ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ สินเชื่อขยายตัว Q1/54 ผลักดันรายได้แบงก์พาณิชย์เกิน 1 แสนล้าน เติบโตเกิน 10% แย้มกำไรสุทธิทะลุ 3 หมื่นล้านบาท
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า จากมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสแรกปี 2554 ตามอานิสงส์ของการเติบโตในระดับสูงของเงินให้สินเชื่อ คาดว่า จะหนุนให้รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิสามารถรักษาการเติบโต และทำให้รายได้สุทธิจากธุรกิจหลักของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย (รวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียม) ขยายตัวประมาณร้อยละ 11.6-15.7 จากปีก่อน มาที่ประมาณ 107,000-111,000 ล้านบาทในไตรมาสแรกปี 2554
ทั้งนี้ รายได้ดังกล่าวจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถทำกำไรสุทธิที่มีโอกาสสูงเหนือ 30,000 ล้านบาท เทียบกับ 28,000 ล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้าและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าได้
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการทำกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะที่เหลือของปีนี้ จะมีปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นเหตุธรณีพิบัติภัยในญี่ปุ่นที่อาจมีผลกระทบต่อเนื่องมายังเครือข่ายธุรกิจที่เกี่ยวข้องในไทย และแผนในการขยายการลงทุนของธุรกิจเหล่านั้นในระยะถัดไป รวมถึงปัญหาอุทกภัยทางภาคใต้
นอกจากนี้ แม้ว่าราคาวัตถุดิบและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยหนุนความต้องการสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนให้กับภาคธุรกิจในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่หากสถานการณ์ดังกล่าว ยืดเยื้อออกไป ท่ามกลางภาวะที่ผู้ประกอบการประสบปัญหาในการปรับขึ้นราคาสินค้า และต้นทุนการกู้ยืมที่กำลังไต่ระดับขึ้นตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น คาดว่า อาจกลับมาสร้างความเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีอำนาจในการผลักภาระด้านราคาไปยังผู้บริโภค และ/หรือมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการโครงสร้างต้นทุนที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการขนาดที่ใหญ่ขึ้น
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ดังกล่าวอาจมีผลในการชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หมายความถึงความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนที่คงอ่อนแรงตามไปด้วย ถือเป็นโจทย์ทางธุรกิจที่ธนาคารพาณิชย์ และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาจต้องเตรียมหาแนวทางรับมือไว้ นอกเหนือจากการทยอยบังคับใช้ค่าธรรมเนียมการถอน/ถามยอดผ่านเอทีเอ็มต่างธนาคารในจังหวัดเดียวกัน และการถอนเงินต่างธนาคารข้ามเขตในอัตราใหม่ในไตรมาส 2 หรือช่วงปลายไตรมาส 2/2554 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมรับของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในขอบเขตที่มากขึ้นกว่าในไตรมาส 1/2554