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลหนองแวง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๘๕ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๔, ๖, ๙,๑๔, ๓๑
จำเลยทั้งสี่ให้การปฎิเสธ
พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสี่แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๓ เวลาประมาณ ๖ นาฬิกา จำเลยทั้งสี่กับประชาชนรวมประมาณ ๕๐๐ คน ได้เดินทางไปที่บริเวณสามแยกถนนสุริยะวิถี บ้านราษฎร์รักแดน หมู่ที่ ๙ ตำบลหนองแวง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ในเขตป่าดงใหญ่ อันเป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยประชาชนร่วมกันถือแผ่นผ้าขนาดใหญ่จำนวนหลายผืนเขียนข้อความว่า ทวงคืนแผ่นดินแม่ และมีการอันเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถไปด้วย โดยมีประชาชนประมาณ ๒๐๐ คน เดินทางเข้าไปภายในบริเวณป่าดงใหญ่ที่เกิดเหตุซึ่งห่างจากสามแยกถนนสุริยะวิถีประมาณ ๓ กิโลเมตร ประชาชนที่เดินทางเข้าไปในป่าที่เกิดเหตุ ได้ร่วมกันถางหญ้าในป่าที่เกิดเหตุเป็นบริเวณกว้าง และกางเต็นท์เพื่อเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.๒ แผ่นที่ ๔ แผ่นที่ ๖ แผ่นที่ ๗ และแผ่นที่ ๘ และภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.๙ แผ่นที่ ๕ และแผ่นที่ ๖ ระหว่างเกิดเหตุเจ้าพนักงานหลายฝ่ายได้ร่วมกันเจรจากับประชาชนให้ออกไปจากเขตป่าที่เกิดเหตุ จนถึงเวลาประมาณ ๑๒ นาฬิกา ประชาชนจึงแยกย้ายออกไปจากเขตป่าที่เกิดเหตุ หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตรวจยึดรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บจ ๖๕๓๙ บุรีรัมย์ ของจำเลยที่ ๓ จดหมายเปิดผนึก ตามเอกสารหมาย จ.๓ เอกสารการเตรียมตัวก่อนเข้าพื้นที่เมืองใหม่ ตามเอกสารหมาย จ.๔ เอกสารสรุปย่อปัญหาตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ตามเอกสารหมาย จ.๕ แผ่นที่ ๔ และแผ่นที่ ๕ และเอกสารข้อมูลป่าบ้านกรวดแปลงที่ห้า ตามเอกสารหมาย จ.๕ แผ่นที่ ๗ ถึงแผ่นที่ ๙ เป็นของกลาง และจับกุมจำเลยทั้งสี่ดำเนินคดีโดยกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันโฆษณาหรือประกาศให้บุคคลทั่วไปบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษไม่ต่ำกว่าหกเดือน จนมีบุคคลกระทำความผิดเพราะเหตุที่ได้มีการโฆษณาหรือประกาศ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ ทางพิจารณาโจทก์นำสืบพันตำรวจโทวิจิตร โพธิ์สิทธิพันธ์ นายวุฒิชัย เกตานนท์ นายเจษฎา สวัสดิลาภา พันตรีกฤษฎา อารีรมย์ และนายชาติชาย สุวรรณาชาติ เป็นพยานเบิกความประกอบกันว่า จำเลยทั้งสี่เป็นผู้นำประชาชนเดินทางไปที่สามแยกถนนสุริยะวิถี และประกาศให้ประชาชนเดินทางเข้าไปในป่าที่เกิดเหตุเพื่อยึดพื้นที่และทวงคืนแผ่นดินแม่ เนื่องจากประชาชนที่เดินทางไปที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุกลัวว่าประเทศไทยจะเสียดินแดนให้แก่ประเทศกัมพูชา โดยมีจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ นำประชาชนประมาณ ๒๐๐ คน เดินทางเข้าไปในป่าที่เกิดเหตุล่วงหน้าก่อนแล้ว ส่วนจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ กับประชาชนอีกประมาณ ๓๐๐ คน เดินทางไปสมทบในภายหลัง แต่ถูกเจ้าพนักงานสกัดไว้ที่บริเวณสามแยกถนนสุริยะวิถี ซึ่งเป็นต้นทางที่จะเข้าไปในป่าที่เกิดเหตุ พวกพยานจึงช่วยกันเจรจากับจำเลยทั้งสี่และประชาชนว่าการบุกรุกเข้าไปในป่าที่เกิดเหตุซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยพยานส่วนหนึ่งร่วมกันเจรจากับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ที่สามแยกถนนสุริยะวิถี และพยานอีกส่วนหนึ่งเข้าไปเจรจากับจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ ในป่าที่เกิดเหตุ แต่การเจรจากับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ กับประชาชนที่สามแยกถนนสุริยะวิถีไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ กับประชาชนที่สามแยกถนนสุริยะวิถียืนยันจะเข้าไปในป่าที่เกิดเหตุให้ได้ ต่อมาจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ ได้ออกจากป่าที่เกิดเหตุเข้าไปสมทบกับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ พวกพยานเกรงว่าสถานการณ์จะบานปลายจนยากแก่การควบคุม จึงร่วมกันควบคุมตัวจำเลยที่ ๑ ถึงจำเลยที่๓ ไปที่สถานีตำรวจภูธรละหานทราย ส่วนจำเลยที่ ๔ หลบหนีไป หลังจากนั้นประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมจึงออกมาจากป่าที่เกิดเหตุและแยกย้ายกันกลับไป ต่อมาจำเลยที่ ๔ ได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ส่วนจำเลยทั้งสี่นำสืบนายการุณ ใสงาม นายวีระ สมความคิด และอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความประกอบกันว่า ในอดีตประเทศไทยเคยสูญเสียดินแดนครั้งที่สำคัญรวม ๑๔ ครั้ง ตามเอกสารหมาย ถ.