“ปทีป” เตรียมชงเรื่องรับ 2 นายพลสั่งสลายม็อบ 7 ตุลาทมิฬ กลับเข้ารับราชการทันที หากมติ ก.ตร.ส่งมาถึง ไม่รอศาล รธน.ตีความอำนาจ ป.ป.ช.กับ ก.ตร.
วันนี้ (15 ม.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีรายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ว่าในการพิจารณาเรื่องการอุทธรณ์ของ 3 นายตำรวจ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีต ผบก.จว.อุดรธานี นั้นฟังขึ้น และมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางโดยใช้ระยะเวลานาน เริ่มจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะประธาน ก.ตร. นำข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสื่อมวลชนถึงข้อพิพาทระหว่าง ก.ตร.และ ป.ป.ช.มาพิจารณา
จากนั้นนายสุเทพได้ถามที่ประชุมว่า จากกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนมติมีใครจะเปลี่ยนแปลงมติที่ลงไว้เดิมหรือไม่ โดยมติเดิม ก.ตร. 10 เสียงมีมติว่าอุทธรณ์ฟังขึ้น ขณะที่ 5 เสียงยังกังขาว่า ก.ตร.มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ก็งดออกเสียงไป ซึ่งครั้งนี้นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เดิมที่อยู่ใน 10 เสียง ที่เห็นว่าคำอุทรณ์ฟังขึ้น แต่ครั้งนี้ขอกลับมติของดออกเสียงโดยอ้างว่า ครั้งก่อนยังไม่ศึกษาข้อมูล หลังจากไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า พ.ร.บ.ตำรวจ และกฎหมายของ ป.ป.ช.ขัดแย้งกันอยู่จึงงดออกเสียงไป ทำให้ครั้งนี้มี 9 เสียงที่เห็นว่าคำอุทธรณ์ฟังขึ้นควรให้นายตำรวจทั้ง 3 นายกลับเข้ารับราชการตามเดิม
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หลังจากมีมติตามเดิม ก.ตร.ก็มาพิจารณาต่อว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ซึ่งก็ลงมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นที่ว่า ก.ตร.มีอำนาจที่พิจารณาคำในเรื่องการทบทวนข้อเท็จจริงที่ถูก ป.ป.ช.กล่าวหาได้หรือไม่ ขณะเดียวกันก็พิจารณาว่า ป.ป.ช.มีอำนาจที่จะมาก้าวก่ายการบริหารขององค์กรข้าราชการประจำที่มีกฎหมายเฉพาะได้หรือไม่
ขณะที่ ก.ตร.ยังมีการคุยกันว่า ตาม พ.ร.บ.ตำรวจ เมื่อ ก.ตร.รับมติของอนุ ก.ตร.อุทธรณ์ และเห็นการอุทธรณ์ฟังขึ้นแล้วก็เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาจะต้องใช้ดุลพินิจดำเนินและคืนความเป็นธรรมให้ทันที จากนี้ ก.ตร.ก็จะต้องส่งเรื่องให้ทาง พล.ต.อ.ปทีปพิจารณาเพราะเป็นผู้บังคับบัญชาของ พล.ต.ท.สุชาติ และพล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ซึ่ง พล.ต.อ.ปทีป ก็พูดในที่ประชุม ก.ตร.ครั้งนี้ว่าเมื่อรับเรื่องมติที่ประชุม ก.ตร.ตนเองก็จะพิจารณานำเรื่องนี้เข้า ก.ตร.อีกครั้งเพื่อพิจารณารับนายตำรวจทั้ง 2 นายกลับเข้ารับราชการได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ส่วนกรณีของ พล.ต.อ.พัชรวาท ก็อยู่ที่นายกฯ รัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาเพราะเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง