xs
xsm
sm
md
lg

ความอิสระในการพิจารณาคดีของผู้พิพากษา

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

สราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
ระบบตุลาการเป็นศูนย์กลางของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ ศาลมีบทบาทสำคัญในการทำให้ผู้เสียหายหรือผู้ที่อาจตกเป็นผู้เสียหายของการละเมิดสิทธิได้รับการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพและได้รับความคุ้มครอง พร้อมทั้งนำตัวผู้กระทำการละเมิดสิทธิเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

นอกจากนั้น ศาลยังสร้างหลักประกันว่าทุกคนที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมตามมาตรฐานสากล ฝ่ายตุลาการจึงมีความสำคัญในการเป็นผู้ถ่วงดุลและคานอำนาจองค์กรของรัฐบาล เพื่อให้มีหลักประกันว่ากฎหมายและการกระทำของฝ่ายบริหารได้ดำเนินการสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลและหลักนิติธรรม

การมีศาลที่เป็นอิสระและทรงความเที่ยงธรรรมเป็นหัวใจของระบบตุลาการที่เป็นหลักประกันของสิทธิมนุษยชนอย่างสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์ รัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายของแต่ละประเทศจะต้องรับรองให้ตุลาการเป็นอิสระจากฝ่ายอื่น ๆ ของรัฐอย่างแท้จริง และจะต้องได้รับความคุ้มครองทั้งโดยกฎหมายและในทางปฎิบัติ

จากการทำร้าย การคุกคาม หรือประหัตประหารใด ๆ จากการทำหน้าที่วิชาชีพเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้พิพากษาต้องไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้ส่วนเสียในคดีใด ๆ และไม่มีความเห็นล่วงหน้าใด ๆ เกี่ยวกับคดีนั้น ๆ หรือเกี่ยวกับคู่กรณีคดีต่าง ๆ จะต้องพิจารณาพิพากษาโดยอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง โดยสอดคล้องกับกฎหมายและปราศจากข้อจำกัดใด ๆ

ขณะเดียวกันองค์กรหรือสถาบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องละเว้นการกดดันหรือโน้มน้าวผู้พิพากษาให้ตัดสินไปในทางใดทางหนึ่ง และผู้พิพากษาก็มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติตนให้ทรงความเที่ยงธรรม

การทรงความเที่ยงธรรมของศาล มีนัยว่าผู้พิพากษาต้องไม่คิดล่วงหน้าเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังพิจารณา และผู้พิพากษาต้องไม่ปฏิบัติไปในทางใดที่ส่งเสริมผลประโยชน์ของคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

การรักษาความเที่ยงธรรมของศาลสามารถอธิบายได้ว่า
เป็นการปราศจากอคติทั้งปวงต่อคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผู้พิพากษาควรจะถอนตัวเองออกจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการใด ๆ ที่ผู้พิพากษาจะไม่สามารถตัดสินคดีได้อย่างเที่ยงธรรม หรือในกระบวนการที่อาจจะปรากฎแก่ผู้สังเกตการณ์ที่มีเหตุผลว่าผู้พิพากษาไม่สามารถตัดสินคดีได้อย่างเที่ยงธรรม กระบวนการเช่นนี้ส่วนหนึ่งรวมถึงกรณีที่ผู้พิพากษามีอคติที่แท้จริงหรือมีความโน้มเอียงต่อคู่กรณีฝ่ายหนึ่ง หรือมีความรู้ส่วนบุคคลในข้อเท็จจริงที่เป็นหลักฐานเกี่ยวกับคดีที่กำลังถูกโต้แย้งอยู่ผู้พิพากษาเคยเป็นทนายความหรือเป็นพยานบุคคลในคดีที่กำลังพิจารณา หรือผู้พิพากษา หรือสมาชิกครอบครัวของผู้พิพากษามีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากผลของคดีที่กำลังพิจารณา นอกเสียจากการถอนตัวของผู้พิพากษาจะไม่จำเป็นในกรณีที่ไม่สามารถตั้งองค์คณะตุลาการขึ้นมาพิจารณาคดีได้ หรือด้วยเพราะสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นใด การไม่กระทำการใด ๆ สามารถนำไปสู่การจัดการความยุติธรรมที่ผิดพลาดอย่างรุนแรงได้