๕ และเคยสูญเสียปราสาทพระวิหารให้แก่ประเทศกัมพูชาตามคำพิพากษาของศาลโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งเป็นการเสียเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น แต่พื้นที่โดยรอบยังเป็นของแผ่นดินไทย ตามเอกสารหมาย ล.๒ แผ่นที่ ๑ และแผ่นที่ ๒ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๗ ขณะนั้นประเทศไทยมีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี นายชวนได้เจรจากับนายฮุนเซนนายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชาโดยมีข้าราชการทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและการต่างประเทศของทั้งสองประเทศทำการตกลงกันว่าสมควรแก้ไขปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา หลังจากนั้นนายชวนได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเมื่อนายชวนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ก็ได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อโดยมีการทำบันทึกข้อความ เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) เสนอนายชวน ตามเอกสารหมาย ล.๗ แผ่นที่ ๑ ถึงแผ่นที่ ๓ เพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (MOU ปี พ.ศ.๒๕๔๓) ตามเอกสารหมาย ล.๗ แผ่นที่ ๔ ถึงแผ่นที่ ๑๓ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ได้ขออนุมัตินายชวนโดยกำหนดให้ใช้หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๐๔ และฉบับลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ.๑๙๐๗ ตามเอกสารหมาย ล.๘ และ ล.๙ และให้ใช้แผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน อันเป็นแผนที่ซึ่งประเทศฝรั่งเศสจัดทำขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยกรุงสยามครั้งนั้นในนามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ไม่เคยตกลงร่วมกับประเทศฝรั่งเศสและไม่ลงนามในเอกสารแผนที่ดังกล่าว แต่รัฐบาลของนายชวนกลับนำแผนที่ซึ่งไม่มีผลบังคับตามกฎหมายระหว่างประเทศมาเป็นส่วนหนึ่งใน MOU ปี พ.ศ.๒๕๔๓ หลังจากนั้นรัฐบาลไทยในสมัยพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทำบันทึกข้อตกลงระหว่างไทยกับกัมพูชา ระบุรายละเอียดในการจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ตลอดแนวตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานีจนถึงจังหวัดตราด เป็นระยะทางประมาณ ๗๙๘ กิโลเมตร โดยใช้หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๐๔ และฉบับลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ.๑๙๐๗ และแผนที่มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ของประเทศฝรั่งเศสดังกล่าว ในการจัดทำหลักเขตแดน ซึ่งแผนที่ดังกล่าวได้กำหนดเขตแดนอ้อมปราสาทพระวิหารเข้ามาในฝั่งประเทศไทยเป็นพื้นที่ประมาณ ๔.๖ ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหาร และตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี จนถึงจังหวัดตราด ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดนทางบกเป็นเนื้อที่ประมาณ ๑,๘๐๐,๐๐๐ ไร่ และสูญเสียดินแดนในพื้นที่อ่าวไทยซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติอีกจำนวนมาก ตามเอกสารหมาย ล.