xs
xsm
sm
md
lg

แก๊งคอลเซ็นเตอร์แสบ 6 เดือน ตุ๋นเหยื่อสูญ 2.6 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ดีเอสไอเผยสถิติแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตุ๋นเหยื่อปีที่แล้ว เพียง 6 เดือนถูกหลอกมากกว่า 5 พันราย รับเป็นคดีพิเศษ 100 ราย มูลค่าเสียหาย 2.6 ล้าน ด้านสมาคมธนาคารไทย เผย รู้ตัวระดับบิ๊ก แต่ไม่เคยจับตัวได้ จะตะครุบได้เพียงปลาซิว คนร้ายไหวตัวย้ายที่ทำมาหากินบ่อยครั้ง กระจายทั่วเอเชีย

วันนี้ (28 ม.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการจัดสัมมานาประชุมเพื่อวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาประชาชนถูกหลอกลวงให้ทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือขบวนการคอลเซ็นเตอร์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 20 หน่วยงาน เข้าร่วมด้วย ซึ่งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ในปี 2551 มีสถิติการถูกฉ้อโกงและหลอกลวง ทั้งสิ้น 2,612 ราย ขณะที่ปี 2552 เพียง 6 เดือนแรกมีผู้ตกเป็นเหยื่อสูงถึง 5,088 ราย ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ 100 ราย มูลค่าความค่าเสียหายกว่า 2.6 ล้านบาท

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผบ.สำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ส่วนของมาตรการทางด้านกฎหมายจะประสานกับฝ่ายอื่นๆ อีกหลายภาคส่วน อาทิ ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบในการประสานงานการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะทำการหารือเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนผ่านเอสเอ็มเอส สำหรับธนาคารพาณิชย์ผู้ให้บริการตู้เอทีเอ็มให้เพิ่มการแจ้งเตือนทั้งระบบเสียงและข้อความผ่านหน้าจอ ก่อนทำธุรกรรมทางการเงิน

ด้านผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า การสอบสวนจับกุมอาชญากรรมข้ามชาติที่เปิดคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงประชาชน ไม่สามารถจับกุม 2 ตัวการรายใหญ่ คือ นายเส็ง ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในเมืองซัวเถา ประเทศจีน ร่วมมือกับนายเหวิน นักทำโปรแกรมชาวไต้หวัน ไม่ว่าจะจับกุมกี่ครั้งก็ได้เพียงผู้ร่วมขบวนการระดับล่าง ซึ่งเป็นนักเรียนหรือนักท่องเที่ยวชาวไทย จากนั้นคนร้ายจะย้ายไปเปิดคอลเซ็นเตอร์แห่งใหม่ ทำให้การฉ้อโกงบัตรเครดิต และการหลอกลวงให้ทำธุรกรรมผ่านบัตรเอทีเอ็ม แพร่ระบาดไปในทุกประเทศของทวีปเอเชีย หากคนร้ายต้องการหลอกลวงคนไทยจะเปิดคอลเซ็นเตอร์ในไต้หวัน จีน หรือเวียดนาม อำพรางตัวตนด้วยการย้ายที่อยู่บ่อยๆ เมื่อประชาชนหลงเชื่อก็จะมีการโอนรายชื่อเหยื่อออกนอกประเทศ เช่น ไปไต้หวัน จีน

ตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ระบุว่า ข้อมูลจากการตรวจสอบพบว่า เบอร์โทรศัพท์ที่มักจะถูกสุ่มเพื่อโทรเข้ามาหลอกลวงให้ทำธุรกรรมทางการเงิน ส่วนใหญ่จะขึ้นต้นด้วยเบอร์ 081 และ 089 เนื่องจากเป็นหมายเลขโทรศัพท์จดทะเบียนรุ่นแรกๆ ทำให้คนร้ายเชื่อว่าเป็นกลุ่มคนมีฐานะ

สำหรับบุคคลที่ถูกหลอกลวงส่วนใหญ่เป็นชาวไทย จีน และเวียดนาม เพราะเป็นประเทศที่ประชาชนไม่สนใจภาษาอังกฤษ ดังนั้นหากประชาชนได้รับโทรศัพท์แอบอ้างทุกรูปแบบขอให้ตรวจสอบกับธนาคารต้นสังกัด เพื่อสั่งอายัดเงินปลายทางได้ทัน

ทั้งนี้ ส่วนการตรวจสอบโทรศัพท์ผ่านระบบ VOIP (โทรศัพท์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตจากคอลเซ็นเตอร์) ซึ่งในแต่ละวันจะมีการใช้โทรศัพท์วันละ 1 ล้านนาที จึงเสนอให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือให้ความร่วมมือบันทึกและตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามจับกุมคนร้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น