xs
xsm
sm
md
lg

มือปราบผู้เข้าถึงหัวใจปชช.และลูกน้อง : พ.ต.ท.คำนวณ บ่ายกระโทก

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.ท.คำนวณ บ่ายกระโทก
"จันทร์ส่องดาว" จันทร์นี้ ขอนำเสนอ พ.ต.ท.คำนวณ บ่ายกระโทก รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรนางรอง (รองผกก.ปป.สภ.นางรอง) จ.บุรีรัมย์ อีกหนึ่งนายตำรวจน้ำดีของวงการตำรวจไทย ที่มีผลงานการจับกุมยาเสพติดในภาคอีสานมากมาย รวมทั้งยังมีผลงานการจับกุมผู้ต้องหาก่อคดีสะเทือนขวัญในอดีตที่ผ่านมาอีกด้วย

พ.ต.ท.คำนวณ มีชื่อเล่นว่า "นวน" เกิดเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2512 เป็นคน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เริ่มเข้าศึกษาระดับชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านตูม ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา จนกระทั่งจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชีวิตก็เริ่มเข้าสู่ทางธรรมไปบวชเรียนที่สำนักเรียนวัดบึง จ.นครราชสีมา จนจบเปรียญธรรม 5 ประโยค และนักธรรมศึกษาชั้นเอก ต่อมาปี 2530 ก็สึกออกมาเรียนระดับชั้นมัธยมอีก 2 ปี แต่รองนวน ก็รู้สึกว่าตัวเองอายุมากแล้วไม่เหมาะกับระดับชั้นมัธยมศึกษา ในปี 2532 จึงลองไปสอบเข้าโรงเรียนพลตำรวจจอหอ จ.นครราชสีมา ก็ปรากฏว่าสอบติดเป็นนักเรียนพลตำรวจรุ่นที่ 41

หลังจากจบที่โรงเรียนพลตำรวจจอหอแล้ว ก็รับราชการเป็นครูฝึกอยู่ที่โรงเรียนพลตำรวจจอหอต่อไป พร้อมๆกับเข้ามาเรียนในระดับศึกษาผู้ใหญ่ต่อจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากนั้นจึงเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาจนจบปริญญตรีนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช ในปี 2537 และในปีต่อมานี้เอง รองนวน ก็สอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยอบรมสายป้องกันปราบปราม และได้บรรจุเข้าทำงานในตำแหน่ง รองสวป.สภ.นางรอง

จากนั้นก็ย้ายไปเป็นพนักงานสอบสวน ที่สภ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ ต่อด้วยตำแหน่ง รอง สว.สส.สภ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ และขึ้นมารับตำแหน่ง รอง สว.หน.สภ.หนองสังข์ จังหวัดเดียวกัน หลังจากนั้นในปี 2547 รองนวนก็ขึ้นมาเป็นสารวัตรครั้งแรก ในตำแหน่ง สว.สส.สภ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ผ่านไป 2 ปี ก็ย้ายไปเป็น สวป.สภ.เมืองอำนาจเจริญ พออยู่ในตำแหน่งได้ 2 ปี อีกเช่นกันก็ย้ายไปเป็น สวป.สภ.เมืองสุรินทร์

จนกระทั่งปีที่แล้ว รองนวนก็ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็น รอง ผกก.ปป.สภ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โรงพักแรกที่ได้บรรจุเข้าทำงาน ทำหน้าที่รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามในพื้นที่ สภ.นางรอง นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งประจำชุดปราบปรายาเสพติดของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (ปส.บช.ภ.3) และประจำชุดปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (ปนม.บช.ภ.3)

รองนวน เล่าย้อนถึงสาเหตุที่ทำให้ชีวิตของตัวเองมาทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ว่า เดิมทีไม่ได้ไฝ่ฝันจะเป็นตำรวจตั้งแต่แรก แต่ตัวท่านเป็นเด็กด้อยโอกาส บวชเรียนมาก็ไม่ได้ช่องทางจะหาอาชีพมั่นคงได้ ซึ่งอาชีพรับราชการก็เป็นอาชีพหนึ่งที่มีความมั่นคง จึงลองไปสอบเข้าที่โรงเรียนพลตำรวจจอหอดู โดยหลังจากเรียนจบและได้ทำงานเป็นครูฝึกที่โรงเรียนแล้ว ก็มีความคิดว่าตัวเองคงจะหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ จึงไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่จนจบชั้นม.6 และศึกษาในระดับปริญญาจนกระทั่งได้มาสอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยอบรมเป็นตำรวจมาจนถึงทุกวันนี้