๒ แผ่นที่ ๓ ถึงแผ่นที่ ๖ รัฐบาลกัมพูชาโดยนายฮุนเซนให้ประชาชนและทหารกัมพูชาเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์รุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินไทยตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และได้สร้างถนนลาดยางจากฝั่งประเทศกัมพูชาอ้อมมาทางพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร และอ้อมไปด้านหน้าปราสาทพระวิหารเพื่อขึ้นปราสาท ซึ่งพื้นที่ในการสร้างถนนดังกล่าวอยู่ในดินแดนของประเทศไทย เนื่องจากกัมพูชาไม่สามารถสร้างถนนตรงขึ้นด้านหน้าปราสาทได้ เพราะพื้นที่บริเวณหน้าปราสาทเป็นหน้าผาสูงประมาณ ๓๐๐ เมตร การสร้างถนนดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตรัฐบาลไทยและรัฐบาลไทยก็ไม่ได้อนุญาตให้กัมพูชาสร้างถนน แต่รัฐบาลไทยอยู่นิ่งเฉยเพียงแต่ทำหนังสือประท้วงไปประมาณ ๑๖ ครั้ง แต่กัมพูชาไม่สนใจหนังสือประท้วงดังกล่าว นอกจากนี้กัมพูชายังได้สร้างวัดสิขาคีรีสะวาราภายในพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ของประเทศไทย และมีประชาชนชาวกัมพูชาอยู่ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวประมาณ ๓๐๐ ครัวเรือน และกัมพูชายังได้สร้างตลาดบริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหารโดยขอเงินงบประมาณจากองค์การยูเนสโกเพื่อก่อสร้างตลาดในแผ่นดินไทย แต่รัฐบาลไทยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด นายฮุนเซนได้สั่งให้กำลังทหารเข้าไปในพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นแผ่นดินไทย และทหารไทยได้ออกจากพื้นดังกล่าวหมดสิ้นแล้ว ประชาชนชาวไทยไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวได้อีก ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าประเทศไทยได้สูญเสียดินแดนเนื้อที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร รอบปราสาทพระวิหารให้แก่ประเทศกัมพูชาแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลไทยในสมัยนายกสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และนายนพดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ ยกพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารและให้ความยินยอมแก่รัฐบาลกัมพูชา ให้รัฐบาลกัมพูชานำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโก แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐ วรรคสอง จึงใช้ไม่ได้ตามสำเนาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เอกสารหมาย ล.๑๑ และกรณีเดียวกันได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า การกระทำดังกล่าวของนายนพดลและรัฐบาลนายสมัครเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และเพิกถอนแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา และแผนที่แนบท้าย ตามสำเนาคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เอกสารหมายเลข ล.๑๒ รัฐบาลไทยในสมัยต่อมาซึ่งมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ได้เพิกเฉยต่อคำพิพากษาของศาลปกครองกลางและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาและแจ้งให้กัมพูชาและองค์การยูเนสโกทราบเพื่อปฏิบัติตาม แต่กลับนำข้อตกลงต่างๆ ในการกำหนดเขตแดนและปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาโดยใช้แผนที่มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ของประเทศฝรั่งเศส เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ปรากฏว่ารัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ตามเอกสารหมาย ล.๑๓ ถึง ล.๑๖ ข้อตกลงต่าง ๆ จึงสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐ ซึ่งหากใช้แผนที่มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ของประเทศฝรั่งเศส ในการแบ่งหรือปักปันเขตแดนจะเป็นเหตุให้ประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดนให้แก่ประเทศกัมพูชาอย่างใหญ่หลวง ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้ทหารและประชาชนชาวกัมพูชาพยายามรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินไทยตลอดเวลา การสูญเสียดินแดนเนื้อที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร รอบปราสาทพระวิหารทำให้ประชาชนชาวไทยได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปหาของป่าได้ คนไทยที่เคยเข้าไปทำไร่และหากินบริเวณดังกล่าวถูกทหารผลักดันออกจากพื้นที่ และขณะนี้ประเทศกัมพูชากำลังสร้างถนนคอนกรีตก่อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมากเพื่อสร้างถนน เจ้าหน้าที่อุทยาแห่งชาติเขาพระวิหารไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ เนื่องจากทหารได้ประกาศกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่อุทยานจึงไม่สามารถเข้าไปจับกุมชาวกัมพูชาที่เข้ามาบุกรุกทำลายป่าภายในเขตอุทยานได้ แต่กลับปล่อยให้ชาวกัมพูชาเข้าไปทำลายป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ปักอยู่บนสันเขื่อนห้วยเมฆา ตำบลบึงเจริญ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ในแผ่นดินไทย ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.