xs
xsm
sm
md
lg

อุ้ม 3 บิ๊ก ตร.! ปฏิบัติการ (กู).ตร.สู้เพื่อเพื่อน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร.
กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งภายหลัง พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ในฐานะเพื่อนซี้ร่วมรุ่น นรต.25 ของ “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ได้เปิดปฏิบัติการ “สู้เพื่อเพื่อน” โดยการยื่นวาระแทรกในการประชุม ก.ตร. เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2552 ที่ผ่านมา เพื่อให้ ก.ตร.มีความเห็นแย้งมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อุ้ม 3 บิ๊กตำรวจ ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอาญาและวินัยร้ายแรง ได้แก่ พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. กรณีใช้กำลังสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 รวมถึงกรณีของ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีต ผบก.ภ.จ.อุดรธานี ในคดีปล่อยกลุ่มคนเสื้อแดงทำร้ายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนเป็นเหตุให้นายตำรวจทั้ง 3 นาย ถูกลงโทษปลดออกจากราชการ

ซึ่งที่ประชุม ก.ตร.ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นั่งหัวโต๊ะ แม้จะใช้เวลาประชุมกันยาวนานแต่ในที่สุดได้มีมติเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบตามที่คณะอนุฯ ก.ตร.อุทธรณ์ ที่มี พล.ต.อ.พิชิต เป็นประธานเสนอเรื่องมา โดยระบุว่า คำอุทธรณ์ของนายตำรวจทั้ง 3 นายฟังขึ้น และไม่ได้กระทำความผิดวินัยร้ายแรงตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล ซึ่งมติ ก.ตร.ดังกล่าวเป็นการแย้งหรือสวนทางกับมติของ ป.ป.ช.โดยสิ้นเชิง จึงมีมติให้ทำหนังสือถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณารับนายตำรวจทั้ง 3 นายกลับเข้ารับราชการ รวมถึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความอำนาจของ ป.ป.ช.ในการพิจารณาชี้มูลความผิดดังกล่าว

จากมติ ก.ตร.ดังกล่าว นับว่าเป็นชัยชนะยกแรกของกลุ่มก๊วนเพื่อนของ พล.ต.อ.พัชรวาท ที่ทุกวันนี้ ยังคงนั่งเถลิงอำนาจเป็นกระบอกเสียงให้กับเพื่อนซี้อยู่ในที่ประชุม ก.ตร. ภายใต้การไฟเขียวของนายสุเทพ ทั้งที่เจ้าตัวรู้ทั้งรู้ว่า หาก ก.ตร.มีมติดังกล่าวออกมาจะก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากในอนาคต ทั้งภายในองค์กรตำรวจ รวมถึงความขัดแย้งกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่นายสุเทพ ก็แสดงทีท่าสนับสนุน มิหนำซ้ำยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการเสนอนายกฯ เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องนี้

แต่ทว่านับว่ายังดีที่ “นายกฯ มาร์ค” ไม่บ้าจี้ทำตามเกม โดยยืนยันว่ากรณีดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นมาอย่างชัดเจนว่า เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วในอดีตว่า การอุทธรณ์ตามกฎหมายบริหารงานบุคคล จะอุทธรณ์ได้เฉพาะดุลพินิจในการสั่งลงโทษ ดังนั้นจะไปกลับข้อเท็จจริงหรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ไม่ได้ ทำได้เพียงแค่การอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษ

“สมมติว่าสอบมาว่าผิดวินัยร้ายแรง มีการลงโทษไล่ออกก็อาจจะอุทธรณ์ให้เป็นปลดออกได้ อย่างนี้เป็นต้น แต่จะไปอุทธรณ์แล้วกลับสิ่งที่ ป.ป.ช.วินิจฉัยมาไม่ได้ อันนี้ชัดเจนและมีคำวินิจฉัยแล้ว ซึ่งผมกำลังจะแจ้งความเห็นของกฤษฎีกานี้ให้นายสุเทพ ดำเนินการต่อไป” นายอภิสิทธิ์ระบุ และว่านายตำรวจทั้ง 3 นายสามารถที่จะไปขอความเป็นธรรมได้ในช่องทางของศาลปกครอง ซึ่งในอดีตก็เคยมีศาลปกครองที่กลับคำวินิจฉัยที่เคยเกิดขึ้นจาก ป.ป.ช. แต่ในส่วนของฝ่ายบริหาร ไม่มีอำนาจที่จะไปกลับคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระ แต่หากเป็นศาลปกครองนั้นทำได้ เพราะเป็นองค์กรอิสระเช่นเดียวกัน

จากถ้อยแถลงของนายอภิสิทธิ์ สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 86 บัญญัติว่า “ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษตามมาตรา 93 จะใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ ก็ได้” ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้มีการอุทธรณ์ในประเด็นที่เกี่ยวกับดุลยพินิจในการชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงของ ป.ป.ช. แต่ให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในส่วนการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น

ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 90 ระบุว่า “ข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้มีอำนาจตาม มาตรา 72 สั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลงโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษต่ำกว่าปลดออก” ซึ่งในกรณีของนายตำรวจทั้ง 3 นาย เมื่อถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่าผิดวินัยร้ายแรง โทษที่ได้รับจึงมีเพียง 2 สถาน คือ ปลดออกและไล่ออก ซึ่งทั้งหมดถูกลงโทษปลดออก ซึ่งถือเป็นโทษขั้นต่ำที่สุดแล้ว การอุทธรณ์เพื่อให้ไม่ต้องรับโทษเลยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้

ดังนั้น เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2553 นายอภิสิทธิ์จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังนายสุเทพ เพื่อให้แจ้งไปยัง ก.ตร.เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวใหม่อีกครั้ง ขณะที่ผู้ชงเรื่องอย่างนายสุเทพ ออกมาให้สัมภาษณ์ ภายหลังรับทราบจุดยืนของนายกฯว่า “ทุกอย่างว่าไปตามกฎเกณฑ์ กติกา ตนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ ก.ตร.เป็นประธานในที่ประชุม ดำเนินการในที่ประชุม เมื่อพูดจากันด้วยเหตุผล และเสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไร ก็ดำเนินการไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายจะถูกหรือผิด ก็ต้องมีคนวินิจฉัยที่จะต้องชี้ขาดต่อไป ว่ากันไปตามขั้นตอน เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายปฏิบัติ ว่าใครจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร กรณีอย่างนี้ถ้านายกฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสั่งให้ตนนำเรื่องไปให้ ก.ตร.ทบทวน ตนก็นำเรื่องไปให้ ก.ตร.ทบทวน ส่วน ก.ตร.ทบทวนแล้วจะมีผลอย่างไร ตนก็ทำตามนั้น ไม่มีปัญหาอะไร”


แต่ทว่าหลังจากนั้น นายสุเทพคนเดิม ได้เรียก พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร.เข้าหารือเรื่องดังกล่าวที่ห้องทำงานทันที ซึ่งจากท่าทีของนายสุเทพคงไม่มีใครรู้คำตอบดีไปกว่าตัวนายสุเทพเองว่าจะทำตามนายกฯ โดยจะเลือกยืนบนความถูกต้อง หรือจะเลือกจะทำตามเกมของใคร ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไป

จากปมประเด็นร้อนเรื่องนี้ 15 ม.ค.53 ที่ประชุม ก.ตร.เสียงข้างมาก ที่ส่วนใหญ่เป็นเสียงเดิมจากครั้งที่แล้ว กลับไม่แยแสการท้วงติงของนายกรัฐมนตรี มิหนำซ้ำมีความเห็นเหมือนเดิมตามมติ ก.ตร.ครั้งที่ผ่านมา คือ การอุทธรณ์ของนายตำรวจทั้ง 3 นายฟังขึ้น แต่เนื่องจากการพิจารณาเรื่องนี้หมิ่นเหม่เรื่องของข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มติ ก.ตร.จึงเห็นควรให้ประมวลข้อคิดเห็นและข้อเท็จจริงทั้งหมดที่พิจารณาให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยที่พวกเขาอ้างว่า เนื่องจากเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่มีข้อคิดเห็นเรื่องนี้หลายประการ ซึ่งการให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะทำให้เรื่องนี้ชัดเจนขึ้น

ดังนั้น เรื่องนี้ ก.ตร.เสียงส่วนใหญ่ที่มีมติดังกล่าวจะต้องตระหนักว่า จากบทเรียนในอดีตการกระทำการสิ่งใดๆ ก็ตาม ไปโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ เท่ากับเป็นการ “ก้าวเท้าเข้าไปในคุกแล้วครึ่งตัว” ฉะนั้นท่านต้องพร้อมที่จะต้องรับผลที่จะตามมา

ขณะที่ในส่วนของ พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ และ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ก.ตร.เพื่อนชี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ แม้จะเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เพื่อนย่อมต้องช่วยเพื่อน แต่การดันทุรังช่วยคนผิดให้พ้นโทษ กลับดำให้เป็นขาว โดยการเอาชื่อเสียงขององค์กรเข้าไปเสี่ยง ย่อมเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง จึงต้องย้อนถามไปถึง หลักการและความถูกต้อง ที่คนทั้งคู่ยึดถือไว้เป็นนักหนา ว่าตอนนี้หลักการนั้นมันยังอยู่หรือได้อันตรธานหายไปไหนเสียหมดแล้ว หรือหลักการที่ว่านั้นไว้ใช้กับคนอื่นที่ไม่ใช่พวกพ้องของตัวเอง...

 พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ
พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.
กำลังโหลดความคิดเห็น