เทคโนโยลีสมัยใหม่รุดหน้าไม่หยุดยั้ง กลุ่มขบวนการปลอมแปลงเอกสารทางราชการก็ได้พัฒนาตามวิวัฒนาการยุคโลกาภิวัฒน์อย่างไม่หยุดนิ่งเช่นกัน โดยจะเห็นได้ว่าขบวนการปลอมแปลงพาสปอร์ตยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ที่ยังท้าทายความสามารถ และยังรอการปราบปราบให้บรรเทาเบาบางลง โดยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันแก๊งปลอมหนังสือเดินทางยังคงเลือกที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตทำผิดกฎหมาย ซึ่งส่อให้เห็นถึงศักยภาพ และประสิทธิภาพของหน่วยความมั่นคงในทุกหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันสืบตามจับกวาดล้างชาวต่างชาติที่เข้ารับจ้างปลอมพาสปอร์ตให้ได้
พฤติกรรมขบวนการปลอมพาสปอร์ต เมื่อสืบลงลึกจะพัวพันเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงการค้ามนุษย์ อาชญากรข้ามชาติ ค้ายาเสพติด ค้าอาวุธสงคราม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบถึงความมั่นคงของประเทศ โดยล่าสุดกองปราบปราม โดยพล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป. ได้รับการประสานจากธนาคารกสิกรไทย ว่ามีชาวต่างชาตินำเช็คธนาคารประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ ประมาณ 4-5 ฉบับ มาขึ้นเงินกับธนาคารในประเทศไทย รวมมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท ซึ่งธนาคารสั่งจ่ายเงินให้แล้ว 1 ฉบับ เป็นเช็คของธนาคารในประเทศแคนาดา มูลค่า 4 ล้านบาท โดยการที่ธนาคารปล่อยให้ขึ้นเงินได้ เนื่องจากตรวจสอบพบว่าเช็คดังกล่าวถูกต้องตามขั้นตอน โดยชาวต่างชาติผู้ที่นำเช็คมาขึ้นเงินได้แสดงตัวนำหนังสือเดินทางชื่อตรงกับใน
เช็คมาดำเนินการด้วยตัวเอง
แต่ในขณะเดียวกันธนาคารในประเทศแคนาดา ได้ประสานแจ้งมาที่ธนาคารกสิกรไทยว่า เจ้าของเช็คติดต่อผ่านทางธนาคารในประเทศแคนนาดาว่าทำเช็คหายจะขออายัด และทางเจ้าหน้าที่ธนาคารในประเทศแคนนาดา ได้แจ้งเจ้าของเช็คที่จะทำการอายัด ว่าได้มีการเบิกเงินไปแล้วที่ธนาคารกสิกรไทย ในประเทศไทย ซึ่งนั่นแสดงว่ามีคนร้ายเข้ามาสวมรอยแลกเช็คขึ้นเงินแล้ว
พร้อมกันนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบเครือข่ายของผู้ที่นำเช็คมาขึ้นเงินอย่างผิดกฎหมาย และพบว่าได้ใช้การปลอมหนังสือเดินทาง ซึ่งเมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แก๊งนี้ได้ติดต่อขอแลกเช็คที่สั่งจ่ายธนาคารในประเทศออสเตรียอีก 3 ฉบับ รวมกว่า 50 ล้านบาท
เพื่อไม่ปล่อยให้แก๊งดังกล่าวลอยนวล เย้ยและท้าทายฝีมือตำรวจไทย พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป. พร้อมทีมสืบสวนสอบสวน จึงวางแผนให้เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อล่อกลุ่มคนร้ายให้มาแลกเช็คขึ้นเงินสดอีกครั้งกับเช็คที่เหลืออยู่ จนนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหาชาวคองโกทั้ง 3 คน ประกอบด้วย นายเบดี เยฟ อายุ 35 ปี นายคองโกลู อายุ 35 ปี และน.ส.เองกีรา โอชา อายุ 31 ปี พร้อมยึดของกลางหนังสือเดินทางปลอม 8 เล่ม สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร 6 เล่ม บัตรเอทีเอ็ม 11 ใบโดยเมื่อนำตัวมาสอบสวนทราบว่าเช็คที่ขึ้นเงินไปแล้วได้รับมาจากนายโจเซฟ เดเกล สัญชาติออสเตรเลีย กับพวกอีก 3-4 คน โดยไม่ทราบที่มา แต่ผู้ต้องหาอ้างว่า มีหน้าที่เพียงนำเช็คมาขึ้นเงินเท่านั้น ส่วนหนังสือเดินทางไปซื้อมาจากชายชาวออสเตรเลียคนหนึ่ง ซึ่งจะทำชื่อให้ตรงกับเช็คที่แลกเงิน เพื่อหลอกเจ้าหน้าที่ธนาคาร
