เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น พลันเหลือบมองหน้าจอมือถือปรากฏเบอร์ +886226994822 พร้อมกับรับสายที่ดูแล้วไม่คุ้นตา ระบบเสียงอัตโนมัติจากคู่สายแปลกประหลาดฟังใจความได้ว่า "จากกรมสรรพากร เนื่องจากว่าคุณ. ........... ได้ติดหนี้ชำระภาษีเป็นจำนวนเงิน ......... บาท จึงเรียนมาเพื่อทราบและจะได้นำเงินค้างชำระค่าภาษี มาชำระให้เรียบร้อย มิฉะนั้นทางกรมสรรพากรร่วมกับทางเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะออกหมายจับไปถึงท่าน กด 1 หากต้องการฟังซ้ำ กด 9 เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่"
ด้วยความตกใจผสมกับความอยากรู้ ผู้รับสายจึงทำตามเสียงอัตโนมัติเลือกกด หมายเลข 9 เพื่อรับฟังรายละเอียด ไม่นานนักเสียงผู้หญิงคนหนึ่งรับสาย บริเวณรอบข้างมีเสียงเล็ดลอดเสียงผู้ชายดังเข้ามาฟังคล้ายกำลังเจรจาเกี่ยวกับเรื่องคดีความ เสียงจากต้นสายดังขึ้น “ดิฉันโทร.มาจากกรมสรรพากรนะคะ จากแผนกจัดเก็บภาษีทางเราขอแจ้งว่าคุณได้ติดค้างการชำระภาษีอากรเป็นจำนวนเงิน .. . .. . . .. . บาท เพื่อให้สะดวกแก่การชำระทางเราขอทราบชื่อ นามสกุลและเลขหมายบัตรประชาชนของคุณด้วยค่ะ”
ข้างต้นเป็นเพียงบทสนทนา รูปแบบหนึ่งของ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ทำการหลอก ขุ่มขู่ หาข้อมูล จากประชาชนทั่วไปโดยการสุ่มโทร ผสมกับหลากหลายรูปแบบในการหลอกลวง อาทิ โทรมาจากธนาคารพาณิชย์แอบอ้างว่าติดค้างหนี้อยู่ให้ไปที่ตู้ atm เพื่อโอนเงินมาชำระหนี้ โทรมาจากศาลอาญาว่าไปทำความผิดเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินและจะถูกออกหมายจับถ้าไม่โอนเงินมาตามที่แอบอ้าง หรือโทรมาจากเจ้าหน้าที่สรรพากรอ้างว่ายังไม่ได้ชำระหนี้และข่มขู่เอาข้อมูลจากบัตรประชาชน เพื่อที่สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆของคนอื่น เช่นข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลบัตรเครดิต ฯลฯ ได้มากมาย หรือกระทั่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพรกรหลอกว่าจะโอนภาษีเงินได้เข้าบัญชีให้และหลอกให้ผู้เสียหายไปกดเงินที่ตู้ atm เมื่อเหยื่อหลงเชื่อจึงให้โอนเข้าบัญชีของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นขบวนการมีทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ ฯลฯ
นั้นหมายความว่า การสูญเสียเงินและทรัพย์สินจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนถ้าไม่รู้เท่าทันมิจฉาชีพรูปแบบของ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ปัจจุบันมีเครือข่ายโยงใยกับกลุ่มบุคคลประเทศต่างชาติในระแวกเอเชียเป็นส่วนใหญ่
จากภัยคุมคามจากแก๊งอาชญากรข้ามชาติดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง เพราะถือเป็นรูปแบบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่คุกคามประชนชนอย่างมากในปัจจุบัน
ถ้าดูจากตัวเลขผู้เสียหายของกรมสอบสวนคดีพิเศษในเรื่องดังกล่าว ที่ระบุว่าในปี 2551 มีสถิติการถูกฉ้อโกงและหลอกลวง ทั้งสิ้น 2,612 ราย ขณะที่ปี 2552 เพียง 6 เดือนแรกมีผู้ตกเป็นเหยื่อสูงถึง 5,088 ราย ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ 100 ราย ยังไม่นับรวมกับคดีที่อยู่ตามที่อื่นๆอีกมากมาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนควรรับทราบถึงภัยดังกล่าว ที่วันนึงท่านอาจจะเป็นเหยื่อในจำนวนนั้นโดยไม่รู้ตัว !!
