xs
xsm
sm
md
lg

ศาลถก “ป.ป.ช.” ตั้ง กก.สอบผู้พิพากษาออกหมายจับมิชอบ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา
ศาลระดมสมองวางบรรทัดฐานคุ้มครองผู้พิพากษา หลัง ป.ป.ช.ตั้ง กรรมการสอบผู้พิพากษาจังหวัดอยุธยาออกหมายจับมิชอบ “สุนัย มโนมัยอุดม” อดีตอธิบดีดีเอสไอ พร้อมเตรียมนัดประชุม ก.ต.วาระพิเศษ สรุป กฎหมาย ป.ป.ช.ขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่ 6 มี.ค.นี้

วันนี้ (4 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เพื่อพิจารณากรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งกรรมการสอบสวนและแจ้งให้ นายอิทธิพล โสขุมา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปชี้แจ้งข้อกล่าวหา กรณีอนุมัติหมายจับนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมิชอบ ในคดีหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในที่ประชุมนั้นเปิดให้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

โดย นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ ก.ต.เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ม.197 กำหนดว่า การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจอิสระของผู้พิพากษา ถ้าไม่มีการทุจริต ป.ป.ช.ไม่สามารถตั้งกรรมการสอบผู้พิพากษาได้ อีกทั้งตามกฎหมาย ป.ป.ช.กรณีที่จะตั้งกรรมการต้องเป็นกรณีที่ไม่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในชั้นศาล ซึ่งคดีนี้อยู่ระหว่างฎีกา และผู้พิพากษามีเอกสิทธิ์และการคุ้มครองเมื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาคดี

นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ม.150 บัญญัติผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาคดีแล้ว ใน ม.220 วรรคสอง ยังบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าการลงโทษผู้พิพากษาต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ต.เท่านั้น แสดงว่าองค์กรอื่นไม่มีอำนาจที่จะลงโทษผู้พิพากษา จึงเห็นว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจออกหมายเรียกไต่สวน หรือลงโทษผู้พิพากษา โดยอยากให้ที่ประชุมพิจารณาว่า พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ม.197 ที่บัญญัติอำนนาจอิสระของผู้พิพากษา และ ม.220 บัญญัติเรื่องการลงโทษผู้พิพากษาหรือไม่ ซึ่งหากขัดแย้งต้องเป็นโมฆะ ตามรัฐธรรมนูญ ม.6

นายมนตรี ยอดปัญญา รองประธานศาลฎีกา เห็นว่า ผู้พิพากษามีองค์กร ก.ต.ดูแลความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และในรัฐธรรมนูญทุกฉบับหรือแม้แต่หลักสากลในระบบกระบวนการตรวจสอบ ผู้พิพากษาไม่พึงถูกฟ้อง หรือถูกกล่าวหาในการกระทำหรือการชี้ขาดในอำนาจหน้าที่โดยเด็ดขาด หากมีผู้ฟ้องผู้พิพากษาอ้างว่าตัดสินลำเอียงหรือเหตุอื่นโดยปราศจากการทุจริต โดยศาลจะไม่รับฟ้องซึ่งเป็นหลักเบื้องต้นที่จะคุ้มครอง เหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีมากมายจึงตรวจสอบกันเป็นทอดๆ โดยแต่ละองค์กรอาจจะไม่รู้อำนาจที่แท้จริงว่ามีหรือไม่

นายธนรัตน์ ทั่งทอง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ภาค 4 เห็นว่า การออกหมายจับครั้งนี้เป็นการทำหน้าที่ตุลาการ และกระทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ ดูตามเหตุผลและการตรวจสอบเบื้องต้นเห็นได้ชัดว่ามีเหตุในการออกหมายจับ

นายประทีป เฉลิมภัทรกุล ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา เห็นว่า ถ้ามองว่ากรณีการปฎิบัติหน้าที่ของนายอิทธิพลเป็นการปฎิบัติตามหน้าที่ ออกหมายมีเหตุมีผลมีหลักฐาน ถือได้หรือไม่ว่าปฎิบัติตามหน้าที่ของตุลาการที่ควรได้รับความคุ้มครอง

นายมานัส เหลืองประเสริฐ ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญของ ก.ต.เพราะเป็นปัญหาส่วนรวมของผู้พิพากษา ถ้า ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนผู้พิพากษา และเรายอมให้เรียกไปไต่สวนทุกครั้ง หมายความว่าทุกคดีที่ผู้พิพากษาตัดสินให้มีการแพ้ชนะคดี ฝ่ายที่แพ้ก็จะร้องเรียน ป.ป.ช.ทุกครั้ง การเรียกผู้พิพากษาไปไต่สวน เห็นว่าเป็นโทษอย่างหนึ่ง เท่ากับผู้พิพากษาต้องถูกกระทบกระเทือน ไม่มีกำลังใจทำงาน

นายมานิตย์ สุขอนันต์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้น นายสุนัย ซึ่งเคยเป็นผู้พิพากษาไม่ควรกระทำเช่นนี้ ที่จะเป็นการร้องเรียนโดยปราศจากเหตุผล ตามประกาศ ก.ต.เรื่อง จริยธรรม ก.ต.พ.ศ.2552 ข้อ 35/1 หรือไม่ ไปจนถึง ป.ป.ช.ที่มีอดีตผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ ที่น่าจะทราบประเพณีปฎิบัติในการทำงานและข้อกฎหมายต่างๆ ทราบมาว่า ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ให้ตั้งกรรมการสอบผู้พิพากษา เป็นการลุอำนาจหรือไม่

นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ประธานแผนกผู้บริโภคในศาลฎีกา เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ว่ากฎหมาย ป.ป.ช.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์กันอีก และขอตั้งขอสังเกตมาตราต่าง ๆ ว่าข้าราชการฝ่ายตุลาการจะไม่อยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.จริงหรือ

นายบวร กุลทนันทน์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า หากวิเคราะห์ตามคำถามของนายอิทธิพล หารือควรไปพบ ป.ป.ช.หรือไม่ ต้องดูรายละเอียดพิจารณาให้รอบครอบ ถ้าฟังได้ว่า ป.ป.ช. ตั้งกรรมการขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผลใดๆ เลย ก็น่าจะไม่ชอบ เมื่อกระบวนการไม่ชอบตั้งแต่ต้นก็ไม่จำเป็นต้องไป

นายไพโรจน์ วายุภาพ รองประธานศาลฎีกา เห็นว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาของ ก.ต.เป็นปัญหาขององค์กร จึงอยากให้สำนักงานศาลยุติธรรมศึกษาข้อกฎหมายให้ชัดเจน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา ได้นัดประชุม ก.ต.วาระพิเศษในวันที่ 6 มีนาคม ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อฟังความเห็นของ ก.ต.ทุกคน และพิจารณาลงมติในประเด็นการอภิปรายข้างต้น อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. ขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่ การกระทำของ ป.ป.ช.ลุแก่อำนาจ ที่จะผิด ป.อาญา ม.157 หรือไม่ และประเด็นต่างๆ เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น