รองนวน มีหลักทำงานของตัวเองคือ ความมุ่งมั่น ความตั้งใจของตัวเอง เป็นจุดยืนที่ทำให้ตัวท่านประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และต้องทำให้ความต้องการของประชาชนและตำรวจลงตัวกันให้ได้ ประชานชนต้องการความสงบสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนตำรวจเองก็ต้องมุ่งปราบปรามจับกุม เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นแล้ว หากตำรวจเข้าระงับเหตุ หรือเข้าจับกุมคนร้ายได้ ก็สร้างความพึงพอใจ ความประทับใจให้กับประชาชน ฉะนั้นต้องทำให้ความต้องการของทั้งภาคประชาชนกับภาคตำรวจนั้นลงตัวให้ได้

"ทุกโรงพักที่ผมไปอยู่นั้น ต้องสร้างความพึงพอใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้บังคับบัญชาก่อนเป็นอันดับแรก หากบรรยาการในโรงพักดี ข้าราชการตำรวจมีรักสามัคคี มีความผูกพัน มีความเข้าใจ และปรับจูนนโยบายการทำงานให้เข้าใจตรงกันแล้ว การออกไปทำงานพบปะกับประชาชนหรือปะทะกับประชาชนก็จะออกมาในรูปแบบที่สร้างสรรค์ หรือประชาชนยอมรับได้ หากต่างคนต่างเดินทาง มันก็จะสะเปะสะปะไม่มีทิศทาง" รองนวน กล่าว

สำหรับผลงานในอดีตที่ พ.ต.ท.คำนวณ ภาคภูมิใจนั้น มีหลายอย่างด้วยกัน โดยหลักๆแล้วจะมุ่งมั่นทำงานจับกุมยาเสพติดมาโดยตลอดในทุกพื้นที่ที่เคยไปทำงานอยู่ เพราะยาเสพติดนั้นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอาชญากรรมทุกประเภท รองนวนจับกุมยาบ้าได้เป็นหลักหมื่นเม็ดอยู่ประจำ แต่มีอยู่คดีหนึ่งที่รองนวน ภูมิใจมากก็คือคดี "ฆ่ายกครัว" ในสมัยที่ยังเป็น ร.ต.ท.ตำแหน่ง รอง สวป.สภ.นางรอง เมื่อปี 42

คดีนี้ผู้ต้องหาคือนายถวิล หมั่นสาร มีอาชีพเป็น "ครู" ก่อเหตุฆ่าพ่อตา ฆ่าน้องเมียสองศพ และฟันเมียจนสาหัสเกือบตาย โดยวันเกิดเหตุ ผู้ต้องหาล็อกบ้านเอาไว้แล้วฆ่าน้องเมียสองคนที่เป็นเด็กเล็กๆ จากนั้นก็ไปฆ่าพ่อตา ก่อนจะไปปาดข้อมือ ปาดขาเมียตัวเองเหมือนจะปล่อยให้เลือดไหลจนหมดตัว แต่มีคนเห็นเลยแจ้งตำรวจ ซึ่งหลังรับแจ้งก็นำกำลังไปล้อมบ้านเอาไว้ ก่อนจะปีนขึ้นไปงัดกระเบื้องหลังคาแล้วโรยตัวลงไป จนกระทั่งสามารถจับกุมตัวนายถวิลเอาไว้ได้

