xs
xsm
sm
md
lg

“อัยการ” จ่อยื่นศาลตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ “แม้ว” 4.6 หมื่นล้าน!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ทักษิณ ชินวัตร ต้องโทษคดีอาญา 2 ปี และถูกยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน
รองอัยการสูงสุด เผย หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องคดียึดทรัพย์ “ทักษิณ” จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท ร่วมถกกับอัยการ คาดพิจารณามอบหมายอัยการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาออกหมายบังคับคดี-ตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ก่อนวันที่ 26 มี.ค.ชี้ เป็นสิทธิ์ “ครอบครัวแม้ว” ยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน

วันนี้ (24 มี.ค.) นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด ในฐานะรับผิดชอบคดีที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กล่าวถึงการยื่นคำบังคับคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งพิพากษาให้ยึดทรัพย์สิน จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัว ว่า ตามหลักการเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วก็ได้ออกคำบังคับคดีไว้ในท้ายคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตาม โดยอัยการจะยื่นคำร้องขอศาลให้ออกหมายบังคับคดี และตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เช่นเดียวกับคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว ระบุว่า ให้ยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวในบัญชีเงินฝากธนาคารใด สาขาใด จำนวนเท่าใดบ้าง ซึ่งตัวความคดีนี้คือคณะกรรมการ คตส.ได้มีคำสั่งให้ยึดอายัดทรัพย์สินไว้ก่อนศาลฎีกาพิพากษาแล้ว ซึ่งเมื่อ คตส.หมดวาระไปก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปดำเนินการติดตามทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ยึดตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งแทบไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะทรัพย์สินถูกอายัดแล้ว

นายวัยวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ตนทราบว่าช่วงเช้าวันนี้ (24 มี.ค.) ทางกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กรมบังคับคดี ป.ป.ช.และอัยการจะประชุมร่วมกัน ซึ่งคาดว่าที่ประชุมจะมอบหมายให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาออกหมายบังคับคดี และตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ก่อนวันที่ 26 มี.ค.นี้

นายวัยวุฒิ กล่าวถึงการยื่นอุทธรณ์คดียึดทรัพย์ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวต่อศาลฎีกาฯ ว่า เป็นสิทธิของคู่ความที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ได้ตามกฎหมายภายใน 30 วัน นับตั้งแต่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ โดยศาลฎีกาฯ จะประชุมใหญ่เลือกองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 5 คน มาพิจารณาอุทธรณ์ว่ามีพยานหลักฐานใหม่ปรากฏถูกต้องที่จะทำให้ศาลฎีกาต้องรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาหรือไม่ หากไม่ปรากฏพยานหลักฐานใหม่องค์คณะจะมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ซึ่งขั้นตอนนี้ไม่เกี่ยวกับอัยการ แต่หากศาลฎีกามีคำสั่งรับอุทธรณ์ก็จะมีคำสั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อัยการแก้อุทธรณ์ของคู่ความ
กำลังโหลดความคิดเห็น