xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอจับแก๊งไต้หวันตุ๋นคืนภาษีโอนผ่านเอทีเอ็ม!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ดีเอสไอจับแก๊งคอลเซ็นเตอร์อาชญากรรมข้ามชาติ “ไต้หวัน-จีน-พม่า” สุ่มหลอกเหยื่อเป็นหนี้บัตรเครดิต ได้รับภาษีคืน ให้ผู้เสียหายทำธุรกรรมผ่านเอทีเอ็ม แต่แล้วเหยื่อจะถูกหลอกให้กดโอนเงินเข้าบัญชีของแก๊งเอง

วันนี้ (17 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.30 น.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผบ.สำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ พ.ต.อ.คมศักดิ์ สุมังเกษตร ผกก.สน.บางนา ตัวแทนจากกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท) ร่วมแถลงข่าวจับกุม นายเจิ้น หมิง ซวิน อายุ 31 ปี ชาวไต้หวัน หัวหน้าแก๊งหลอกผู้เสียหายโอนเงินทางตู้เอทีเอ็ม พร้อมผู้ต้องหาชาวไต้หวัน จีน และ พม่า รวม 14 คน ยึดของกลางโทรศัพท์มือถือ 70 เครื่อง เครื่องขยายช่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต 1 ชุด โน้ตบุ๊ก 3 เครื่อง ซีพียูคอมพิวเตอร์ 2 ชุด เอกสารบทสนทนาที่ใช้หลอกผู้เสียหาย สมุดธนาคาร และเอกสารอื่นอีกจำนวนมาก โดยจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาได้ที่ บ้านเลขที่ 21/753 หมู่บ้านวิลล่า ซอยบางนา-ตราด 16 แขวงและเขตบางนา มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท เบื้องต้นแจ้งข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าว หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาต ควบคุมตัวดำเนินคดีต่อไป

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผบ.สำนักกิจการต่างประเทศ ดีเอสไอ กล่าวว่า กลุ่มผู้ต้องหาได้ใช้บ้านเช่าในหมู่บ้านหรู ตั้งสำนักงานคอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้สมาชิกในแก๊งใช้โทรศัพท์มือถือโทร.สุ่มหาผู้เสียหายผ่านเครื่องขยายช่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต จากนั้นระบบจะรันสุ่มต่อสายให้โทร.หาเบอร์ผู้เสียหาย โดยแก๊งผู้ต้องหาจะแบ่งหน้าที่ทำงานกันเป็นทีม ทีมแรกจะทำหน้าที่โทร.เข้าไปหาผู้เสียหาย พร้อมหลอกว่า เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ได้ตรวจสอบมีเงินจากขบวนการอาชญากรรม โอนไปยังบัญชีผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายตกใจกลัว จากนั้นจะบอกว่าเจ้าหน้าที่จะขอตรวจสอบบัญชีการเงิน ขอให้ผู้เสียหายบอกชื่อ สกุล อายุ วัน เกิด ที่อยู่ บัญชีธนาคาร เพื่อขอตรวจสอบ เมื่อผู้เสียหายปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการอาชญากรรม แก๊งผู้ต้องหาจะทำทีโอนสายให้คุยกับอีกทีมที่ปลอมตัวเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากนั้นเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ แก๊งผู้ต้องหาจะหลอกให้ผู้เสียหายไปที่ทำธุรกรรมโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็ม กดรหัสและเปลี่ยนเมนูเป็นภาษาอังกฤษ และบอกให้ทำตามขั้นตอนต่างๆ ในที่สุดเหยื่อจะถูกหลอกให้กดโอนเงินเข้าบัญชีของแก๊งผู้ต้องหา หรืออีกวิธีแก๊งผู้ต้องหาจะอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หลอกเหยื่อว่าเป็นหนี้บัตรเครดิตจำนวนมาก เมื่อเหยื่อปฏิเสธ ก็จะสอบถามข้อมูลส่วนตัว พร้อมหลอกให้ไปกดโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็ม โดยอ้างว่าจะขอตรวจสอบบัญชีธนาคาร หรืออีกวิธีผู้ต้องหาจะแจ้งว่า เป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร โทร.บอกผู้เสียหายว่า ได้รับคืนภาษี ขอให้ผู้เสียหายไปทำตามขั้นตอนที่ตู้เอทีเอ็ม เพื่อขอรับเงินภาษีคืน จนเหยื่อพลาดท่าหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

ผบ.สำนักกิจการต่างประเทศ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบพบว่าแก๊งผู้ต้องหาได้โอนเงินของผู้เสียหายเข้าไปในบัญชีธนาคารของแก๊งผู้ต้องหาในประเทศจีน และไต้หวัน ดีเอสไอได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอายัดบัญชี พร้อมเร่งสืบสวนขยายผลดำเนินคดีกับตัวการใหญ่ ที่เชื่อว่ามีอีกหลายคน แก๊งนี้ถือว่าเป็นขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติรายใหญ่ เข้ามาใช้ประเทศไทย เพื่อใช้เป็นฐานตั้งคอลเซ็นเตอร์ สุ่มโทร.หลอกเหยื่อในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้ ก็ให้ตั้งสติให้ดี และให้โทร.กลับไปตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานนั้นๆ ก่อนทุกครั้ง เพื่อจะได้ไม่ถูกแอบอ้างและไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติรายนี้

ด้าน พ.ต.อ.คมสัน สุมังเกษตร ผกก.สน.บางนา กล่าวว่า คดีนี้ได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ว่า พบกลุ่มผู้ต้องสงสัยเข้ามาเช่าบ้านในหมู่บ้านหรู โดยมีพฤติการณ์น่าสงสัย จึงสั่งการให้สายสืบ สน.บางนา จึงได้เข้าสืบสวนติดตามความเคลื่อนไหว โดยปลอมตัวเป็นคนขับรถแท็กซี่ ไปจอดรอรับแก๊งดังกล่าว กระทั่งสามารถบันทึกการสนทนาการใช้โทรศัพท์ จากนั้นได้นำมาแปล จนทราบว่า แก๊งผู้ต้องหา มีพฤติการณ์เป็นมิจฉาชีพ ใช้โทรศัพท์หลอกผู้เสียหายให้หลงโอนเงิน จึงประสานดีเอสไอเข้าตรวจค้นจับกุมแก๊งผู้ต้องหาพร้อมยึดของกลางจำนวนมากดังกล่าว
 พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผบ.สำนักกิจการต่างประเทศฯ แถลงจับแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกโอนเงินผ่านเอทีเอ็ม
ของกลางที่ตรวจยึดได้
นายเจิ้น หมิง ซวิน อายุ 31 ปี ชาวไต้หวัน หัวหน้าแก๊งหลอกผู้เสียหายโอนเงินทางตู้เอทีเอ็ม
เอกสารบทสนทนาที่ใช้หลอกผู้เสียหาย
กำลังโหลดความคิดเห็น