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขั้นตอนของทางธนาคารตรวจสอบจะรัดกุม แต่แก๊งปลอมพาสปอร์ตยังสามารถเจาะทะลวงมาตรการตรวจสอบหลุดลอดไปได้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในกรณีชาวต่างชาตินำเช็คมาขึ้นเงินนั้น ทางธนาคารมีบริการพิเศษในการแลกเช็คระหว่างประเทศกับธนาคาร ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันโดยผู้ที่นำเช็คมาแลกจะต้องนำหลักฐานเป็นหนังสือเดินทางมายืนยัน จากนั้นทางธนาคารจะตรวจสอบไปยังธนาคารเจ้าของเช็คว่ามีเงินตามที่ระบุไว้ในเช็คหรือไม่ ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วว่าเช็คมีเงินก็จะเบิกจ่ายให้ลูกค้า โดยมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเป็นลักษณะเดียวกับการแลกเช็คในประเทศต่างธนาคาร และต่างสาขา และจากข้อมูลที่ได้รับยังพบว่าผู้ต้องหาบันทึกข้อมูลการเบิกจ่ายเงินของผู้เสียหายอีก 4-5 ราย และมีการเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรอนำเงินเข้าด้วย
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เผยถึงกลวิธีการปลอมแปลงหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) จะใช้วิธีผ่าเล่ม เปลี่ยนหน้า โดยจะเปลี่ยนรูปถ่ายในหนังสือเดินทางให้เป็นของลูกค้า และมีอีกวิธีโดยจะเปลี่ยนรูปและสอดแทรกกระดาษปลอมบางหน้า ทำให้รูปเล่มพาสปอร์ตเหมือนจริงมาก ซึ่งต้องสแกนข้อมูลและใช้ทักษะในด้านงานศิลป์ เพื่อทำปลอมหนังสือเดินทางเสมือนจริง โดยพาสปอร์ตที่จะนำมาปลอมแปลงได้มาจากการขโมยเล่มตัวจริง และเมื่อได้มาแล้วจะเปลี่ยนเฉพาะใบหน้าเจ้าของพาสปอร์ต โดยจะขายในราคาฉบับละ 1 หมื่นบาท ส่วนเล่มที่ปลอมทั้งฉบับ จะขายเล่มละ 3-4 พันบาท โดยขบวนการนี้จะขโมยหนังสือเดินทางจากหลายประเทศ โดยเฉพาะแถบยุโรป เช่น สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ แล้วจะส่งพัสดุมายังประเทศไทย เพื่อทำการปลอมแปลงหนังสือเดินทาง และขายให้ลูกค้าชาวพม่า บังกลาเทศ ที่ต้องการไปยังประเทศที่ 3 ในราคา 2,000-20,000 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและประเทศที่ต้องการจะทำ รวมทั้งส่งหนังสือเดินทางที่ปลอมแปลงแล้วไปยังประเทศต่าง ๆ ที่สั่งซื้อและสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต โดยเชื่อมโยงกับกลุ่มที่กระทำผิดที่นำหนังสือเดินทางที่ปลอมแปลงจากประเทศไทยไปใช้ในการกระทำผิดหลายรูปแบบ เช่นกระบวนการก่อการร้าย การทุจริตบัตรเครดิต การค้ามนุษย์ การลักลอบเข้าเมือง ซึ่งขบวนการนี้นับเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
อีกวิธีหนึ่ง คือการผลิตหนังสือเดินทางปลอมซื้อมาทั้งเล่ม โดยการผลิตหนังสือเดินทางส่วนใหญ่จะใช้วิธีพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์เลเซอร์สี ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะนักนิติวิทยาศาสตร์ จะต้องพิสูจน์ตรวจจับให้ได้ โดยจะต้องตรวจพิสูจน์เอกสาร คือ การตรวจสอบความถูกต้อง, ความเป็นของจริงหรือของแท้โดยเทียบวัตถุพยาน กับของแท้ เพื่อดูความแตกต่าง ซึ่งจะต้องอาศัยทักษะและความชำนาญ เพราะแต่ละเล่มแต่ละชาติก็มีรูปแบบของการปลอมแปลงที่แตกต่างกัน
แม้ว่าบทลงโทษผู้ที่ทำผิดปลอมพาสปอร์ตจะดูหนักเอาการ เมื่อถูกจับกุมได้ แต่ยังไม่สามารถต้านทานให้คนร้ายสำนึกที่จะไม่เข้ามาตั้งฐานปลอมเอกสารสำคัญทางราชการในไทย แต่กลับเห็นได้ว่าขบวนการปลอมหนังสือเดินทางยังคงตั้งหน้าตั้งตาปลอมแปลงกันต่อไปอย่างไม่เกรงกลัว แม้กฎหมายใหม่จะระบุชัดว่า ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางปลอม มีบทลงโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี สูงสุดถึง 20 ปี เนื่องจากเป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศก็ตาม
การปราบปราบแก๊งปลอมพาสปอร์ต แม้ที่ผ่านมาจะสามารถจับกุมรายใหญ่ได้ แต่ก็ยังมีเครือข่ายที่ยังคอยชักใยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่เปิดแผนความเข้มข้นเข้าปราบปรามแก๊งนี้อย่างจริงจัง เชื่อได้ว่าไทยจะคงยังต้องเป็นฐานการผลิตพาสปอร์ตปลอมต่อไป