ก.ตร.สาย “พัชรวาท” ยังเดินหน้าเห็นแย้งมติชี้ ป.ป.ช.ยันผลสอบพยานที่เป็นตำรวจไม่มีหลักฐานเอาผิด “พัชรวาท” และพวก ตะแบงตีกฎหมายช่วยพวกเดียวกัน ยกตำรวจกว่า 200,000 นายจับตาดูว่าสุดท้ายตำรวจทำหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่กลับผิดทำชั่วร้ายแรง
วันนี้ (11 ม.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แหล่งข่าวระดับสูงในคณะกรรมการข้าราชตำรวจ (ก.ตร.) กล่าวถึงกรณีที่ ก.ตร.ได้มีมติเห็นแย้งความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.ภ.4. พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีต ผบก.ภ.จว.อุดรธานี ที่ มติ ป.ป.ช.ให้นายตำรวจทั้ง 3 นายออกจากราชการ แต่มติ ก.ตร.กลับเห็นว่านายตำรวจทั้งสามไม่มีความผิดว่า เรื่องนี้มีการพิจารณาอย่างรอบครอบเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากกรณีของ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ มีการร้องขอความเป็นธรรมจากศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ ตาม มาตรา 77 กรณี รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งการทำหน้าที่ของ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ เป็นการกระทำไปอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ตามคำวินิจฉัยที่ 2/2546 วันที่ 6 ก.พ.2546 ว่า ป.ป.ช.มีอำนาจในการพิจารณาความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่และมีมูลความผิดทางอาญา ส่วนคดีของนายตำรวจทั้งสามนายเป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องฐานความผิดกรณีการทุจริตต่อหน้าที่ จึงเห็นว่าเป็นคนละเรื่องกัน ประกอบกับ การชี้มูลของ ป.ป.ช.มีลักษณะเร่งรีบ ภายหลังพนักงานอัยการสั่งคดีนี้สอบเพิ่มเติมซึ่ง ป.ป.ช.ก็ไปสอบเพิ่มอีก แสดงว่าขบวนการให้ความยุติธรรม กับผู้ถูกกล่าวหาทำไม่รอบครอบ
“การพิจารณากลับฐานความผิดวินัยร้ายแรงเป็นวินัยไม่ร้ายแรง และคณะรัฐมนตรีมีมติ ให้ผู้ถูกกล่าวหากลับเข้ารับราชการนั้น เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯมาตรา 76 ได้บัญญัติรับรองสิทธิในการอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตาม กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญฯ มิได้จำกัดอำนาจหรือดุลยพินิจขององค์กรผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ดังนั้น ก.พ.ย่อมมีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ คำสั่งลงโทษ ได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. การดำเนินการของ ก.พ.และคณะรัฐมนตรี จึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามนัยกฎหมายว่าด้วย ระเบียบข้าราชการพลเรือน และมิได้เป็นการดำเนินการที่ขัดแย้งกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ” ความตอนหนึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ม.96 ก็ระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษตามมาตรา 93 จะใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ ส่วน หมวด 8 การอุทธรณ์ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติปี 2547 มาตรา 105 ระบุว่าข้าราชการตำรวจผู้ใดถูกสั่งลงโทษหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตาม พ.ร.บ.นี้ให้ผู้นั้น มีสิทธิอุทธรณ์ได้ ส่วน (2) กรณีถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ ก.ตร.
แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวว่า ภายหลังจากที่นายตำรวจทั้งสามใช้สิทธิอุทธรณ์ คณะอนุกรรมการอุทธรณ์ของ ก.ตร.ได้ดำเนินการกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ.2547 มีการสอบสวนพยานบุคคลทั้ง ตำรวจที่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมแทงด้วยด้ามธงจนได้รับการเจ็บ ถูกยิง ถูกรถยนต์ชน และมีการสอบพยานผู้เชี่ยวชาญเรื่องระเบิด ระบุว่าแก๊สน้ำตาไม่สามารถทำให้ขาขาดแขนขาดได้ และสารประกอบของแก๊สน้ำตาไม่มีอยู่ในร่างของผู้เสียชีวิต ซึ่ง ตามกฎ ก.ตร.อุทธรณ์ ข้อ 18 ระบุว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ ซึ่งกรณีนี้เห็นว่าการกระทำของผู้อุทธรณ์ไม่เป็นความผิดวินัยหรือพยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยให้สั่งยกโทษ และ ข้อ 23 ระบุว่า เมื่อ ก.ตร.ได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และมีมติเป็นประการใดแล้ว ให้สำนักงาน ก.ตร.แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบหรือดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ก.ตร.
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เรื่องการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณานั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เคยส่งให้พิจารณามาแล้วเมื่อวันที่ 9 ต.ค.2552 ซึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาว่าไม่สามารถตีความได้ เนื่องไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐตามหน้าที่ ประกอบกับถ้าพิจารณาที่ระบุไว้ใน มาตรา 214 ของ รัฐธรรมนูญแล้ว ในเรื่องนี้มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในอนาคตอย่างรุนแรง และในกรณีที่ผู้ถูกลงโทษเห็นว่าการดำเนินการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับใดๆ ก็มีสิทธิที่จะนำคดีไปสู่ศาลปกครองได้ และหากศาลปกครองวินิจฉัยเป็นที่สุดว่าการดำเนินการของ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับ ก็ย่อมเป็นความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.เอง คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่1 เห็นว่า เป็นกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่อาจให้คำปรึกษาในข้อกฎหมายเรื่องนี้ได้ เนื่องจากการพิจารณาให้ความเห็นจะต้องขึ้นอยู่กับสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งลงชื่อโดยนางพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับการลงมติความเห็นแย้งของคณะกรรมการ ก.ตร. ในรายของ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ เห็นด้วยในการแย้งคำสั่ง ป.ป.ช.มีมติ 13 ต่อ 2 ในรายของ พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ มีมติเห็นด้วยในการแย้งคำสั่งของ ป.ป.ช.จำนวน 10ต่อ 5
ด้าน พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ ก.ตร.กล่าววว่า เรื่องนี้ตำรวจกว่า 200,000 นายในตร.กำลังตจับตาดูอยุ่เพราะเป็นเรื่องภาพรวมของตร. ที่เกิดขึ้นเพราะตำรวจคนหนึ่งไปทำหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาแต่กลับมาบอกทีหลังว่าไปทำชั่วร้ายแรง
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า สำหรับแหล่งข่าวระดับสูงในคณะกรรมการข้าราชตำรวจ (ก.ตร.) ที่ออกมามีความเห็นแย้งกับ ป.ป.ช.ในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดและสนิทสนมกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.