xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสั่ง รพ.บำรุงราษฎร์ ชดใช้ 12 ล้าน ปล่อยตั้งท้องลูกพิการ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายวอลเตอร์ ลี  กับ ด.ช.ซาย เค่อ ลี หรือน้องซาย
ศาลสั่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ชดใช้เงิน 12 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 คดีน้องซายพิการขณะเป็นทารกในครรภ์ โดยแพทย์ไม่อธิบายและแจ้งให้ครอบครัวผู้เสียหายทราบ แต่ปล่อยให้ตั้งท้องลูกพิการ ขณะที่ “วอลเตอร์ ลี” บิดาน้องซายดีใจที่ได้รับการเยียวยารักษา

วันนี้ (25 ธ.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 29 ศาลจังหวัดพระโขนง เมื่อเวลา 09.00 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ พ.8964/2550 ที่ นางประภาพร แซ่จึง อายุ 36 ปี และ ด.ช.ซาย เค่อ ลี หรือน้องซาย อายุ 3 ปี บุตรชาย เป็นโจทก์ที่ 1 และ 2 ยื่นฟ้อง บริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ จำกัด (มหาชน), นายแพทย์เดชะพงษ์ ภู่เจริญ แพทย์สูตินารีเวช และ แพทย์หญิงอรชาติ อุดมพาณิชย์ แพทย์รังสีวิทยา เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวน 390,966,293 บาท กรณีเมื่อวันที่ 30 ก.ย.49 นางประภาพร ภรรยาของ นายวอลเตอร์ ลี อายุ 44 ปี สัญชาติมาเลเซีย พิธีการายการอาหาร “@ 5 dairy” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ไปคลอดน้องซายที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ปรากฏว่าเด็กออกมามีความพิการแขนขวาและขาทั้งสองข้างขาด ทั้งที่ก่อนหน้านั้นแพทย์ทั้งสองคนในคดีนี้ ระบุผลอัลตราซาวนด์ว่าบุตรในครรภ์ของนางประภาพรสมบูรณ์และแข็งแรงดี

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2-3 มีการกระทำการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า มูลเห็นที่โจทก์นำคดีมาฟ้องนั้น มาจากการอัลตราซาวนด์ ที่จำเลยที่ 2-3 ไม่ได้ตรวจดูถึงความพิการของน้องซาย โจทก์ที่ 2 ขณะอยู่ในครรภ์ ทั้งที่จำเลยที่ 2-3 ต้องบอกกล่าวให้โจทก์ทราบ เมื่อวันที่ 9 พ.ค.49 ขณะที่โจทก์ตั้งครรภ์ได้ 4-5 เดือน จำเลยที่ 2 ส่งตัวโจทก์ไปให้จำเลยที่ 3 ตรวจอัลตราซาวนด์ ใช้เวลาตรวจนาน 5-10 นาที จำเลยที่ 3 ระบุว่าบุตรในครรภ์สมบูรณ์ดีทุกประการ ก่อนส่งตัวโจทก์กลับไปพบกับจำเลยที่ 2 หลังจำเลยที่ 2 ดูภาพอัลตราซาวนด์แล้ว บอกแก่โจทก์ว่ายินดีด้วยที่ได้บุตรชายและเด็กสมบูรณ์ดี หลังจากนั้นไม่มีการตรวจซ้ำอีก แต่ไปพบแพทย์เพื่อตรวจการเต้นของหัวใจเท่านั้น จนกระทั่งบุตรคลอดออกมาแล้วมีความพิการ แขนขวา และขาทั้งสองข้างขาด ไม่มีเบ้าสะโพก ขณะที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่า หลังการอัลตราซาวนด์ได้แนะนำให้โจทก์กลับมาทำอัลตราซาวนด์ เพื่อดูความเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อีกครั้ง แต่โจทก์ไม่ทำ โดยรู้สึกเห็นใจต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 เบิกความว่าได้รับมอบหมายให้ตรวจอัลตราซาวนด์ในระดับที่ 1 พบว่ามีการเจริญเติบโตตามปกติ แต่รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง

ศาลเห็นว่าจากบันทึกเวชระเบียนของโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.49 กระทั่งคลอดบุตร ไม่ปรากฏว่ามีการระบุให้โจทก์กลับมาอัลตราซาวนด์ซ้ำ รวมถึงไม่ระบุถึงความพิการของทารกในครรภ์ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยอธิบายผลดี ผลเสีย ของบุตรในครรภ์ให้โจทก์ทราบ ดังนั้นโจทก์จึงไม่ทราบถึงความพิการของทารกในครรภ์ ทั้งที่จำเลยที่ 2-3 ควรตรวจถึงความพิการของทารกในครรภ์ เพื่อแจ้งให้โจทก์มีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าจะรักษาอย่างไร หรือจะรักษาหรือไม่ ซึ่งแพทย์มีหน้าที่บอกอธิบายวิธีการรักษา โดยให้ผู้ป่วยรับทราบและยินยอม การกระทำของจำเลยที่ 2-3 จึงต้องรับผิดฐานประมาทเลินเล่อละเว้นหน้าที่ที่ต้องระวัง จำเลยที่ 2-3 ทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง อีกทั้งการยุติครรภ์ในกรณีที่ไม่ขัดศีลธรรมสามารถทำได้ตามมติของแพทยสภา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วย และคำแนะนำของแพทย์ และจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2-3 ด้วย ในฐานะเป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยตรง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดเพียงใด ศาลกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง แบ่งเป็นค่าเสียหายทางจิตใจของโจทก์ที่ 1 จำนวน 1 ล้านบาท ค่าเสียหายจากการขาดรายได้ของโจทก์ที่ 1 จำนวน 1 ล้านบาท ค่าจ้างคนเลี้ยงดูน้องซาย จำนวน 3 ล้านบาท ค่าอุปกรณ์ที่ช่วยให้น้องซายสามารถพยุงตัวยืนได้ ที่ต้องเปลี่ยนไปตามวัย จำนวน 5 ล้านบาท ค่ารักษาผ่าตัดในอนาคตจำนวน 1 ล้านบาท ค่ารักษาทางจิตใจต่อน้องซาย โจทก์ที่ 2 จำนวน 1 ล้านบาท สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลกำหนดนั้นไม่เต็มจำนวนตามที่โจทก์ฟ้อง เนื่องจากการกระทำการละเมิดของจำเลยทั้งสาม ไม่ได้มีเจตนาร้าย ไม่ได้ส่อไปในทางเป็นอาชญากรรม จึงให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินรวมจำนวน 12 ล้านบาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันฟ้อง

ด้าน นายวอลเตอร์ ลี กล่าวว่า ต้องไปปรึกษากับทนายความและครอบครัวอีกครั้งว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ วันนี้ดีใจที่สิทธิของคนไข้ได้รับการเยียวยารักษา หลังเกิดเหตุการณ์นี้กับครอบครัว จึงได้พาน้องซายไปรักษาตัวที่ประเทศเยอรมนี หลังจากแพทย์ในประเทศต่างพูดตรงกันว่าต้องรอให้เด็กโตก่อนจึงจะรักษาได้ ทั้งที่ความจริงแล้วเมื่อเกิดปัญหาขึ้น สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ในทันที เช่นเดียวกับกรณีน้องซาย ที่แพทย์ประเทศเยอรมนี สามารถทำขาเทียม ทั้งที่น้องซายยังไม่มีเบ้าสะโพก แม้จะหมดเงินไปนับล้านบาทก็ตาม แต่ตนเห็นว่าวัสดุอุปกรณ์ที่ให้การรักษาผู้ป่วยที่พิการตั้งแต่แรกคลอดนั้น ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะสร้างขาเทียมสำหรับเด็กแรกคลอดที่ช่วยในการพยุงตัวได้ในราคาถูกกว่า ที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือจากแพทย์ประเทศเยอรมัน ให้เดินทางมาให้ความรู้กับแพทย์คนไทย โดยทางแพทย์ทางเยอรมนี ยินดีที่จะสอนให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทางมูลนิธิซาย มูฟเมนท์ จึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างแพทย์ไทยให้ได้เรียนรู้การรักษาจากแพทย์ของประเทศเยอรมนี เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อเด็กพิการตั้งแต่กำเนิดอีกจำนวนมากในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น