ในเรื่องดังกล่าว พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศและอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ให้ข้อมูลในตัวอย่างคดีที่เคยจับกุมได้ว่า เคยมีกลุ่มผู้ต้องหาได้ใช้บ้านเช่าในหมู่บ้านหรู และตั้งสำนักงานคอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้สมาชิกในแก๊งใช้โทรศัพท์มือถือโทรสุ่มหาผู้เสียหายผ่านเครื่องขยายช่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต จากนั้นระบบจะรันสุ่มต่อสายให้โทรหาเบอร์ผู้เสียหาย โดยแก๊งผู้ต้องหาจะแบ่งหน้าที่ทำงานกันเป็นทีม ทีมแรกจะทำหน้าที่โทรเข้าไปหาผู้เสียหาย พร้อมหลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ได้ตรวจสอบมีเงินจากขบวนการอาชญากรรม โอนไปยังบัญชีผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายตกใจกลัว จากนั้นจะบอกว่าเจ้าหน้าที่จะขอตรวจสอบบัญชีการเงิน ขอให้ผู้เสียหายบอกชื่อ สกุล อายุ วัน เกิด ที่อยู่ บัญชีธนาคาร เพื่อขอตรวจสอบ เมื่อผู้เสียหายปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการอาชญากรรม แก๊งผู้ต้องหาจะทำทีโอนสายให้คุยกับอีกทีมที่ปลอมตัวเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ
“จากนั้นเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ แก๊งผู้ต้องหาจะหลอกให้ผู้เสียหายไปที่ทำธุรกรรมโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็ม กดรหัสและเปลี่ยนเมนูเป็นภาษาอังกฤษ และบอกให้ทำตามขั้นตอนต่างๆ ในที่สุดเหยื่อจะถูกหลอกให้กดโอนเงินเข้าบัญชีของแก๊งผู้ต้องหา หรืออีกวิธีแก๊งผู้ต้องหาจะอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หลอกเหยื่อว่าเป็นหนี้บัตรเครดิตจำนวนมาก เมื่อเหยื่อปฏิเสธ ก็จะสอบถามข้อมูลส่วนตัว พร้อมหลอกให้ไปกดโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็ม โดยอ้างว่าจะขอตรวจสอบบัญชีธนาคาร หรืออีกวิธีผู้ต้องหาจะแจ้งว่า เป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร โทร.บอกผู้เสียหายว่า ได้รับคืนภาษี ขอให้ผู้เสียหายไปทำตามขั้นตอนที่ตู้เอทีเอ็ม เพื่อขอรับเงินภาษีคืน จนเหยื่อพลาดท่าหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำให้ผู้เสียหายสูญมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท”
พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ ยังระบุอีกว่าจากการตรวจสอบพบว่าแก๊งผู้คอลเซ็นเตอร์นั้นได้โอนเงินของผู้เสียหายเข้าไปในบัญชีธนาคารของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ร่วมทำกันเป็นขบวนการในประเทศจีน และไต้หวัน จากนั้นดีเอสไอก็ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอายัดบัญชี พร้อมเร่งสืบสวนขยายผลดำเนินคดีกับตัวการใหญ่ ที่เชื่อว่าเป็นขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติรายใหญ่ที่มีเครือข่ายมากมาย พวกนี้จะเข้ามาใช้ประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานตั้งคอลเซ็นเตอร์ สุ่มโทรหลอกเหยื่อในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย
ส่วนแนวทางแก้ไขนั้น พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันดีเอสไอได้ประสานกับหลายหน่วยงานในส่วนของมาตรการทางด้านกฎหมายดีเอสไอจะประสานกับฝ่ายอื่นๆ อีกหลายภาคส่วน อาทิ ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยประสานกับตำรวจสากลเพื่อขยายผลและจับกุม ที่สืบทราบว่าเครือข่ายส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศไต้หวัน จีน เพื่อให้มีการบูรณาการกับหน่วยงานรับผิดชอบในการประสานงานการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะทำการหารือเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนผ่านเอสเอ็มเอส สำหรับธนาคารพาณิชย์ผู้ให้บริการตู้เอทีเอ็มให้เพิ่มการแจ้งเตือนทั้งระบบเสียงและข้อความผ่านหน้าจอ ก่อนทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อยับยั้งอาชญากรรมในรูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้ลดลงอีกด้วย
ยังมีอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนเกี่ยวกับภัยคุกคามดังกล่าวโดย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ให้ข้อมูลว่าว่า การสอบสวนจับกุมอาชญากรรมข้ามชาติที่เปิดคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงประชาชน ที่ผ่านมาไม่ว่าจะจับกุมเหล่าอาชญากรเหล่านี้กี่ครั้งก็ได้เพียงผู้ร่วมขบวนการระดับล่าง จะเป็นนักเรียนหรือนักท่องเที่ยวชาวไทย และไม่สามารถจับกุม 2 ตัวการรายใหญ่ คือ นายเส็ง ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในเมืองซัวเถา ประเทศจีน ร่วมมือกับนายเหวิน นักทำโปรแกรมชาวไต้หวัน โดยคนร้ายไหวตัวได้ก็จะย้ายไปเปิดคอลเซ็นเตอร์แห่งใหม่ ในรูปแบบเดิมคือทำการฉ้อโกงบัตรเครดิต และการหลอกลวงให้ทำธุรกรรมผ่านบัตรเอทีเอ็ม และขณะนี้ได้แพร่ระบาดไปในทุกประเทศของทวีปเอเชีย ในส่วนของเหยื่อที่อยู่ในประเทศไทยนั้น หากคนร้ายจะเปิดคอลเซ็นเตอร์ในไต้หวัน จีน หรือเวียดนาม อำพรางตัวตนด้วยการย้ายที่อยู่บ่อยๆ เมื่อประชาชนหลงเชื่อก็จะมีการโอนรายชื่อเหยื่อออกนอกประเทศ เช่น ประเทศไต้หวันและจีน
“ข้อมูลจากการตรวจสอบพบว่า เบอร์โทรศัพท์ที่มักจะถูกสุ่มเพื่อโทรเข้ามาหลอกลวงให้ทำธุรกรรมทางการเงิน ส่วนใหญ่จะขึ้นต้นด้วยเบอร์ 081 และ 089 เนื่องจากเป็นหมายเลขโทรศัพท์จดทะเบียนรุ่นแรกๆ ทำให้คนร้ายเชื่อว่าเป็นกลุ่มคนมีฐานะ ซึ่งจากข้อมูลสำหรับบุคคลที่ถูกหลอกลวงส่วนใหญ่เป็นชาวไทย จีน และเวียดนาม เพราะเป็นประเทศที่ประชาชนไม่สนใจภาษาอังกฤษ ดังนั้นหากประชาชนได้รับโทรศัพท์แอบอ้างทุกรูปแบบขอให้ตรวจสอบกับธนาคารต้นสังกัด เพื่อสั่งอายัดเงินปลายทางได้ทัน ส่วนการตรวจสอบโทรศัพท์ผ่านระบบ VOIP (โทรศัพท์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตจากคอลเซ็นเตอร์) ซึ่งในแต่ละวันจะมีการใช้โทรศัพท์วันละ 1 ล้านนาที จึงเสนอให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือให้ความร่วมมือบันทึกและตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามจับกุมคนร้าย”
ปัจจุบันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในรูปแบบอาชญากรข้ามชาติ ยังไม่คงหมดไปง่ายๆ ในยุคการจับจ่ายใช้สอยผ่านเครื่องมือทางธุรกรรมการเงินคือบัตรเครดิต ที่เป็นไปด้วยความสะดวก รวมไปถึงการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศบวกกับช่องทางอินเตอร์เน็ทที่สามารถติดต่อหรือหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ที่แก๊งอาชญากรข้ามชาติได้ใช้เป็นช่องทางแอบอ้างและหลอกเหยื่อให้ตกเป็นเหยื่อหลอกให้โอนเงินในรูปแบบต่างๆ
เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ถ้าเจอเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวจึงควรจะตั้งสติ ถ้ามีการโทรแอบอ้างมาจึงควรที่จะโทรกลับไปเช๊คหน่วยงานที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้แอบอ้างไว้ ที่สำคัญควรตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชียอดเงินรวมไปถึงยอดหนี้ค้างชำระของตนเองเสมอ
เชื่อว่าแก๊งมิจฉาในคราบอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติที่มาในรูปแบบหลากหลายก็ไม่สามารถทำอะไรเราได้อย่างแน่นอน......