สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้ง “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ปราบปรามผู้มีอิทธิพล มาเฟีย เรียกเก็บเงินวิน จยย.แม่ค้าแผงลอย และแท็กซี่สนามบิน ตามนโยบายลดอาชญากรรม 10-20% ภายใน 3 เดือน
วันนี้ (20 ม.ค.) เมื่อเวลา 17.30 น.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นายสังศิต พิริยะ รังสรรค์ หัวหน้าคณะติดตามนโยบายประชาภิวัฒน์ เรื่องเศรษฐกิจนอกระบบ ได้เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.และผู้บริหารระบบสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนการทำงานในการลดอาชญากรรม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยได้เข้าหารือประมาณ 1 ชั่วโมง
นายสังศิต กล่าวภายหลังหารือ ผบ.ตร.ว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมการทำงานเรื่องนี้ขึ้นมาแล้ว โดยมี พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบช.น.เป็นหัวหน้า และมี พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิ์พร เป็นรองหัวหน้า พร้อมทั้งมีการตั้งโฆษกเฉพาะเพื่อดูแลในเรื่องนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลเรื่องปัญหาของพี่น้องประชาชนที่ยังมี ความกังวล เรื่องของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แม่ค้าแผงลอย แท็กซี่ เพราะมีผู้มีอิทธิพลเข้าไปเก็บเงินสร้างความเดือดร้อน อย่างแท็กซี่ก็มีกลุ่มคนมีสี ซึ่งไม่ใช่ตำรวจทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพลเรียกเก็บเงินในสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และสถานีขนส่งต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ทาง ผบ.ตร.ได้ตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ปรึกษา (สบ10) เข้าไปดูแล นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ทางตำรวจจะต้องประสานกับทาง กทม.ในการตีเส้นเหลือง เพื่อเป็นจุดผ่อนผันให้กับผู้ค้า
“เป้าหมายจะลดอาชญากรรมให้ลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 3 เดือน และ 20 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 6 เดือน ซึ่งก็ได้เริ่มทำงานไปแล้ว 20 วัน และมีการจัดสรรงบประมาณให้เป็นการเฉพาะเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงาน ซึ่งมั่นใจว่า จะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งก็ต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นตัวเลขที่ออกมาว่าลดอาชญากรรมได้จริง ซึ่งตรงนี้ต้องให้สื่อมวลชนเป็นตัวแทนของภาคประชาชนในการตรวจสอบการทำงาน คณะทำงานจะทำงานร่วมกับ ตร.โดยจะประเมินตัวเลขทุกสัปดาห์ในวันศุกร์และรายงาน ให้นายกรัฐมนตรีทราบในวันจันทร์ ซึ่งหลังจากทำใน กทม.แล้วก็จะทยอยออกไปตามต่างจังหวัด” นายสังศิต กล่าว
ด้าน พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากจะประเมินการลดอาชญากรรมด้วยตัวเลขแล้ว เราจะประเมินความหวาดกลัวอาชญากรรมของประชาชนด้วย ซึ่งได้ผลมากในอเมริกาโดยจะมีองค์กรกลางมาประเมินอาจเป็นสถาบันการศึกษาใน พื้นที่ ซึ่งตรงนี้ทางตำรวจนครบาลต้องไปศึกษารูปแบบอีกที
ขณะที่ พล.ต.ต.วรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการเคอร์ฟิวเด็กนั้น ขอชี้แจงว่า ไม่มีการเคอร์ฟิวเพราะไม่มีกฎหมายห้ามให้เด็กออกนอกบ้าน แต่เป็นลักษณะของการพิทักษ์เด็ก ไม่ให้เด็กอยู่ในสถานที่เหมาะสมหลัง 4 ทุ่ม อย่างร้านเกม โต๊ะสนุกเกอร์ เป็นต้น ถ้าตำรวจพบเด็กอยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสมหลัง 4 ทุ่ม ก็จะส่งเด็กกลับบ้าน หรือแจ้งให้ผู้ปกครองรับทราบมารับตัวไป ซึ่งหากผู้ปกครองรู้พฤติกรรมเด็กแล้วยังปล่อยให้เด็กทำผิดซ้ำก็มีความผิดด้วย ซึ่งมาตรการนี้ก็ได้มีการเรียกผู้ประกอบการในพื้นที่มาชี้แจงทำความเข้าใจ ให้เข้าใจตรงกันว่า ไม่ได้เคอร์ฟิวเด็ก และไม่ได้ใช้คำนี้ เป็นการเข้าใจผิด แต่มาตรการนี้ต้องการให้เด็กเดินอยู่นอกบ้านด้วยความปลอดภัย และนอกจากโครงการนี้ ทาง บช.น.ก็ได้ขับเคลื่อนโครงการอื่นๆ ไปแล้ว