องค์คณะศาลฎีกานักการเมืองเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ลงมติยึดทรัพย์ “ทักษิณ-ครอบครัว” 4.6 หมื่นล้านจาก 7.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ 2 เสียง “ไพโรจน์ วายุภาพ รอง ปธ.ศาลฎีกา-กำพล ภู่สุดแสวง พ.อาวุโสศาลฎีกา” เห็นควรให้ยึดหมด ส่วนมติ 8 ต่อ 1 วินิจฉัย “ทักษิณ” ผิดออกนโยบาย 5 มาตรการเอื้อชินคอร์ป ด้านศาลฎีกาเตรียมเปิดคำพิพากษา-คำวินิจฉัยส่วนตัวผู้พิพากษา 9 คน เผยแพร่สัปดาห์หน้า
วันนี้ (28 ก.พ.) แหล่งข่าวผู้พิพากษา กล่าวถึงมติองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีคำสั่งให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ หรือ ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ นายพานทองแท้ น.ส.พินทองทา บุตรชายและบุตรสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ รวม 46,373,687,454.70 บาทตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ โดยให้ครอบครัวถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ออกนโยบาย 5 มาตรการเอื้อประโยชน์ธุรกิจครอบครัวว่า ก่อนหน้านี้ที่มีการระบุว่าองค์คณะผู้พิพากษาลงมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง ให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว ตกเป็นของแผ่นดินนั้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะมติ 8 ต่อ 1 ดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยประเด็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดในการใช้อำนาจออกนโยบาย 5 มาตรการหรือไม่ ส่วนการลงมติวินิจฉัยให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว จำนวน 46,000 ล้านบาทเศษนั้น องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากด้วยลงมติด้วยเสียง 7 ต่อ 2 อย่างไรก็ดีสำหรับคำวินิจฉัยส่วนตัวของผู้พิพากษาองค์คณะแต่ละคน และคำพิพากษากลางที่ลงมติให้ยึดทรัพย์นั้น จะนำไปติดเผยแพร่ที่ศาลฎีกาได้ภายในสัปดาห์หน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติองค์คณะ 8 ต่อ 1 เสียงที่วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้อำนาจขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ออกนโยบาย 5 มาตรการเอื้อประโยชน์ทำให้รัฐเสียหาย จากกรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต การแก้ไขสัญญาอัตราจัดเก็บภาษีมือถือระบบเติมเงินหรือพรีเพด ให้กับบริษัท AIS การแก้ไขสัญญาเชื่อมต่อสัญญาณ หรือโรมมิ่งให้กับบริษัท AIS การยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ขึ้นไปเป็นดาวเทียมสำรองให้กับดาวเทียมไทยคม 3 และการปล่อยกู้รัฐบาลพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาทของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือเอ็กซิมแบงค์ นั้น พบว่าเสียงผู้พิพากษา 8 คน เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กระทำผิดทั้ง 5 มาตรการ ส่วน 1 เสียงนั้นคือ ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล รองประธานศาลฎีกา เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา
ส่วนประเด็นที่วินิจฉัยเกี่ยวกับการยึดทรัพย์นั้น ปรากฏว่าผู้พิพากษาองค์คณะทั้ง 9 คน มีมติเอกฉันท์ว่าต้องให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยประเด็นที่ต้องวินิจนฉัยว่าให้ทรัพย์สินตกเป็นของจำนวนเท่าใดนั้น ผู้พิพากษาองค์คณะมีมติเสียงมาก 7 ต่อ 2 ว่าให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวนกว่า 46,000 ล้านบาท โดยการวินิจฉัยดังกล่าวผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย 2 เสียงคือนายไพโรจน์ วายุภาพ รองประธานศาลฎีกา และนายกำพล ภู่สุดแสวง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาเห็นว่าควรให้ทรัพย์สินตามคำร้องจำนวน 7.6 หมื่นล้านบาทเศษ ตกเป็นของแผ่นดิน
อย่างไรก็ดี แม้ว่า ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล จะลงมติว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่สุดท้ายองค์คณะกลับลงมติครบทั้ง 9 เสียงในประเด็นการยึดทรัพย์โดยปรากฏว่า ม.ล.ฤทธิเทพ ได้มติให้ยึดทรัพย์ด้วยนั้น เนื่องจากตามกฎหมายการลงมติของผู้พิพากษาองค์คณะ ต้องออกเสียงตัดสินทุกประเด็น ไม่สามารถงดออกเสียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้ จึงปรากฏว่า ม.ล.ฤทธิเทพ ได้ลงมติเป็น 1 ใน 7 เสียงข้างมากให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว จำนวน 46,000 ล้านบาทเศษดังกล่าว