รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเจ้าเก่า “อำนวย นิ่มมะโน” งัด พ.ร.บ.ความมั่นคงขู่พันธมิตรฯ เพื่อเตรียมออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ดังกล่าว กร้าวอาจให้ตำรวจเข้าตรวจค้นพื้นที่การชุมนุมที่อาจมีวัตถุที่ใช้เป็นอาวุธได้ เช่น ไม้ไผ่เหลาแหลม ย้ำอย่าได้เตรียมการที่รุนแรงเด็ดขาด ส่วนที่เสื้อแดงชุมนุมวานนี้เป็นการชุมนุมนอกพื้นที่ความมั่นคง ถือว่าไม่ผิด
วันนี้ (14 ก.พ.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น) พร้อม พ.ต.อ.วีรวิทย์ จันทร์จำเริญ รอง ผบก.น.1 เปิดเผยกรณีที่ ศอ.รส.เตรียมออกหมายเรียกแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ หลังจากที่ไม่ยอมเปิดเส้นทางการจราจรตามคำสั่งว่า เมื่อวาน (13 ก.พ.) ที่ผ่านมาเวลา 19.00 น.เข้าประชุมที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) จะมีการเรียกตัวแกนนำที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.มั่นคง โดยมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. เป็น ผอ.ศอ.รส. หลังจากได้ออกประกาศอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พุทธศักราช 2551 ออกประกาศฉบับที่ 1 ห้ามบุคคลเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่กำหนด โดยห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในบริเวณพื้นที่ดังนี้ ถนนพิษณุโลกตั้งแต่แยกพาณิชยการพระนคร (ด้านขวาถนนพระราม 5) ถึงแยกสวนมิสกวัน จะมีกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติปักหลักชุมนุม และถนนราชดำเนินนอกช่องทางคู่ขนานด้านทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่แยกสวนมิสกวัน ถึงแยกมัฆวาน เป็นกลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุม
“ทาง บช.น.มีการเจรจากับแกนนำอยู่บ่อยครั้งเพื่อให้เปิดพื้นที่การจราจรให้แก่ประชาชนที่ใช้เส้นทางดังกล่าวเป็นประจำ เนื่องจากประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมากเจรจาก็ไม่ได้ผล” พล.ต.ต.อำนวยกล่าว
พล.ต.ต.อำนวยกล่าวว่า เมื่อเจราจาไม่ได้ต้องบังคับใช้กฎหมาย ทาง บช.น.ได้รับมอบอำนาจจาก ศอ.รส.ให้ดูแลกฎหมายโดยมีตนเป็นผู้ดำเนินการข้อกฎหมาย เมื่อเจราจาไม่ได้ผลตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.เป็นต้นไปจะทยอยออกหมายเรียกผู้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.มั่นคง มารับทราบข้อกล่าวหา การออกประกาศดังกล่าวอยู่ในมาตรา 18 โดยมีความผิดตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักรพุทธศักราช 2551 ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ คดีอยู่ในอำนาจศาลแขวงพระนครเหนือ
หากผู้ถูกออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวตามหมายเรียกภายใน 7 วัน ตำรวจจะแจ้งข้อกล่าวหา และจะไม่มีการจับกุมหรือควบคุม เพราะรับทราบข้อกล่าวหาก่อนมีหมายจับจากนั้นสอบสวนดำเนินคดีหากมีความเห็นสั่งฟ้องจะเรียกตัวมาส่งฟ้องภายหลัง แต่หากไม่มารับทราบข้อกล่าวหาโดยไม่มีเหตุอันควร แต่หากมีเหตุอันควร เช่น เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล นั่นหมายถึงเหตุอันควร แต่หากไม่มาโดยไม่มีเหตุอันควรตำรวจจะออกหมายเรียกอีก 1 ครั้ง ถ้าไม่มาตำรวจจะขอให้ศาลอนุมัติออกหมายจับทันที ตำรวจมีมาตรฐานเดียวดำเนินการกับทุกเหมือนกันหมด ส่วนหมายเรียกตำรวจจะส่งไปยังภูมิลำเนาของผู้ถูกออกหมายเรียก
“การชุมนุมที่บอกว่าชอบด้วยกฎหมายจะต้องสงบปราศจากอาวุธ แต่หลังๆมักมีการจับกุมอาวุธมากขึ้น เช่น ระเบิดปิงปอง และพบไม้หลาวแหลม ยางรถยนต์ ไม้ลวก เป็นต้น เริ่มกลับมากอีกแล้ว ดังนั้น แกนนำผู้ชุมนุมควรเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นหาอาวุธ โดยผมจะมอบให้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 เป็นผู้ไปเจรจา และช่วงเย็นผมจะเสนอในที่ประชุม ศอ.รส.ให้ตำรวจเข้าตรวจค้นพื้นที่การชุมนุม สิ่งใดที่สามารถเป็นอาวุธให้ส่งคืนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น ไม้ไผ่หลาวแหลม ฯลฯ ดังนั้นการชุมนุมไม่ควรละเมิดสิทธิของผู้อื่นและอยู่ในสิทธิ์ของตัวเอง และอย่าเตรียมการที่รุนแรงเด็ดขาด” พล.ต.ต.อำนวยกล่าว
รอง ผบช.น.กล่าวอีกว่า สำหรับการออกหมายเรียกจะเริ่มจากการรวบรวมพยานหลักฐานถอดเทปการขึ้นปราศรัยโดยส่วนแรกจะเป็นบุคคลที่เห็นภาพและเสียงปรากฎชัดเจนเพราะถนนที่พันธมิตรชุมนุมนั้นเป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.มั่นคง ส่วนกลุ่มเสื้อแดงที่ชุมนุมเมื่อวาน (13 ก.พ.) ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยประชาธิปไตยถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.มั่นคง แต่กลุ่มนปช.อยู่นอกพื้นที่ประกาศห้ามชุมนุมในถนนเส้นนั้นจึงสามารถชุมนุมได้
ส่วนข้อหาที่จะแจ้งกับผู้ถูกออกหมายเรียก คือ ฝ่าฝืนประกาศ พ.ร.บ.มั่นคง ในมาตรา 18 ห้ามเข้าพื้นที่หรือออกจากเขตความผิดตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักรพุทธศักราช 2551 ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อที่จะถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้น ตำรวจจะมีการประชุมกันในวันนี้ เวลา 15.00 น.อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าอาจเป็นบรรดาแกนนำผู้ชุมนุมเช่นเดิม