***ผ่านไปได้ 2 ปีครึ่งสำหรับการเข้ามานั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) ของ “บุญทักษ์ หวังเจริญ” มีหลายๆ สิ่งในธนาคารแห่งนี้ที่ปรับเปลี่ยนไปจนเป็นที่จับตามองของทั้งลูกค้าผู้ใช้บริการและธนาคารพาณิชย์...และอีกครั้งที่ทีเอ็มบีเปิดตัวแรงด้วยแบรนด์ “TMB Make The Difference" ซึ่งเขาจะมาบอกเล่าที่มาที่ไป-แนวคิดของแบรนด์นี้กับพันธกิจที่จะต้องดำเนินต่อไป***
**ที่มาของแบรนด์ “TMB Make The Difference”**
ความจริงเราก็ได้เริ่มทำให้สิ่งที่แตกต่างมาระยะหนึ่งแล้ว ก็ตั้งแต่ปีที่แล้ว จะเห็นได้จากผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ออกมา ทั้งด้านเงินฝาก เงินกู้ หรือการบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น No Fee บริการเสียค่าอุปโภคบริโภคต่างๆ โดยไม่เสียค่าฟี ทีเอ็มบี โนลิมิต ที่สามารถใช้บัตรเอทีเอ็มฝาก-ถอน-ถามยอดต่างธนาคารได้ไม่จำกัดครั้ง บัญชีเงินเดือน ทรี-ดี ที่มีวงเงินโอดีให้ หรือเงินฝากประจำอัพ แอนด์ อัพ ที่ถอนเมื่อไหร่ก็ได้ดอกเบี้ยตามระยะเวลา ไม่ถูกปัดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ เป็นต้น
ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่างๆเหล่านี้ที่ออกมา ก็อยู่ในแนวคิด “TMB Make The Difference” คือ ไม่เหมือนใคร แตกต่างจากที่อื่น แล้วก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ลูกค้าทั้งเก่า-ใหม่ให้การตอบรับอย่างดี เหมือนกับเขาได้สิ่งที่ไม่เคยได้ อย่างเงินฝากประจำอัพ แอนด์ อัพ ทำไมเวลาเราถอนเงินออกจากบัญชีก่อนระยะเวลาจะต้องถูกลดดอกเบี้ยเป็นออมทรัพย์ ทั้งๆที่เงินเราได้ไปอยู่ในแบงก์แล้วระยะเวลาดังกล่าว อย่างนี้เป็นต้น แต่พอทีเอ็มบีทำ อัพ แอนด์ อัพ ถอนเมื่อไหร่ก็ได้ดอกเบี้ยประจำตามระยะเวลาที่เงินที่แบงก์ ลูกค้าก็แฮปปี้ เพราะเขาได้ในสิ่งที่ไม่เคยได้
“เชื่อมั้ยว่า ลูกค้าคนไทย เป็นลูกค้าที่ดีที่สุดในโลกแล้ว ไม่เคยบ่น ไม่เคยถาม แถมยังพยายามปรับตัวให้เข้าเกณฑ์ของแบงก์อีก ถามว่าเวลาเราฝากประจำแล้วถอนก่อนกำหนด โดนปรับเป็นดอกเบี้ยออมทรัพย์หมด พอใจมั้ย ไม่พอใจ แต่ก็ไม่บ่น ไม่ว่า แล้วก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับกฎที่เขาตั้งไว้ คือไม่ถอนก่อนกำหนด แต่ผลิตภัณฑ์ที่เราออกมา เราเป็นฝ่ายพยายามปรับเข้าไปหาความต้องการของลูกค้า ไลฟ์สไตล์ของลูกค้า เขาก็พอใจ นี่คือสิ่งที่เราทำ แล้วแตกต่างจากที่อื่น”
**ทำไมเพิ่งมาประกาศแบรนด์ 1 ปีให้หลัง**
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราค่อนข้างวุ่นกับเรื่องภายใน ปรับโครงสร้างองค์กร พัฒนาคุณภาพพนักงาน ที่หนักๆก็ล้างขาดทุนสะสมเป็นแสนล้านที่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ควบคุมหนี้ด้อยคุณภาพ พอเรื่องภายในพอจะคลี่คลายไปบ้าง เราเริ่มออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกตามแนวคิดที่แตกต่างจากที่อื่น จนทำได้มาระยะเวลาหนึ่ง มีความมั่นใจมากขึ้น จากเสียงตอบรับที่ได้มา จึงประกาศเป็นแบรนด์ “TMB Make The Difference” ออกมา
