xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อมั่นสถาบันศาล ไม่รับสินบน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชื่อมั่นสถาบันศาล ไม่รับสินบน!

"กระแสข่าวใช้เงินหลักพันล้านพลิกคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นบ้านบาท "วิรัช ชินวินิจกุล"เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยอมรับว่า ถือเป็นเรื่องดี ที่ทำให้ผู้พิพากษาต้องระมัดระวังการพิพากษาคดีให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสถาบันศาล ว่าไม่รับสินบน"

“ขณะนี้มีกระแสข่าวที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก ในทุกวงการทั้งฝ่ายวิชาการ นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ แม้กระทั่งในแวดวงตุลาการว่า มีความพยายามที่จะใช้เงินถึงหลักพันล้านบาท เพื่อใช้ในการพลิกคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน เนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษา มี 9 ท่าน กระแสข่าวพยายามเข้ามาแทรกแซงให้ได้เพียง 5 ท่านๆ ละ 1-5 พันล้านบาท เพื่อแลกกับเงิน 7.6 หมื่นล้าน ซึ่งตรงนี้จะเห็นได้จากพฤติกรรมของนักโทษทั้งคดีประวัติศาสตร์ 8:7 กล่องขนม 2 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลก็น่าจะเข้าไปตรวจสอบ”

นั่นคือคำพูดของ"สำราญ รอดเพชร"ที่วันนี้ทุกฝ่ายกำลังให้ความสำคัญ โดยแต่ละคน ต่างมีมุมมองที่แตกต่างกันไป

บ้างก็ไม่เชื่อ

บ้างก็ว่ากุข่าว

บ้างก็ว่าเป็นการดิสเครดิตผู้พิพากษา

บ้างก็พูดไกลไปว่า สำราญ หมิ่นศาล หรือไม่

จากกระแสข่าวที่หลุดออกจากปาก"สำราญ รอดเพชร"อดีตคนข่าวแถวหน้าของเมืองไทย ที่หากพูดชื่อ"สำราญ รอดเพชร"เชื่อว่า ผู้สื่อข่าวเกือบทั้งหมดต้องรู้จัก พร้อมกับพูดว่า พี่ราญ แหล่งข่าวเขาแน่นมาก แต่วันนี้"สำราญ"นั่งในบทบาทโฆษกพรรคการเมืองใหม่ โฆษกที่ยังทำการบ้านเกี่ยวกับเรื่องข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา ไม่เหมือนกับโฆษกพรรคการเมืองอื่นๆที่ ตัดเอาข่าวตามสื่อ มาแถลงข่าวรายวัน

วันนี้หากตอบโจทก์ว่า"สำราญ รอดเพชร"หมิ่นศาลหรือไม่?

"วิรัช ชินวินิจกุล" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พูดชัดว่า ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ซึ่งการจะดำเนินการต้องพิจารณาว่าผู้พูดมีเจตนาอย่างไร พร้อมกับพูดว่าองค์คณะผู้พิพากษาไม่ได้หวั่นไหว ขณะที่ข่าวการวิ่งเต้นเสนอสินบนไม่เป็นจริง ทางกลับกันมองว่าเมื่อมีข่าวออกมาแรง ยิ่งทำให้ผู้พิพากษาต้องระมัดระวังการพิพากษาคดีให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น

"ประสพสุข บุญเดช" ประธานวุฒิสภา อดีตผู้พิพากษาผู้ใสสะอาด ท่านเชื่อมั่นในสถาบันตุลาการ โดยยืนยันว่าไม่มีใครวิ่งเต้น หรือโน้มน้าวจิตใจศาลทั้ง 9 คนได้ และหากดูรายชื่อทั้ง 9 ท่านแล้วตนเชื่อมั่น

ส่วนประเด็น"สำราญ"ดูหมิ่นศาลหรือไม่"ท่านประสพสุข"เห็นว่า ก็ไม่ได้มีการระบุชื่อ แต่เป็นเพียงข่าวปล่อย เพราะฉะนั้นอย่าคิดอะไรมาก เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งหลังการพิจารณาคดีก็คงได้ข้อยุติส่วนหนึ่ง หากทุกฝ่ายฟังคำวินิจฉัยของศาลได้ก็จบ

อย่างไรก็ตาม หลังประเด็นกระแสข่าวเสนอเงินล้มคดียึดทรัพย์ สังคมกำลังให้ความสนใจ จึงทำให้อดคิดถึง คดีดำ ลอ.1/2551 หมายเลขแดงที่ 4599/2551 ความแพ่ง ระหว่างนายอนันต์ วงศ์ประภารัตน์ เลขานุการศาลฎีกา ผู้กล่าวหา และนายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร , น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ เสมียนทนายความ และนายธนา ตันศิริ ผู้ประสานงานคดี พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 เรื่องละเมิดอำนาจศาล