แม้ว่าความเป็นอิสระของตุลาการจะเป็นหลักประกันที่สำคัญ ผู้พิพากษาจะต้องปฏิบัติตนตามหลักจริยธรรม คุณค่าเหล่านี้ถูกสะท้อนในหลักจริยธรรม คือ ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม การมีคุณธรรม การประพฤติเหมาะสม คุณภาพ ความสามารถ และความหมั่นเพียร การปลดผู้พิพากษา เนื่องจากการปฏิบัติของผู้พิพากษานั้นมักจะอยู่บนพื้นฐานของหลักการเหล่านี้เป็นกฎทั่วไปว่าผู้พิพากษาสามารถถูกปลดออกจากตำแหน่งได้ หากประพฤติผิดอย่างรุนแรง กระทำละเมิดทางวินัย หรือกระทำผิดทางอาญา หรือไร้ความสามารถซึ่งทำให้ผู้พิพากษาไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้ การถูกปลดจากตำแหน่งนี้ต้องกระทำโดยกระบวนการที่เป็นธรรมเท่านั้น ผู้พิพากษาไม่สามารถถูกให้ออกหรือถูกลงโทษจากการกระทำผิดโดยสุจริต จากการไม่เห็นด้วยกับการตีความกฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้พิพากษาไม่ต้องรับผิดจากการถูกฟ้องร้องทางแพ่ง ในความเสียหายที่คิดเป็นตัวเงินอันเกิดจากคำตัดสินของตนเองด้วย

หลักการพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ (United Nations’ Basic Principles on the Independence of the Judiciary) มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวินัยและการปลดผู้พิพากษา โดยหลักการที่ 17 ระบุว่า “ ข้อกล่าวหาหรือข้อร้องเรียนที่มีต่อผู้พิพากษาในเรื่องความสามารถทางตุลาการและทางวิชาชีพของผู้พิพากษาคนนั้น จะต้องถูกดำเนินการอย่างฉับไวและเป็นธรรมภายใต้ระเบียบการที่เหมาะสม ผู้พิพากษามีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม การสอบสวนข้อกล่าวหาในขั้นแรกจะต้องถูกเก็บเป็นความลับ นอกจากจะได้รับการร้องขอจากผู้พิพากษาเป็นอย่างอื่น”

หลักการที่ 18 ซึ่งเกี่ยวกับสาเหตุของการปลด ระบุถึงเหตุผลต่างๆที่อนุญาตให้เป็นเหตุในการปลดผู้พิพากษาได้ว่า “ผู้พิพากษาจะถูกพักงานหรือถูกปลดออกจากตำแหน่งได้ก็เพียงด้วยเหตุของการไร้ความสามารถ หรือมีพฤติกรรมที่ทำให้เขาไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนเท่านั้น”

หลักการที่ 20 “คำตัดสินในการดำเนินการทางวินัย การพักงาน หรือการปลดจากตำแหน่ง ควรจะต้องสามารถให้มีการทบทวนโดยอิสระได้”ด้วยความแตกต่างทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม กระบวนการที่ใช้ในการปลดผู้พิพากษาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม การปลดจากตำแหน่งโดยวิธีการทางรัฐสภานั้นเป็นที่ปฏิบัติกันเป็นธรรมเนียมในบางสังคม ความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาเป็นหลักการสำคัญของการปกครอง ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลและนานาอารยประเทศ โดยสหประชาชาติได้ประกาศหลักการพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ กำหนดเงื่อนไขพื้นฐานของความเป็นอิสระและหลักประกันความเป็นอิสระนั้นไว้ในหลักการแรกว่า “ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการจะต้องได้รับการรับประกันโดยรัฐและถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของรัฐ ทุกรัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆมีหน้าที่ที่จะต้องเคารพและรักษาความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ”

ส่วนกฎบัตรสากลของผู้พิพากษา (Universal Charter of the Judge) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ได้รับการรับรองโดยผู้พิพากษาจากทุกภูมิภาคทั่วโลกได้บัญญัติไว้ว่า “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษานั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ของความยุติธรรมภายใต้กฎหมายมันแยกขาดออกไปไม่ได้ ทุกสถาบันและทุกหน่วยที่มีอำนาจไม่ว่าจะในระดับชาติหรือในระดับนานาชาติจะต้องเคารพ คุ้มครอง และปกป้องความเป็นอิสระนั้น”รัฐธรรมนูญของประเทศไทยทุกฉบับได้กำหนดหลักการที่สอดคล้องกับหลักสากลไว้และในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2550 มาตรา 197 บัญญัติว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย.......”

ที่กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ว่าทุกประเทศต่างตระหนักถึงการให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนในสังคมว่าทุกคนมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม

สราวุธ เบญจกุล

รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

กำลังโหลดความคิดเห็น