xs
xsm
sm
md
lg

กรณีศึกษา!ศาลยกคำพิพากษาจำคุก"ดา ตอร์ปิโด"จำเลยแก๊งล้มเจ้า

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

แฟ้มภาพ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จำเลยคดีดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง
คำสั่ง “ศาลอุทธรณ์” ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำคุก 18 ปี น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จำเลยคดีดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง เพื่อรอส่งประเด็นที่จำเลยคัดค้านเรื่องการพิจารณาคดีโดยไม่เปิดเผยของศาลอาญา ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เรื่องสิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม หรือไม่?!? ถือเป็น “บิ๊กเซอร์ไพร์ส” และยังเป็นกรณีศึกษาเรื่องใหม่ให้ถกเถียงกันในวงการนักกฎหมาย

คดีนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.ดารณี เป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 3 - 15 ปี

สืบเนื่องจากกรณี ระหว่างเดือนมกราคม - มิถุนายน 2551 จำเลยขึ้นปราศรัยบนเวทีเสียงประชาชน ณ ท้องสนามหลวง ด้วยเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนมาก โดยใช้คำพูดจาบจ้วง ล่วงเกิน เปรียบเทียบและเปรียบเปรยหมิ่นประมาท ดูหมิ่นทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบัน เสื่อมเสียพระเกียรติยศ โดยทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม ประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อจะล้มล้างรัฐบาล

ศาลอาญา (ชั้นต้น) มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2552 ว่าจำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้อง โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่าโจทก์มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม 3 นาย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551 เวลา 21.00 น.และ 24.00 น.จำเลยขึ้นเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง โดยพยานทั้งสามเป็นสายสืบฟังการปราศรัย และพบว่า จำเลยกล่าวข้อความดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จึงได้บันทึกเสียงลงในเครื่องบันทึก เอ็มพี3 และได้บันทึกลงในแผ่นซีดี แล้วนำมาถอดเทป ต่อมาจำเลยยังขึ้นปราศรัยกล่าวดูหมิ่นอีกในวันที่ 7 และ 13 มิถุนายน 2551 ซึ่งได้บันทึกเสียงไว้ แล้วก็ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีจำเลย

พยานโจทก์ เบิกความด้วยว่า แผ่นซีดีบันทึกเสียงที่เป็นหลักฐาน พบว่า เป็นเสียงคนๆ เดียวกัน จึงฟังได้ว่าตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยได้ขึ้นเวทีปราศรัย ขณะที่ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวบนเวที ก็พบว่า แม้จะไม่ระบุตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงอย่างชัดแจ้ง แต่ถ้อยคำที่กล่าวถึง เช่น สัญลักษณ์สีเหลือง สีฟ้า ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นสีประจำวันประสูติของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้เห็นว่าจำเลยกระทำการจาบจ้วงล่วงเกินโดยทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง

รวมทั้งการกล่าวถึงการรัฐประหาร โดยกล่าวถ้อยคำถึงมือที่มองไม่เห็นหลังสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งประชาชนรับรู้อยู่แล้วว่าสี่เสาเทเวศร์ คือ สถานที่ที่เป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยการแต่งตั้งองคมนตรี นั้น ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้ง ถ้อยคำของจำเลยจึงทำให้ประชาชนเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนับสนุน พล.อ.เปรม ในการยึดอำนาจจากประชาชน ซึ่งล้วนเป็นเท็จ

แม้ว่าชั้นพิจารณาจำเลยจะเบิกความว่า จดจำถ้อยคำที่กล่าวปราศรัยไม่ได้ว่ามีประเด็นใดบ้าง และจดจำวันเวลาไม่ได้ แต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่าไม่ได้กล่าวถ้อยคำที่โจทก์ยื่นฟ้อง ซึ่งแม้ว่าคำพูดของจำเลยไม่บังเกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อ แต่จำเลยก็ไม่อาจพ้นผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บรมราชินีนาถ

พิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกระทำผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกรรม ให้จำคุก 3 กระทงๆ 6 ปี รวมจำคุก 18 ปี

ต่อมา จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ที่ศาลชั้นต้นสั่งพิจารณาคดีลับ ขัดหรือแย้ง สิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 29 และ 40 หรือไม่

ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยองค์คณะผู้พิพากษาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีลับ เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงและไม่สงบเรียบร้อย โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาคดีลับตามประมวลวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 177 และจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรอการพิพากษาคดีไว้ก่อนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 นั้น

