xs
xsm
sm
md
lg

มติเอกฉันท์เลือก “มนตรี ยอดปัญญา” นั่งประธานศาลฎีกาคนใหม่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายมนตรี ยอดปัญญา ประธานศาลฎีกาคนใหม่
ก.ต.มติเอกฉันท์เลือก “มนตรี ยอดปัญญา” นั่ง ประธานศาลฎีกาคนใหม่ ชี้ เชี่ยวชาญคำพิพากษาศาลฎีกา จนได้รับขนานนาม “ตู้ฎีกาเคลื่อนที่” พร้อมตั้งรองประธาน อีก 5 ท่าน

วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่ศาลฎีกา สนามหลวง เมื่อเวลา 09.30 น.นายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เป็นประธานการประชุม ก.ต.รวม 15 คน โดยมีวาระการประชุมสำคัญ คือ การแต่งตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่ แทน นายสบโชค ที่จะมีอายุครบ 65 ปี และจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ จึงเสร็จสิ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเริ่มการประชุม สำนักงานศาลยุติธรรม ได้เสนอชื่อ นายมนตรี ยอดปัญญา รองประธานศาลฎีกาคนที่ 4 ซึ่งมีอาวุโสสูงที่สุดจากบรรดารองประธานศาลฎีกาทั้งหมด 6 คน ให้ที่ประชุมพิจารณา เนื่องจาก นายวิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ นายองอาจ โรจนสุพจน์ ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล รองประธานศาลฎีกา คนที่ 1-3 จะเกษียณอายุราชการเช่นกัน จากนั้นนายมนตรี ยอดปัญญา ซึ่งดำรงตำแหน่ง ก.ต.และได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานศาลฎีกา จึงขอถอนตัวออกจากการลงคะแนน เพราะเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรง ซึ่ง ก.ต.ที่เหลือทั้ง 14 คน จึงเริ่มต้นการอภิปราย โดยทั้งหมดมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน ว่า นายมนตรี เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะก้าวขึ้นไปดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนต่อไป เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์ สุจริต ประพฤติตนเรียบร้อย เป็นที่ประจักษ์ทั่วไป ดังนั้น ก.ต.มีมติเป็นเอกฉันท์ลงคะแนนเห็นชอบให้ นายมนตรี ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนใหม่ต่อจากนายสบโชค

จากนั้น ก.ต.ยังได้ประชุมลงมติเลือกผู้พิพากษาศาลฎีกา ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา คนที่ 2- 6 อีก 5 ตำแหน่ง ต่อจาก นายไพโรจน์ วายุภาพ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 5 ที่เลื่อนขึ้นไปเป็นรองประธานศาลฎีกา คนที่ 1 โดยที่ประชุม ก.ต.มีมติเห็นชอบให้ นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคฯ ศาลฎีกา, นายมานัส เหลืองประเสริฐ ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจฯ ศาลฎีกา นายประทีป เฉลิมภัทรกุล ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมฯ ศาลฎีกา, นายสมศักดิ์ จันทรา ประธานแผนกคดีล้มละลายฯ ศาลฎีกา และ นายฐานันท์ วรรณโกวิท ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ศาลฎีกา เป็นรองประธานศาลฎีกา คนที่ 2-6 ตามลำดับ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ เป็นต้นไป

สำหรับประวัติ นายมนตรี ยอดปัญญา ปัจจุบันอายุ 63 ปี และจะมีวาระดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา 2 ปี โดยจะไปเกษียณอายุราชการในปี 2556 จบการศึกษาประถมศึกษาโรงเรียนเทศบาล 1 (พะเยาประชานุกูล) มัธยมศึกษาต้นโรงเรียนพะเยาพิทยาคม พ.ศ.2503-2508 มัธยมศึกษาปี 3 โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร พ.ศ.2509 มัธยมปีที่ 4-5 โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ พ.ศ.2511 คณะนิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมดี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2516 เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา รุ่นที่ 27 พ.ศ.2516

ประวัติรับราชการเป็น ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่น ผู้พิพากษาประจำกระทรวง ช่วยทำงานผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพิษณุโลก ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่งธนบุรี ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และรองประธานศาลฎีกา

นอกจากนี้ ยังมีผลงานด้านวิชาการ โดยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประธานกรรมการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาทั้งสนามใหญ่และสนามเล็ก ผู้เชี่ยวชาญประจำตุลาการรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2549 โดย นายมนตรี นั้น ได้รับการยอมรับจากผู้พิพากษาด้วยกันว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นอย่างสูง สามารถจดจำฎีกาที่บรรพตุลาการเคยมีคำวินิจฉัยไว้ได้อย่างแม่นยำ ทั้งเลขที่ฎีกา องค์คณะผู้พิพากษาที่ตัดสิน จนได้ชื่อว่าเป็น “ตู้ฎีกาเคลื่อนที่” และตลอดชีวิตผู้พิพากษากว่า 40 ปี ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในศาลฎีกา

ทั้งนี้ นายมนตรี ยอดปัญญา ยังเคยเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายเสนาะ เทียนทอง อดีต รมว.มหาดไทย เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 คดีทุจริตที่ดินอัลไพน์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อปี 2553 และยังเป็นองค์คณะพิจารณาคำร้องที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องให้ศาลฎีกา ตั้งองค์คณะพิจารณาถอดถอนคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งคณะ ออกจากตำแหน่ง กรณีถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่ชี้มูลความผิดการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปิดล้อมหน้าอาคารรัฐสภา มิชอบด้วยกฎหมาย ผิดวินัยร้ายแรง และกรณีมีมติไล่นายตำรวจออกจากราชการ
กำลังโหลดความคิดเห็น