xs
xsm
sm
md
lg

คำพิพากษา กับ ความยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม
ภายหลังจากมีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาในคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงทำให้มีผู้เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย พอใจและไม่พอใจ นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม จึงได้นำเสนอบทความเรื่อง คำพิพากษา กับ ความยุติธรรม โดยเนื้อหาสาระดังนี้


ในที่สุดวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 คดีประวัติศาสตร์ที่อยู่ในความสนใจของชาวไทยและต่างประเทศคือคดีหมายเลขดำที่ อม 14/2551 ระหว่างอัยการสูงสุด ผู้ร้อง พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร กับพวกผู้คัดค้าน เรื่องขอให้ทรัพย์สินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ก็ได้คำตอบสุดท้ายจากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาลพิพากษาให้ยึดทรัพย์สินพันตำรวจโททักษิณ จำนวน 46,373,687,454.70 บาท และคืนให้จำนวน 30,247,915,606.35 บาท ซึ่งคำพิพากษาของศาลได้อรรถาธิบายประเด็นตามคำร้องและข้อต่อสู้ของคู่ความทุกฝ่ายโดยละเอียดถี่ถ้วนทุกแง่มุมแล้วผลพวงจากคำพิพากษาดังกล่าวย่อมมีผู้เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย พอใจและไม่พอใจ ฝ่ายที่เห็นด้วยและพอใจก็บอกว่าคำพิพากษามีความยุติธรรมดีแล้ว ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและไม่พอใจก็จะกล่าวหาว่าคำพิพากษาไม่ยุติธรรม อันเป็นปรากฏการณ์ปกติธรรมดาของคดีที่มีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ในสังคมประชาธิปไตยที่ยังมีการแบ่งขั้วแบ่งข้างกันอย่างชัดเจนไม่ว่าความรู้สึกของผู้คนในสังคมจะเป็นประการใดหรือมีผู้ใดกล่าวหาว่า

ศาลถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือด้วยข้อกล่าวหาทางร้ายใดๆ ก็ตาม ศาลยุติธรรมขอบอกกล่าวให้สังคมและประชาชนเชื่อมั่นว่าองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 ท่านของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ชี้ขาดตัดสินคดีบนฐานคติแห่งความบริสุทธิ์ ยุติธรรมเป็นกลาง อิสระ ปราศจากอคติ ไม่มีผู้ใดมาชี้นำครอบงำหรือมีอิทธิพลเหนือองค์คณะทั้ง 9 ท่านได้ ไม่ว่าในคดีนี้และคดีอื่นทุกคดี เพราะหากองค์คณะผู้พิพากษาถูกครอบงำมีอคติต่อพันตำรวจโททักษิณผู้ถูกกล่าวหากับพวก เชื่อว่าคำพิพากษาน่าเป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกกล่าวหามากกว่านี้ และคงไม่มีเสียงข้างมากข้างน้อยในองค์คณะผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีเป็นแน่ ส่วนผู้ที่กล่าวอ้างว่า “ศาลตัดสินคดีโดยมีเบื้องหลัง” ก็ขอได้โปรดนำหลักฐานมาแสดงให้ปรากฏในเบื้องหน้าอย่าพูดจาเลื่อนลอยให้สังคมสับสนเพื่อทำลายความเชื่อถือสถาบันตุลาการโดยขาดความรับผิดชอบและสุ่มเสี่ยงต่อความรับผิดตามกฎหมาย

อีกประการหนึ่งศาลมีหน้าที่ตัดสินความทำความจริงให้ปรากฏตามข้อกล่าวหาในคำฟ้องหรือคำร้อง ส่วนประชาชนมีหน้าที่ตัดสินพฤติกรรมถูกผิดดีชั่วของคู่ความที่ศาลตัดสิน ศาลไม่เคยฉ้อฉลปล้นทรัพย์คู่ความมาเป็นสมบัติหรือประโยชน์ส่วนตน แต่มีหน้าที่ติดตามเอาทรัพย์ที่ถูกคนร้ายปล้นไปกลับคืนแก่ผู้เสียหาย ประเทศชาติและประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริง

แม้คำพิพากษาคดีนี้จะถึงที่สุดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 278 วรรคสองและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 แต่กฎหมายก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้ต้องพิพากษาสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 278 วรรคสาม และระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ พ.ศ. 2551 ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่า 1.ต้องเป็นพยานหลักฐานที่ยังไม่เคยปรากฏอยู่ในสำนวนคดีที่ผู้ต้องคำพิพากษาได้ยื่นอุทธรณ์ 2.ต้องเป็นพยานหลักฐานสำคัญและผู้ต้องคำพิพากษาไม่รู้หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ว่า พยานหลักฐานดังกล่าวที่มีอยู่และจะต้องนำมาแสดงเพื่อประโยชน์ของตนและ 3.หากรับฟังพยานหลักฐานใหม่เช่นว่านั้นแล้วจะทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้องหรือยกคำร้องได้ ดังนั้นการอุทธรณ์จึงเป็นข้อยกเว้นที่ประกอบด้วยเหตุผลพิเศษที่ผู้ต้องคำพิพากษาต้องแสดงให้ปรากฏต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานั่นเอง

วันนี้ศาลยุติธรรมน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมและประชาชนในผลคำพิพากษาและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาทุกคน ขอเพียงให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ จริงใจ สร้างสรรค์เยี่ยงปัญญาชน หรือตามหลักวิชาการที่ปราศจากอคติเจือปน และอย่าพูดจาบิดเบือนโดยฝ่าฝืนต่อความจริง ถึงวันนี้ศาลยุติธรรมก่อตั้งมา 128 ปี ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสังคมเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ ระงับข้อพิพาทขัดแย้งของสังคมและประชาชน เป็นเสาหลักสำคัญของชาติบ้านเมืองโดยไม่หวั่นเกรงต่ออิทธิพลใดๆ จึงอยากให้ทุกคนที่รักประเทศชาติช่วยกันปกป้องผดุงรักษาสถาบันตุลาการซึ่งเป็นสมบัติของประชาชนด้วยการสื่อสารความจริงที่ถูกต้องให้แก่ผู้คนทั้งหลายในสังคมไทยและประชาคมโลก เพื่อให้สถาบันตุลาการมีความเป็นอิสระ เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมและอยู่เคียงคู่สังคมไทยอย่างสง่างาม ไม่ตกเป็นจำเลยหรือเชลยที่แปดเปื้อนมลทิน มัวหมองอย่างไร้พยานหลักฐานและเหตุผลจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีอคติเจตนาร้ายต่อศาลและกระบวนการยุติธรรมไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น