xs
xsm
sm
md
lg

รอผลพิสูจน์ของเหลวในแท็กซี่มอมยา หากผิดแจ้งจับแน่!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสมหมาย ม่วงมูลตรี คนขับแท็กซี่ถูกตำรวจกองปราบปราม รวบตัวได้และนำมาสอบสวน
ตร.กองปราบส่งหลักฐานของเหลวสีแดงเข้มที่ตรวจยึดได้จากรถแท็กซี่ที่สาวการบินไทยอ้างว่าถูกมอมยา ให้กองพิสูจน์หลักฐานและนิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ หากพบว่ามีอันตรายจะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมสอบแหล่งที่มาของตัวยาว่าได้มาจากแหล่งใด

จากกรณี พ.ต.อ.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ รอง ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ต.สุทธิเวท บุญยรัตกลิน สว.กก.1 บก.ป.รวบตัวนายสมหมาย ม่วงมูลศรี อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 80 หมู่ 5 ต.ปาฝา อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด โชเฟอร์แท็กซี่ พร้อมของกลาง หลอดแก้วใสซึ่งบรรจุของเหลวสีแดงเข้ม ยาเม็ดสีขาว 12 เม็ด ยาดม และเจลสำหรับฆ่าเชื้อโรค 1 หลอด หลังจากถูก น.ส.เอ (นามสมมติ) อายุ 34 ปี พนักงานฝ่ายการตลาดบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าร้องทุกข์ ว่า ถูกนายสมหมาย กระทำการลักษณะมอมยา ภายหลังเรียกรถแท็กซี่คันดังกล่าวจาก รพ.วิภาวดี ให้ไปส่งที่บ้านพักย่านรังสิต คลอง 2 แต่ขณะที่นั่งอยู่ในรถกลับรู้สึกมีอาการมึนงงคล้ายจะหมดสติ จนต้องรีบโทรศัพท์บอกแฟนหนุ่มและตะโกนบอกให้โชเฟอร์หยุดรถเพื่อขอลงระหว่างทาง นั้น

ความคืบหน้าวันนี้ (15 ก.พ.) ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พ.ต.อ.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผกก.1 บก.ป. กล่าวว่า ขณะนี้ได้นำของกลางทั้งหมดที่ตรวจยึดไว้ได้ส่งให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน และสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ ตรวจสอบชนิดของสารที่อยู่ภายในหลอดแก้วใสซึ่งบรรจุของเหลวสีแดงเข้มโดยต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง หากพบว่าเป็นสารที่มีอันตรายต่อร่างกายก็จะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา หน่วงเหนี่ยวกักขังหรือกระทำการใดๆ ให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เพิ่มเติมกับผู้ต้องหารายนี้ ขณะเดียวกันทางตำรวจต้องตรวจสอบ แหล่งที่มาของตัวยาชนิดดังกล่าวว่ามาจากที่ใด ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อได้หรือไม่ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันภัยประชาชนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นเคยปรากฎเป็นข่าวฮือฮามาแล้วก่อนหน้านี้และมีการส่งต่อข้อมูลฟอร์เวิร์ดเมลทางอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวางจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าการใช้ยาสลบจากช่องแอร์ของรถแท็กซี่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ กระทั่งมีนักวิชาการและแพทย์บางรายออกมาให้ข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณะว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากเพราะยาสลบจะส่งผลต่อเมื่อมีการโปะยาใส่จมูกและสูดยาเข้าไปเช่นในกรณีการรักษาตามการแพทย์
กำลังโหลดความคิดเห็น