๖ แผ่นที่ ๗ และ ล.๒๑ โดยหลักเขตดังกล่าวอยู่ห่างจากเขตชายแดนไทย-กัมพูชา ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร และที่บ้านทับราษฎร์ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ประชาชนและทหารกัมพูชาได้ร่วมกันทำรั้วเขตแดนไทย-กัมพูชา โดยใช้แนวเสาไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นแนวรั้วตลอดแนว ซึ่งทำให้ไทยเสียดินแดนในพื้นที่ดังกล่าว ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.๖ แผ่นที่ ๘ และได้มีการปักหลักเขตแดนของประเทศกัมพูชาพร้อมทั้งทำแนวรั้วในแผ่นดินไทย ทำให้หลักเขตทางหลวงซึ่งอยู่ในแผ่นดินไทยและเสาไฟฟ้าของประเทศไทยได้เข้าไปอยู่ในแนวเขตของประเทศกัมพูชาไปแล้ว ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.๖ แผ่นที่ ๙ และปราสาทสด๊อกก๊อกทม ที่อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นของประเทศไทย รัฐบาลไทยโดยกรมศิลปากรให้งบประมาณไปจัดซ่อมบำรุงจนสวยงามใกล้เสร็จแล้ว แต่แนวเขตของแผนที่มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ของประเทศฝรั่งเศส ทำให้ปราสาทสด๊อกก๊อกทมไปอยู่ในเขตประเทศกัมพูชาแล้ว ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.๖ แผ่นที่ ๑๐ และบริเวณปราสาทตาควาย อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ มีทหารกัมพูชามีอาวุธสงครามครบมืออยู่ในพื้นที่บริเวณปราสาทเพื่อดูแลพื้นที่ ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.๒๒ และตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.๖ แผ่นที่ ๒ ถึงแผ่นที่ ๔ เป็นบริเวณพื้นที่ปราสาทตาควาย ปราสาทตาเมือนทม และปราสาทตาเมือนโต๊ด ที่ประเทศไทยเสียดินแดนให้แก่ประเทศกัมพูชา ตามแผนที่มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ของฝรั่งเศส โดยกัมพูชาได้ปักหลักเขตสีแดงซึ่งเป็นของฝ่ายกัมพูชารุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินไทยห่างจากแนวชายแดนประมาณ ๒ กิโลเมตร อีกจุดหนึ่งที่ป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ บ้านแนงมุด ตำบลแนงมุด อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นป่าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ทางการไทยห้ามประชาชนไทยเข้าไป แต่ได้มีการลักลอบตัดไม้พะยูงอันเป็นไม้ที่มีค่าจำนวนมาก ซึ่งการตัดไม้ดังกล่าวน่าจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างทหารไทย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของไทย ราษฎรชาวกัมพูชา และทหารกัมพูชา ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.๓๐ และได้มีการนำเรื่องดังกล่าวไปออกอากาศทางโทรทัศน์ ตามแผ่นบันทึกภาพวัตถุพยานหมาย ว.ล.๑ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๓ องค์การยูเนสโกได้ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ ๓๔ ที่กรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล เพื่อขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกให้แก่ประเทศกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ประชาชนชาวไทยทั้งเครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่ เครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย องค์กรอื่นๆจำนวนมาก และพี่น้องประชาชนชาวไทยได้คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยจัดให้มีการชุมนุมกันที่หน้าสำนักงานองค์การยูเนสโกประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ และมีประชาชนชาวไทยส่วนหนึ่งไปที่สำนักงานใหญ่ขององค์การยูเนสโกที่ประเทศฝรั่งเศสประมาณ ๓๐ คน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อองค์การยูเนสโก และไปที่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่กรุงบราซิลเลีย ประเทศบราซิล เพื่อยื่นหนังสือต่อรองประธานที่ประชุมเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ในนามตัวแทนคนไทยที่คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามภาพถ่ายเอกสารหมายเลข ล.