xs
xsm
sm
md
lg

Feature : 1 ปีหลังแผ่นดินไหวกับการถูกข่มขืนของผู้หญิงเฮติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สตรีเฮติในกลุ่มโคฟาวีฟ (KOFAVIV) กลุ่มผู้หญิงผู้ตกเป็นเหยื่อการข่มขืน
เอเอฟพี - วิบากกรรมครั้งแรกในชีวิตของมาเรีย โซเนีย ซาลอน สตรีชาวเฮติวัย 56 ปี คือเมื่อ 1 ปีก่อน เมื่อเธอสูญเสียสามีจากเหตุแผ่นดินไหว ต่อมาไม่นานเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเธออีกครั้ง เมื่อซาลอนถูกข่มขืนในค่ายลี้ภัยซึ่งเธออาศัยอยู่กับลูกๆ อีก 3 คน เรื่องราวทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเฮติแม้แต่น้อย

องค์การนิรโทษกรรมสากลรายงานเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ว่า 150 วันแรกหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในเฮติ มีรายงานเหตุข่มขืนมากกว่า 250 คดี ในค่ายลี้ภัย 1,150 แห่ง ตัวเลขเหล่านี้ตอกย้ำถึงความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศที่ผู้หญิงชาวเฮติต้องเผชิญ

แก๊งชายฉกรรจ์ติดอาวุธจะบุกค่ายลี้ภัยต่างๆ เมื่อความมืดมาเยือน โดยสตรีผู้เป็นเหยื่อจำนวนมากไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องทนอยู่ในค่ายพักที่ตัวเองถูกข่มขืน ด้วยความกลัวว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอย ทั้งนี้ คาดกันว่ายังมีเหตุข่มขืนอีกมากที่ไม่ได้รายงาน ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะระบุชัดถึงขอบเขตของปัญหาที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่งที่ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

หนึ่งในกลุ่มสิทธิสตรีดังกล่าว คือ โคฟาวิฟ (KOFAVIV) กลุ่มสตรีผู้ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2004 โดยสตรีชาวเฮติ 5 คนที่ถูกข่มขืนในช่วงเหตุวุ่นวายทางการเมืองในปี 1991 โดยทางกลุ่มระบุว่าจำนวนเหตุข่มขืนเพิ่มสูงขึ้นถึง 264 รายในช่วง 6 เดือน หลังแผ่นดินไหว

โคฟาวิฟ มีเจ้าหน้าที่ภาคสนาม 25 คน คอยเยี่ยมเยียนค่ายลี้ภัย 22 แห่งทั่วกรุงปอร์โตแปรงซ์ เพื่อมองหาเหยื่อความรุนแรงทางเพศที่ต้องการความช่วยเหลือ อนึ่ง เจ้าหน้าที่ทุกคนขององค์กรแห่งนี้ล้วนเคยตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนมาแล้วทั้งสิ้น

นอกจากนี้ มารี เอรามิธ เดลวา เลขาธิการของกลุ่มโคฟาวิฟยังระบุว่า ผู้หญิงที่ตกเหยื่อบางรายยังเป็นเด็ก อายุเพียง 3 หรือ 5 ปีเท่านั้น ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาเมื่อองค์กรนิรโทษกรรมสากลเข้ามาดูแล ซึ่งประเมินไว้ว่าเหยื่อความรุนแรงทางเพศมากกว่าครึ่งเป็นยังเป็นผู้เยาว์

ทุกๆ บ่ายวันอาทิตย์ ผู้หญิงราว 50 คนจะมารวมตัวกันที่ศูนย์ประสานงานของโคฟาวิฟ เพื่อถกปัญหาที่แต่ละคนกำลังเผชิญ เสนอความช่วยเหลือให้แก่กันและกัน และวางแผนความเคลื่อนไหว อย่างการประท้วง หรือออกคำแถลงอย่างเป็นทางการ

มาเรีย โซเนีย ซาลอน ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้หญิงที่ขอคำปรึกษาจากโคฟาวีฟ เธอระบุว่า สุขภาพจิตดีขึ้นเมื่อได้ระบายความรู้สึกต่างๆ ออกมา

ทั้งองค์กรนิรโทษกรรมสากล และโคฟาวิฟ ต่างตำหนิถึงความไร้ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แต่ก็ยอมรับความจริงว่า กำลังของเจ้าหน้าที่มีน้อย โดยเฉพาะตำรวจหญิงแทบจะหาไม่ได้เลย เบอร์เดน โจลิลิเยร์ เจ้าหน้าที่ของโคฟาวิฟวัย 23 ปีบอกกับเอเอฟพีว่า “ถ้าผู้หญิงแจ้งตำรวจ พวกเธอจะถูกตั้งคำถามมากมาย ใครข่มขืน นำตัวเขามาให้เราสิ ... ตำรวจช่วยอะไรเราไม่ได้เลย”

กำลังโหลดความคิดเห็น