ข้อมูลสถิติอาชญากรรมของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2551 มีคดีข่มขืนกระทำชำเราสูงถึง 4,644 คดี น่าหวาดหวั่นและหดหู่ที่ว่าคดีส่วนใหญ่เกิดจากคนใกล้ชิดของผู้เสียหาย
การข่มขืนถือเป็นอาชญากรรมอันรุนแรงที่มีผู้หญิงตกเป็นเหยื่อ ความเจ็บปวดนั้นมีแน่ แต่จะน่าเจ็บปวดมากขึ้นอีกแค่ไหน ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งต้องถูกข่มขืนซ้ำซากจากกระบวนการยุติธรรม
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีการถกเถียง ต่อสู้ กระทั่งนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้คำนึงถึงสิทธิ อารมณ์ ความรู้สึกของผู้เสียหายที่เป็นผู้หญิง เด็ก และเยาวชน เช่น การใช้พนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิงในคดีความผิดทางเพศ การจัดให้มีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เข้ามาร่วมเยียวยาผู้เสียหาย หรือการป้องกันไม่ให้ผู้เสียหายต้องปะหน้าค่าตาจำเลย เป็นต้น
เป็นเรื่องจริงที่ว่ามันถูกบรรจุไว้ในกฎหมาย แต่ในระดับปฏิบัติการแล้ว คงไม่อาจบอกได้แบบฟันธงว่าทุกๆ พื้นที่ยึดมั่นตามกฎระเบียบนี้อย่างเคร่งครัด
ก็เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง วันนี้ เราจึงอยากนำเสนอการแปรกฎหมายสู่การปฏิบัติของ ศาลอาญาธนบุรี ที่เราต้องขอปรบมือให้
-1-
“ปกติแล้วการพิจารณาคดีอาญาต้องทำต่อหน้าจำเลย ทีนี้ปรากฏว่าคดีบางประเภท ผู้เสียหายหรือพยานเกรงกลัวจำเลย บางทีก็ไม่กล้าพูดความจริงในศาล โดยเฉพาะคดีอุกฉกรรจ์หรือคดีสำคัญ หรือคดีที่มีผู้เสียหายเป็นผู้หญิง ก็อาจจะหวาดกลัวหรือกลัวญาติของจำเลย การเบิกความต่อศาลก็อาจจะไม่กล้าพูดความจริง”
คือคำอธิบายจาก วัชรินทร์ ปัจเจกวิญญูสกุล อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี ซึ่งเป็นที่มาของการจัดทำห้องพิจารณาคดีแบบไม่เผชิญหน้าขึ้น
“เมื่อเป็นดังนั้น กฎหมายจึงแก้ว่าถ้าพยานหรือผู้เสียหายมีอายุมาก หรือมีปัญหาสุขภาพ หรือมีความเกรงกลัวจำเลย ก็สามารถขอให้ศาลพิจารณาคดีแบบไม่เผชิญหน้า หรือศาลอาจจะใช้ดุลยพินิจสืบพยานโดยไม่ให้เผชิญหน้ากันก็ได้ ซึ่งมีหลายวิธีครับ อาจใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่ที่ศาลธนบุรี เราใช้วิธีการปรับบัลลังก์ที่มีอยู่แล้วโดยการทำผนังกั้น ไม่ให้เผชิญหน้ากัน แต่ก็อยู่ต่อหน้าศาลทั้งสองฝ่าย โดยศาลจะเห็นทั้งสองฝ่าย ส่วนการที่แต่ละฝ่ายจะมองอีกฝ่ายหนึ่งได้ เราจะมีกล้องวงจรปิดที่ถ่ายจากอีกช่องหนึ่งไปอีกช่องหนึ่ง ฝ่ายจำเลยจะดูฝ่ายผู้เสียหายก็จะดูจากโทรทัศน์ที่วางอยู่ที่โต๊ะ ฝ่ายผู้เสียหายก็เช่นกัน การชี้ตัวก็ชี้จากตรงนั้น ซึ่งเป็นการลดการเผชิญหน้า”
ห้องที่ว่ามีลักษณะอย่างไร?