เพราะคดีนี้ศาลตัดสินจำคุก 3 จำเลย โดยที่เนื้อหาบางตอนในคำพิพากษา ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

กล่าวคือ...ปัญหาที่ศาลวินิจฉัยในประการสุดท้าย มีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นความผิดละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ศาลเห็นว่า เงินที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มอบให้ ม.ล.ฐิติพงศ์ ชมพูนุช นิติกรประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อนำไปแบ่งกันกับเจ้าหน้าที่ในแผนกมีจำนวนมากถึง 2,000,000 บาท แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามมีเจตนาที่จูงใจให้ ม.ล.ฐิติพงศ์ และเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 (คดีที่ดินรัชดา)

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1),33 ประกอบประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 83 และน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทายและเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ประกอบอาชีพทนายความ และที่ปรึกษากฏหมาย ย่องตระหนักดีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาล ยุติธรรมและจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาคนละ 6 เดือน ส่วนความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าหน้าที่พนักงาน นั้น ให้ผู้กล่าวหาไปดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

แม้วันนี้ คดีติดสินบนศาล จะ(สะดุดหยุดอยู่) ในขั้นตอนการสอบสวนของตำรวจก็ตามที

แต่สำหรับสาระสำคัญในคำพิพากษาคดีละเมิดอำนาจศาล ที่ 3 ทนายความของ"ทักษิณ และ พจมาน"ติดคุก 6 เดือนนั้น ศาลได้ตั้งข้อสังเกตุไว้อีกว่า....นายพิชิต เป็นทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ส่วน น.ส.ศุภศรี เป็นเสมียนทนายและเลขานุการส่วนตัวของนายพิชิฎ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ส่วนนายธนา เป็นผู้ติดตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งวันเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน ได้มายื่นคำร้อง ขณะที่ น.ส.ศุภศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มาแจ้ง ม.ล.ฐิติพงศ์ ให้ไปพบนายธนา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ปรากฏว่า ทั้งนายพิชิต และ น.ส.สุภศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-2 อยู่ในเหตุการณ์ด้วย อีกทั้งเมื่อ ม.ล.ฐิติพงศ์ เดินเข้าไปพบนายธนา ที่ห้องพักทนายความแล้วเดินออกมาพร้อมถุงกระดาษ นายพิชิต และน.ส.ศุภศรี ก็ได้เห็นเหตุการณ์ วิสัยของคนทำงานร่วมกัน นายพิชิต จะต้องสอบถามและซักไซ้หรือบอกกล่าวให้รู้กันว่าจะนำชอคโกแลตมาให้เจ้าหน้าที่ศาลโดยไม่ต้องปิดบัง ซึ่งนายพิชิฎ เป็นหัวหน้าคณะทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน การกระทำของนายธนา ก่อนที่จะทิ้งท้ายไว้ว่า ทักษิณ และ พจมาน น่าจะมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำของ 3 จำเลย หรือไม่

ดังนั้นสิ่งที่"สำราญ"พูด ยืนยันไม่ได้มั่วนิ่ม อีกทั้งจะกระตุ้นให้สังคมจับจ้องและตรวจสอบการทำงานของฝ่ายตุลาการ รวมทั้งนักการเมืองบางคนที่ติดนิสัยซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า เพราะในสถานการณ์ที่ศาลและฝ่ายตุลาการมีบทบาทสำคัญในการคลี่คลายวิกฤติความขัดแย้งของชาติบ้านเมือง ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับการทำให้ศาลและอำนาจตุลาการได้รับความไว้วางใจ ซึ่งสอดรับกับ "วิรัช ชินวินิจกุล" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ยอมรับว่า ถือเป็นเรื่องดี ที่ทำให้ผู้พิพากษาต้องระมัดระวังการพิพากษาคดีให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพราะอดีตการต่อสู้คดีของทนายทักษิณ ถือว่า ใช้เงินเป็นตัวเดินคดี ดั่งที่ปรากฎเป็นหลักฐานคดีประวัติศาสตร์(คุก 6 เดือน 3 ทนายแม้ว)จึงนำมาสู่ความเชื่อมั่นของประชาชนว่า"สถาบันศาล ไม่รับสินบน"

กำลังโหลดความคิดเห็น