เห็นว่าในการพิจารณาศาลชั้นต้นจำเลยได้มีทนายความ และมีโอกาสนำพยานหลักฐานเข้าสืบแล้วตามสิทธิกระบวนพิจารณาคดีอย่างเต็มที่ แต่ที่ศาลชั้นต้น ยกคำร้องที่จำเลยขอส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติตาม ป.วิ อาญา มาตรา 177 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หรือไม่นั้น การวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยเองไม่ได้ และเมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจดูแล้วพบว่าไม่เคยมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าวมาก่อน จึงชอบที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด

จึงให้ยกคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นจำคุก 18 ปี โดยให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตาม ป.วิ อาญา มาตรา 177 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หรือไม่ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่แล้วแต่กรณี

คำสั่งศาลอุทธรณ์ ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประเด็นแย้งของจำเลย “เรื่องพิจารณาคดีลับ” ตาม ป.วิ อาญามาตรา 177 ถือเป็นการ “เปิดมาตรฐานใหม่” เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีการวินิจฉัยชี้ขาดบทบัญญัติของกฏหมายที่ขัดกันในกรณีเช่นนี้มาก่อน

การเปิดมาตรฐานใหม่ในครั้งนี้ หากมองในแง่ดี ที่ได้เต็มๆคือภาพของความโปร่งใส ศาลเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีได้ในทุกแง่มุมของกฎหมาย แต่หากมองอีกมุมก็อาจกลายเป็นการชี้ช่องให้จำเลยในความผิดลักษณะเดียวกันใช้ต่อสู้ “ประวิงคดี”

นอกจากนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญ เกิดวินิจฉัยชี้ขาดว่า การพิจารณาคดีลับ ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ “เรื่องเล็กอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่” เพราะจะส่งผลให้ ป.วิ อาญา มาตรา 177 ไม่สามารถบังคับใช้ได้ และอาจกลายเป็นการ “ สร้างมาตรฐานใหม่”ให้คดีดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง หรืออาจรวมถึงคดีความผิดทางเพศ และคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนซึ่งศาลมักนำการพิจารณาคดีลับมาใช้ กลายเป็นเรื่องที่พิจารณากันได้โดยเปิดเผย

อีกประการหนึ่ง แม้คำสั่งศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจะไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษา เพราะเป็นแค่ส่งตีความประเด็นขัดแย้งเรื่องข้อกฏหมาย ไม่ว่าผลวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร ข้อเท็จจริงในสำนวนก็ไม่เปลี่ยนแปลง ต่อให้เริ่มพิจารณาคดีกันใหม่ คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ไม่น่าจะต่างไปจากเดิม

แต่การสั่งยกคำพิพากษาจำคุกจำเลย ซึ่งเปรียบได้กับ “โลโก้” ของพวกไม่เอาเจ้าไม่เอาสถาบัน เช่นนี้ ย่อมส่งผลดีด้านจิตใจ สร้างความฮึกเหิิม ให้กลุ่มคนที่มีแนวคิดเช่นเดียวกับ “ ดา ตอร์ปิโด” ไม่มากก็น้อย

อ่านประกอบข้อกฎหมายที่ขัดแย้งกัน

ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 177 ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ เมื่อ เห็นสมควรโดยพลการหรือโดยคำร้องขอของคู่ความฝ่ายใด แต่ต้องเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม อันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับ ความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

มาตรา 29 การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่ จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับ แก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 40 บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้
(๑) สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง
(๒) สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่อง การได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอ ข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับ การพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผล ประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง
(๓) บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม
(๔) ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพยานในคดีมีสิทธิได้รับ การปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวน อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และการไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง
(๕) ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย และพยานในคดีอาญา มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง และความช่วยเหลือที่จำเป็นและเหมาะสมจากรัฐ ส่วนค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๖) เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ ย่อมมีสิทธิได้รับ ความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม และย่อมมีสิทธิได้รับการปฏิบัติ ที่เหมาะสมในคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ
(๗) ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี ที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบหรือได้รับทราบ พยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการ ปล่อยตัวชั่วคราว
(๘) ในคดีแพ่ง บุคคลมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเหมาะสมจากรัฐ

กำลังโหลดความคิดเห็น