๓๓ ผลการคัดค้านของประชาชนชาวไทยดังกล่าว ทำให้มีการเลื่อนการพิจารณาไปในปี ๒๕๕๔ อีกครั้ง ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เป็นเวลาที่กัมพูชาจะต้องเสนอเงื่อนไขหรือแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยให้ ๗ ประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนของคณะกรรมการมรดกโลกเข้าไปดูแลพื้นที่เท่ากับว่าเราจะต้องยกพื้นที่อธิปไตยไทยให้แก่คณะกรรมการของ ๗ ประเทศ เป็นผู้ดูแล และเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ได้เสนอให้มีการจัดรายการพิเศษเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกรณีเขาพระวิหารและเขตแดนไทย - กัมพูชา ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์หลายช่อง นายกอภิสิทธิ์ได้ยอมรับถึงการสูญเสียดินแดนของประเทศไทยในพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลกเมตร ให้แก่ประเทศกัมพูชา โดยรัฐบาลไทยยอมรับว่ามีการรุกล้ำดินแดนไทย โดยรัฐบาลกำลังใช้การเจรจาเป็นหลัก ถ้าจำเป็นจึงจะใช้กำลังทหารในหารแก้ปัญหา ตามเอกสารหมายเลข ล.๓๑ และ ล.๓๒ ซึ่งนับตั้งแต่ที่รัฐบาลรับปากเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ จนบัดนี้ รัฐบาลยังยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขเรื่องดังกล่าว หากรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยไม่ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ประเทศไทยมีโอกาสที่จะสูญเสียดินแดนจำนวนมากให้แก่กัมพูชา ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประกอบกับข้อมูลข่าวสารซึ่งจำเลยทั้งสี่ได้รับรู้จากสื่อมวลชนต่างๆ จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่ จึงประสานกับประชาชนเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ประชาชนในพื้นที่เขตรอยต่อชายแดนไทย - กัมพูชา ที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ตลอดแนวชายแดนไทย - กัมพูชา และประชาชนที่มีความรักชาติและเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับชายแดนไทย - กัมพูชา ได้ทำการศึกษาข้อมูลร่วมกันก่อนเกิดเหตุคดีนี้มานานแล้ว รายละเอียดปรากฏตามเอกสารการสัมมนาหมาย ล.๓๔ จำนวน ๑๒ ชุด จากข้อมูลทั้งหมด รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ จำเลยทั้งสี่จึงเชื่อว่าประเทศไทยได้สูญเสียดินแดนให้แก่ประเทศกัมพูชาแล้ว ในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสี่กับกลุ่มประชาชนเครือของจังหวัดบุรีรัมย์ จึงเดินทางไปร่วมกันพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ชายแดนไทย - กัมพูชา ว่ามีประชาชนและทหารของกัมพูชารุกล้ำเข้ามาอยู่ในดินแดนไทยจริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประชาชนเครือข่ายผู้รักชาติต่างๆประจำจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ได้ร่วมกันไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชานั้นๆ จำเลยทั้งสี่กับกลุ่มประชาชนที่เดินทางไปที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุเพื่อตรวจสอบการสูญเสียดินแดน ปกป้องแผ่นดินไทย รักษาผลประโยชน์ของชาติ อันเป็นหน้าที่ของชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง เห็นว่า จำเลยทั้งสี่นำสืบต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสี่และประชาชนที่ไมร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุมีความเชื่อว่าประเทศไทยได้สูญเสียดินแดนให้แก่ประเทศกัมพูชาแล้ว โดยนายฮุนเซนนายกรัฐมนตรีกัมพูชามีนโยบายให้ประชาชนชาวกัมพูชาทั้งในประเทศกัมพูชาและที่อยู่อาศัยตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกช่วยเหลือประเทศกัมพูชาโดยการเข้าไปอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ซึ่งแตกต่างจากนโยบายของรัฐบาลไทยโดยสิ้นเชิง ดังนั้น จึงมีโอกาสสูงมากที่ประชาชนและทหารจะรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินไทย โดยอาศัยแผนที่มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ของประเทศฝรั่งเศส ในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสี่และประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมต้องการไปที่เขตชายแดนไทย - กัมพูชา เพื่อตรวจสอบการสูญเสียดินแดน เฝ้าระวังแนวเขตชายแดนไทย - กัมพูชา ในพื้นที่ประเทศไทยและสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนและทหารกัมพูชารุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินไทย อันเป็นการปกป้องอธิปไตยของชาติ ซึ่งในข้อนี้ก็ปรากฏจากพยานโจทก์เบิกความว่า ได้สอบถามประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุได้ความว่า ประชาชนต้องการไปทวงคืนแผ่นดินแม่ อันมีความหมายทำนองว่าจะไปเอาดินแดนของประเทศไทยทีถูกประชาชนและทหารกัมพูชารุกล้ำกลับคืนมา นอกจากนี้ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และร่วมกันถือป้ายผ้าขนาดใหญ่เขียนข้อความว่า ทวงคืนแผ่นดินแม่ จำนวนหลายผืนไปด้วย และพันตรีกฤษฎา ได้ตอบทนยายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่า หลักเขตสีแดงตามภาพถ่ายหมายเลข ล.