มันก็คือห้องพิจารณาปกติธรรมดา เพียงแต่ตรงกลางห้องจะมีผนังกั้นเกือบตลอดแนวแบ่งห้องพิจารณาคดีเป็น 2 ฝั่ง โดยฝ่ายจำเลยและญาติกับฝ่ายผู้เสียหายและญาติจะนั่งอยู่กันคนละฝั่ง ไม่สามารถข้ามไปมาได้ ยกเว้นทนายหรืออัยการ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้เสียหายไม่ต้องเผชิญหน้ากับจำเลย
-2-
เยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ ทนายความผู้มีประสบการณ์ว่าความให้กับผู้ตกเป็นเหยื่อในคดีทางเพศ บอกเล่ามุมมองของเธอ ถึงภาวะอารมณ์ความรู้สึกของผู้เสียหายในการขึ้นเบิกความต่อศาลเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมว่า
“จากประสบการณ์ของดิฉัน ดิฉันจำเป็นต้องบอกผู้เสียหายว่า ขอให้เขาเบิกความตามความเป็นจริง ต้องบอกให้เขาเตรียมตัวเตรียมใจ ว่าเขาต้องเจอกับทนายความจำเลยที่นั่งฟังอยู่ด้วย ต้องเจอทนายจำเลยซักค้านด้วยคำถามที่ไม่เหมาะสม ซึ่งถ้าผู้เสียหายมีความมั่นใจมากพอ ข้อเท็จจริงก็จะพรั่งพรูออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ดิฉันยอมรับว่า ผู้เสียหายที่ยอมเบิกความ เขามีความกล้าหาญมากในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่า หลายๆ ครั้ง เมื่อผู้เสียหายเบิกความเสร็จ การปะทะอารมณ์กันมันก็ย่อมเกิดขึ้น เช่น มีการยกเท้า ยกนิ้วให้กันด้วยความโกรธ เราเคยเห็นภาพแบบนั้น เพราะฉะนั้น หากแยกห้องกันได้ ไม่ต้องให้เห็นกันเลยก็จะดีกว่า”
ด้วยเหตุนี้ ในมุมมองของทนายความอย่างเธอ การมีห้องสืบพยานหรือห้องพิจารณาคดี ที่แยกฝ่ายจำเลยและโจทก์ออกจากกันอย่างชัดเจน จึงนับเป็นสิทธิที่ผู้เสียหายพึงได้รับ ซึ่งสิทธิที่ว่านี้ก็เป็นหลักการที่มีการรับรองไว้ตามกฎหมาย
“เด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ หรือผู้ทุพลภาพ ย่อมมีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองในการดำเนินการพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม ในคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ เพราะฉะนั้นหลักการก็คือ ต้องมีการจัดห้องที่เป็นสัดส่วน หลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้เสียหายเผชิญหน้ากับจำเลย ต้องคุ้มครองผู้เสียหายอย่างเหมาะสมตามหลักกฎหมาย และการที่ศาลอาญาธนบุรีมีการแก้ไข ก็ถือว่าเป็นการยกระดับการให้ความคุ้มครองผู้เสียหายขึ้นอีกระดับหนึ่ง เพราะโดยปกติแล้ว ผู้เสียหายมักจะมีความกรงกลัวจำเลย”
-3-
การพิจารณาคดีแบบไม่เผชิญหน้า ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายอยู่ในห้องพิจารณาคดีเท่านั้น แต่หมายถึงตลอดระยะเวลาที่ทั้งสองฝ่ายอยู่ในศาล วัชรินทร์อธิบายเพิ่มเติมถึงระเบียบวิธีการปฏิบัติปลีกย่อยที่จะช่วยให้ผู้เสียหายไม่ต้องเผชิญกับจำเลยว่า
“ทางเราก็ได้ทดลองใช้กับคดีเกี่ยวกับเพศหรือคดีในครอบครัว ผู้เสียหายก็รู้สึกปลอดภัย กล้าพูด ไม่หวาดกลัว เพราะวิธีนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะในห้องพิจารณา แต่หมายถึงตั้งแต่มาถึงที่ศาลเลย เราจะกันไม่ให้เขาเจอกัน ให้ผู้เสียหายหรือพยานนั่งอยู่ในห้องพักพยานที่เราจัดไว้ต่างหาก พอถึงเวลาเราถึงไปเชิญออกมา เมื่อเบิกความเสร็จเราก็จะให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพาจำเลยและญาติออกไปก่อน เราจึงจะให้ฝ่ายผู้เสียหายกลับออกมาได้ก็คือจะไม่มีโอกาสเจอกัน”
ขณะเดียวกันก็มีแนวปฏิบัติในห้องพิจารณาคดีด้วยว่า ห้ามมิให้ฝ่ายจำเลยพูดหรือส่งเสียงดังเพื่อข่มขู่ผู้เสียหาย เนื่องจากทั้งสองฝ่ายจะได้ยินคำให้การของแต่ละฝ่าย ดังนั้น ถ้าปล่อยให้จำเลยใช้เสียงที่แสดงอาการข่มขู่ผู้เสียหายได้ ก็ไม่รู้จะกั้นไปทำไม
-4-
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจมีคำถามว่า แค่การกั้นห้องไม่ให้แต่ละฝ่ายเห็นหน้ากัน เพียงพอแล้วหรือที่จะปกป้องสิทธิและดูแลจิตใจผู้เสียหาย เพราะยังไงๆ ผนังก็เป็นเรื่องเชิงกายภาพ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือขั้นตอนการค้นหาความจริงในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่วัชรินทร์ตระหนักดี