“แบรนด์สำหรับเราไม่ใช่แค่คำที่ดูดี แต่แบรนด์ คือ คำมั่นสัญญา ที่จะต้องทำให้ได้ เราต้องมั่นใจก่อนว่าทำได้จึงจะประกาศออกมา เพราะเป็นคำมั่นสัญญาของเรา”
**ภาระหน้าที่ต่อไปหลังประกาศแบรนด์**
ก็คือคิดผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง ตรงใจ รองรับให้กับลูกค้าผู้บริโภคตามพันธะสัญญาที่วางไว้ ซึ่งจากช่วงต้นปีก็จะเห็นอยู่บ้างในฝั่งของสินเชื่อ เป็นสินเชื่อบ้านฟรีประกันอัคคีภัยตลอดอายุสัญญาเงินกู้
นอกจากนี้ ที่ต้องทำต่อไปคือการปลูกฝัง DNA ใหม่ เพื่อรองรับแบรนด์ “TMB Make The Difference” อย่างเต็มตัว ให้กับพนักงานของเราที่ขณะนี้ก็ผ่านการอบรมหรือพัฒนามาในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งอันนี้ธนาคารก็วางไว้ 4 หัวข้อใหญ่ๆ
หนึ่งก็คือ Why not.. นั่นก็คือ การสร้างเสริมพลังเพื่อทำให้สิ่งที่ใครๆ คิดว่า ทำไม่ได้ เหมือนกับภาพยนตร์โฆษณาที่เราออกมาเป็นซีรีย์ ก็คือ เด็กที่เกาะปันหยี ไม่มีแผ่นดิน ยังมีสนามฟุตบอล ยังเป็นแชมป์ฟุตบอลได้ เขาไม่มีแผ่นดิน แต่ด้วยพลังด้วยความคิดต่าง ทำสนามบอลลอยน้ำขึ้น จนเป็นแชมป์ เราจึงเชื่อว่าทุกคนมีพลังที่จะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น ต้องผลักดันให้พลังในตัวเราที่ยังไม่ใช้ออกมา แล้วมันจะเปลี่ยนโลก
สอง Simple & Easy ผลิตภัณฑ์ที่ออกมานอกจากจะแตกต่าง แล้วยังต้องเข้าใจง่าย ใช้บริการได้ง่าย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับลูกค้า
สาม intelligent อันนี้เป็นความชาญฉลาด ซึ่งต้องชาญฉลาดทั้งผลิตภัณฑ์ที่ออกมา การทำงานของพนักงาน
อันสุดท้าย คือ จะต้องมีความจริงใจกับลูกค้า อันนี้สำคัญ คือพนักงานจะต้องให้บริการให้คำแนะนำที่เหมาะสม ถูกต้อง มากกว่าหวังผลกำไร ยกตัวอย่าง ลูกค้าที่มีอายุหน่อย เข้ามาแทนที่จะแนะนำให้ซื้อผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มั่นคง ความเสี่ยงต่ำ เพราะเป็นการลงทุนเหมาะสำหรับคนที่มีอายุแล้ว แต่กลับไปแนะนำลงทุนหุ้น หรืออื่นๆ ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะได้ค่าธรรมเนียมหรือค่านายหน้ามากกว่า อะไรอย่างนี้ไม่ได้
นี่คือ DNA ที่ทีเอ็มบีของพนักงานของทีเอ็มบีรุ่นใหม่ที่จะรองรับแบรนด์ “TMB Make The Difference” ที่ก็คงจะใช้ต่อไปเรื่อยๆตราบเท่าที่ผมยังอยู่ที่นี่
“จริงๆ แล้วผมดีใจนะที่ผลิตภัณฑ์ของเราได้รับตอบรับที่ดี แล้วก็ยังมีที่อื่นนำไปเป็นแบบอย่างอีก จะตามกันก็ไม่ว่า แต่ดีใจที่เราเป็นผู้นำ แต่ที่ดีที่สุด ก็คือ ถ้ามีอะไรออกมาอย่างนี้เยอะๆ แล้ว ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์มากที่สุด...”