๖ แผ่นที่ ๔ เป็นของประเทศกัมพูชาที่นำมาปักไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐ โดยกัมพูชาอ้างว่าเป็นแนวเขตของประเทศกัมพูชา ซึ่งหลักเขตดังกล่าวได้ปักรุกล้ำเข้ามาในดินแดนประเทศไทยทางฝั่งปราสาทตาเมือนทม จึงเจือสมกับที่จำเลยทั้งสี่นำสืบว่าประเทศกัมพูชาได้รุกล้ำดินแดนอธิปไตยของประเทศไทย กรณีจึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสี่นำสืบเกี่ยวกับกรณีที่ประเทศกัมพูชารุกล้ำดินแดนของประเทศไทยมีมูลความจริง นอกจากนี้พันตรีกฤษฎาและนายเจษฎา ยังตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่า บริเวณที่เกิดเหตุตรงพื้นที่จุดสกัดและเจรจาที่สามแยกถนนสุริยะวิถีภายในเครื่องหมายวงกลมด้วยปากกาสีน้ำเงินด้านบน และในป่าที่เกิดเหตุซึ่งวงกลมด้วยปากกาสีน้ำเงินด้านล่าง ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.๓ รวมถึงบริเวณด้านบนแนวเส้นสีเหลืองตามเอกสารหมาย ล.๓ คือ บริเวณเดียวกันกับที่วงกลมด้วยปากกาสีน้ำเงินด้านล่างในพื้นที่สีแดงตามเอกสารหมายเลข ล.๒ แผ่นที่ ๖ อันเป็นพื้นที่ตามแนวเขตชายแดนไทย - กัมพูชา ซึ่งจำเลยทั้งสี่นำสืบว่าบริเวณดังกล่าวบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ประเทศไทยจะต้องเสียดินแดนให้แก่ประเทศกัมพูชา หากใช้แผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐๐ ของประเทศฝรั่งเศส เป็นหลักในการปักปันเขตแดนตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ทั้งยังปรากฏจากเอกสารข้อมูลป่าบ้านกรวดแปลงที่ห้าเอกสารหมาย จ.๕ แผ่นที่ ๙ ซึ่งเจ้าพนักงานตรวจยึดได้ในวันเกิดเหตุ ระบุวัตถุประสงค์ว่า ต้องการป้องกันดินแดนไทยตามแนวชานแดนไม่ให้สูญเสียให้แก่ประเทศกัมพูชาและหาที่ดินทำกินโดยต้องปลูกป่าเพิ่มอย่างน้อยร้อยละ ๓๐ ถึง ๔๐ ของพื้นที่ ซึ่งหากกลุ่มประชาชนผู้ชุมนุมมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดในเอกสารดังกล่าวจริง ย่อมเป็นการกระทำเพื่อป้องกันประเทศและดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาติ อันเป็นหน้าที่ของชนชาวไทย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุธศักราช ๒๕๕๐ มาตตรา ๗๑ และการปลูกป่าก็เป็นการเพิ่มทรัพยากรแก่ประเทศชาติให้มีมากขึ้น ไม่ได้เป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าหรือทำลายป่า ดังนี้ เมื่อพิจารณาข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสี่และข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกับประชาชนประมาณ ๕๐๐ คน เดินทางไปที่เกิดเหตุอย่างเอิกเกริก เป็นที่รับรู้ทั่วไปของประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเช่นนี้ จึงผิดวิสัยของบุคคลที่มีเจตนาจะไปกระทำความผิด นอกจากนี้กลุ่มประชาชนยังได้แยกย้ายกันกลับออกจากที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุนั้นเองในเวลาประมาณ ๑๒ นาฬิกา หลังจากที่ได้มีการเจรจากับพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้จับกุมบุคคลที่อ้างว่าได้กระทำความผิดสำเร็จตามคำโฆษณาหรือประกาศของจำเลยทั้งสี่ดำเนินคดีแต่อย่างใด ทั้งรูปคดีก็มีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่และประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุมีเจตนาป้องกันประเทศและรักษาผลประโยชน์ของชาติไม่ให้สูญเสียแก่ประเทศกัมพูชา อันเป็นหน้าที่ของชนชาวไทย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๗๑ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว จึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันโฆษณาหรือประกาศให้บุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติตามฟ้องหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสี่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง
พิพากษายกฟ้อง/