“จริงๆ แล้วมันต้องทำทั้งกระบวนการ ที่นี่ ผมเอาเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจนถึงผู้พิพากษาไปอบรมเรื่องเพศสภาวะ เรื่องสิทธิของหญิง-ชาย ผมพยายามจะทำให้ศาลมีบรรยากาศที่เป็นมิตรกับผู้หญิง กับเด็ก ไม่อย่างนั้นมันก็จะได้แต่บัลลังก์ แต่เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ มันก็ไม่มีประโยชน์ เราจึงต้องแก้ที่บุคลากรด้วย”
สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง เล่าประสบการณ์ในห้องพิจารณาคดีว่า อัยการจะถามพยานและผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้หญิง โดยให้พยานหันไปมองหน้าจำเลยที่อยู่ในห้องเดียวกัน ซึ่งในคดีทำร้ายร่างกาย ข่มขืน หรือคดีสะเทือนขวัญ เมื่อทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน ผู้เสียหายจะหวาดกลัวจำเลย โดยแสดงอาการเหมือนช่วงที่เกิดเหตุการณ์หรือในขณะที่ถูกกระทำ คือช็อก ตกใจ กลัว ร้องไห้ และหวาดผวา จนพูดไม่ออก จึงให้การไม่ได้
“เราขอร้องศาลว่า ไม่อยากให้พยานพบหน้าจำเลย จึงให้ศาลจัดห้องพิเศษให้ ซึ่งศาลในบางจังหวัดก็เห็นใจ จัดห้องให้ แต่บางจังหวัดให้เหตุผลว่า อายุมากแล้ว ไม่ใช่เด็ก จึงไม่ให้ใช้ห้องสืบพยานเด็ก และมีหลายครั้งที่ทนายจำเลยใช้กลวิธีในการทำให้พยานสับสนหรือหวาดกลัวต่อคำถาม ซึ่งจริงๆ แล้ว ควรถามคำถามผ่านทางนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์มากกว่า”
เธอทราบเป็นอย่างดีในเรื่องที่ศาลอาญาธนบุรี จัดให้มีห้องพิจารณาคดีไม่เผชิญหน้ากับจำเลย และยกมือเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งหากศาลทั้งหมดในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดทุกแห่งจะปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน
“ศาลอาญาธนบุรีคงต้องการสร้างกระบวนการที่เป็นมิตรในการพิจารณาคดี เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับความสะดวกและเกิดความมั่นใจ สามารถเอาคนผิดตัวจริงมาลงโทษได้ และวิธีนี้จะนำไปสู่การลดจำนวนผู้กระทำความผิดในอนาคตได้ แต่ว่าห้องพิจารณาคดีในศาลแห่งอื่นอาจไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียวกับของศาลอาญาธนบุรีก็ได้ เพราะศาลทุกจังหวัดมีห้องสืบพยานเด็ก ซึ่งอาจอนุโลมใช้ห้องสืบพยานเด็กได้”
สุเพ็ญศรีเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ศาลต้องเข้าใจความละเอียดอ่อนในมิติหญิง-ชาย และกระบวนการพิจารณาที่เป็นมิตร เข้าใจผู้เสียหาย เข้าใจจำเลย ใช้หลักการพิจารณาโดยนำไปสู่การบำบัดฟื้นฟู ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำให้สามารถกลับไปเป็นคนดีในสังคม ไม่ทอดทิ้ง เพราะในคดีพยายามฆ่าหรือทำร้ายร่างกาย จำเลยและผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้หญิงและผู้ชายมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เช่น เป็นสามีภรรยากัน จะมีความเป็นเจ้าของ การหึงหวง อาจมีการตามมาทำร้ายหลังจำเลยได้รับการประกันตัว
ส่วนเจ้าหน้าที่และบุคลากรของศาลก็ต้องเข้าใจความละเอียดอ่อนแห่งมิติความเป็นหญิงและชาย
“ต้องผ่านการอบรมโดยศาลยุติธรรม สถาบันวิชาการของตุลาการ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในระหว่างการพิจารณาคดี ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องมาตรการหรือวิธีการในการไกล่เกลี่ยก็ต้องมีความละเอียดอ่อน เข้าใจและตระหนักในมิติความเป็นหญิงและชาย การไกล่เกลี่ยต้องทำอย่างเป็นมิตร โดยเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายโจทย์และจำเลย เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการพิจาณาคดีอย่างเท่าเทียมกัน หลังการตัดสินพิพากษาคดีในศาล ควรมีกระบวนการบำบัดเยียวยาด้วย”
ต้องถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ศาลอาญาธนบุรีได้ริเริ่มการพิจารณาคดีแบบไม่เผชิญหน้า ที่จะช่วยให้ผู้เสียหายจากคดีทางเพศไม่ต้องตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวยามต้องเผชิญหน้าจำเลย
แต่จะดียิ่งขึ้น หากกระบวนการยุติธรรมจะปรับเปลี่ยนให้เป็นมิตรกับผู้เสียหายทั้งกระบวนการ เป็นมาตรฐานเดียวกัน และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจนถึงชั้นศาล เพื่อไม่ให้เธอเหล่านั้นต้องถูกทำร้ายซ้ำซากดังที่ผ่านมา
**********
เรื่อง-ทีมข่าว CLICK
ภาพ-วรวิทย์ พานิชนันท์