"ผมมองเห็นภาพสลด เพราะเขาฆ่าน้องเมียสองคนที่เป็นเด็กเล็กๆ ขนาดเด็กยกมือไหว้ร้องขอชีวิต เขายังฟันนิ้วกระจาย ปาดคอเหวอะหวะเลือดท่วมบ้าน ที่สำคัญผู้ต้องหาเองเป็นครูมีความรู้ มีวุฒิการศึกษา แต่ยังก่อเหตุแบบเลือดเย็น มีพฤติกรรมโหดร้ายทารุณ ขนาดตอนทำแผนประกอบคำรับสารภาพยังยิ้มสะใจ ไม่มีความเศร้า ไม่มีการขอโทษ ไม่มีการสำนึกผิด" รองนวน กล่าวและว่า "คดีนี้ผมจับกุมคนร้ายด้วยตัวเอง ทำสำนวนสอบสวนบรรยายถึงความโหดเหี้ยมเลือดเย็นของผู้ต้องหาด้วยตัวเอง เมื่อคดีเข้าสู่ชั้นศาลแล้ว ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ทั้ง 3 ศาลตัดสินประหารชีวิตทั้งหมด เป็นคดีเดียวที่เคยทำมาแล้วผู้ต้องหาถูกตัดสินประหารชีวิตจริงๆ เพราะส่วนใหญ่แล้วจะลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือจำคุกตลอดชีวิต"

พ.ต.ท.คำนวณ ยังกล่าวถึงการทำงานของตำรวจในปัจจุบันด้วยว่า ในปัจจุบัน ตำรวจต้องปรับตัวปรับแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับยุกสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ในอดีตตำรวจอาจจะมีอำนาจ มีบารมีเยอะ แต่ทุกวันนี้ไม่เป็นแบบนั้นแล้ว ในอดีตตำรวจอาจจะต้องตำรวจใช้พฤติกรรมรุนแรง หรือพฤติกรรมนอกกรอบมาใช้บ้างเพื่อให้ได้ผลการจับกุมตามที่ผู้บังคับบัญชาต้องการ แต่ปัจจบุัน ตำรวจต้องใช้หลักกฎหมายที่เคร่งครัด มุ่งผลการปฏิบัติให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด รวมทั้งใช้วิทยาการหรือเทคโนโลยีสมัยมาใช้ เพราะทุกวันนี้อาชญากรต่างๆ ก็ปรับตัวมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ เช่นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตำรวจก็ต้องปรับเองตัวตามให้ทันไปด้วย

พ.ต.ท.คำนวณ กล่าวด้วยว่า ต้องยอมรับว่า ตำรวจทำงานกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง จับกุมผู้ต้องหารายหนึ่งแล้ว ญาติของผู้ต้องหาก็อาจต้องมีทัศนคติที่ไม่ดีกับตำรวจเป็นธรรมดา แม้แต่การค้าขายบางประเภทนั้น อาจะผิดข้อกฎหมาย หากตำรวจเพิกเฉยไม่จับก็ไม่ได้ ปล่อยไปก็อาจจะถูกตำหนิ กระทั่งการทำงานในชุดปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าของธุรกิจเปิดปั๊มน้ำมันนั้น ดูผิวเผินอาจจะไม่มีอะไรที่ตำรวจต้องเข้าไปดำเนินการตามกฎหมาย แต่พอได้เข้าไปสัมผัสจริงๆแล้ว ก็มีหลายอย่างที่ทำผิด เช่น การหลีกเลี่ยงภาษี การปลอมปนน้ำมัน ก็ต้องเข้าไปจับกุม

"ฉะนั้นก็มีความคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจการทำงานของตำรวจ ผมเลยทำงานควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์หรืออธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าที่ต้องจับกุมนั้นเพราะอะไร แม้แต่การจับยาบ้านั้น ทุกวันนี้ก็ต้องประชาสัมพันธ์ไปด้วย บางทีเด็กอายุ 15-16 รู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปรับยามาขายต่อ หรือเป็นเด็กเดินยา ก็ต้องจับกุมในข้อหาจำหน่าย ญาติๆเด็กก็ไม่เข้าใจหาว่ายัดข้อหา ผิดแค่นี้ต้องแจ้งข้อหาขนาดนั้นเลยหรือ เราก็ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงข้อกฎหมาย ฉะนั้นตำรวจจะจับกุมอย่างเดียวโดยไม่สนใจหรือไม่อธิบายไม่ได้ หากไม่พูดเลยประชาชนก็ไม่เข้าใจ และไม่ชอบตำรวจมากยิ่งขึ้น ผมเชื่อว่าถ้าตำรวจทำงานควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงข้อกฎหมาย ความไม่ชอบใจตำรวจน่าจะลดลงได้มาก" รองนวน กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น