สรรพากรได้เข้าไปอายัดทรัพย์สินของ “โอ๊ค-เอม” เรียบร้อยแล้ว ทั้งในส่วนของหุ้น ที่ดิน และหน่วยลงทุน ซึ่งปรากฏชื่อของบุคคลทั้งสอง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยเป็นการอายัดเพิ่มเติมจากเดิม 1.2 หมื่นล้าน ซึ่งต้องมีการคิดเบี้ยปรับอีก 1.5% ต่อเดือน มั่นใจเพียงพอนำมาชำระภาษีค้างจ่ายซื้อขายหุ้นชินคอร์ป
นายวินัย วิทวัชการเวช อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า หลังจากศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 46,300 ล้านบาท จากที่อายัดไว้จำนวน 76,000 ล้านบาท ขณะนี้กรมสรรพากรได้เข้าไปสั่งอายัดทรัพย์สินหลายรายการที่เป็นชื่อของ นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ค้างจ่ายภาษีจากการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประมาณ 5,700 ล้านบาทต่อราย เอาไว้เพิ่มเติมแล้ว ทั้งในส่วนของหุ้นและที่ดิน ในชื่อบุคคลทั้งสองมูลค่า 1,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ กรมสรรพากรได้เข้าอายัดทรัพย์สินที่เป็นหน่วยลงทุนทุกประเภท จากเดิมที่อายัดไว้เพียงบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์เท่านั้น เนื่องจากเกรงว่าจะเงินในบัญชีที่เคยสั่งอายัดไว้ จะถูกยึดทรัพย์ตามคำสั่งของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่สั่งยึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัวเป็นจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท
“ขณะนี้คงต้องรอคณะกรรมการซึ่งปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครอง เช่น อัยการ ป.ป.ช. พิจารณาว่าจะดึงเงินบัญชีเงินฝากใดบ้าง เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลที่ให้ยึดเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท ดังนั้น กรมสรรพากรจึงได้ตรวจสอบทรัพย์สินของนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา เพิ่มเติมทั้งหุ้น หน่วยลงทุน เพื่อให้ครอบคลุมสำหรับการดำเนินคดี เนื่องจากทั้ง 2 คน มีเบี้ยปรับและภาระภาษีจำนวน 5,700 ล้านบาทต่อราย”
ทั้งนี้ การอายัดทรัพย์เพิ่มเติมดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อให้ครอบคลุมหนี้ภาษี และภาระดอกเบี้ยที่บุคคลทั้งสองต้องจ่ายให้แก่กรมสรรพากร รวมเป็นวงเงินกว่า 12,000 ล้านบาท เชื่อว่าทรัพย์สินที่อายัดไว้ทั้งหมด จะเพียงพอที่จะนำมาชำระภาษีค้างจ่าย
โดยก่อนหน้านี้ กรมสรรพากร ได้ขออายัดเงินในบัญชีของ นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา เป็นเงินจำนวน 36,000 ล้านบาท โดยเม็ดเงินที่ทั้งสองค้างชำระภาษีในขณะนี้ มีอยู่จำนวนประมาณ 12,000 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นจนกว่าทั้งสองคนจะนำเงินมาชำระ เพราะต้องเสียค่าเบี้ยปรับอีก 1.50% ต่อเดือน
อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงเพิ่มเติมว่า หน้าที่ของกรมสรรพากร คือ การสอบสวนทรัพย์ เพื่ออายัดทรัพย์สินที่ตรวจพบว่ามี ซึ่งขณะนี้กรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมต่อไป