กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ถือเป็นองค์กรหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม โดยมีอำนาจเต็มในการสืบสวนสอบสวนและสั่งฟ้องคดีต่อผู้กระทำความผิดในทางคดีอาญาและคดีแพ่ง ที่มีความซับซ้อนมากกว่าคดีตามปกติทั่วไป อันมีวิธีในการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมหลักฐานเป็นพิเศษ ทั้งศักยภาพด้านเทคโนโลยี ข้อกฏหมายที่ครอบคลุมรอบด้าน โดยมีหน่วยบัญชาการแยกย่อยในด้านต่างๆอย่างครบครัน
อีกทั้งแต่ละคดีตามอำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ สามารถที่จะขอให้หน่วยงานอื่นและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนหรือเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความเหมาะสม
ถ้าดูตามอำนาจหน้าที่แล้วถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ต่อการผดุงความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่สังคม
แต่อำนาจบางครั้งเมื่อมีมากแต่ถูกใช้ไปทางไม่ถูกไม่ควร ก็จะกลายเป็น “ดาบสองคม” และดูเหมือนว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษจะถูกจับตาว่าเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ที่ใช้ประหัตประหารฝ่ายตรงข้ามมาตลอด
ที่สำคัญ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่ว่ายุคใดจะเป็นองค์กรที่ถูกจับจองอันดับแรกจากฝ่ายการเมืองมาเสมอ
เมื่อยุค “การเมืองเปลี่ยนผ่าน” ได้เกิดขึ้น จากพรรคเพื่อไทยที่คุมอำนาจรัฐ โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้กุมบังเหียนตัวจริง คุมอำนาจเบ็ดเสร็จภายในพรรคชนิดกดปุ่มสั่งได้ มาเป็นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
ดีเอสไอในยุคที่มี "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" นั่งเป็นอธิบดีอยู่ จึงหนีไม่พ้นที่จะถูกกระทบจาก "แรงสั่นสะเทือนทางการเมือง" ครั้งนี้ไปได้ เนื่องจากความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมไปถึงกับ “เครือญาติบางคน”ของตระกูลชินวัตร
เสมือนว่า “ ระเบิดเวลา” ในตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอของพ.ต.อ.ทวี ได้เริ่มนับถอยหลัง ตั้งแต่วันที่พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้ว
หลังจากนั้นกระแสการปรับเปลี่ยนโยกย้าย “หัวเรือใหญ่” ของดีเอสไอ จึงดังขึ้นอยู่ตลอดเวลา
กระนั้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ก็รับทราบถึง “สัญญาณอันตราย” ครั้งนี้เป็นอย่างดี เพราะนับจากอำนาจการเมืองเปลื่ยนมือ พ.ต.อ.ทวี ดูจะไม่ออก "แอ็คชั่น"มากเท่าที่ควรและทำตัวค่อนข้างเงียบหายจากการให้ข่าวและเป็นข่าว เพราะเกรงว่าอาจเกิดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดประเด็นจนร้อนมาถึงเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอได้
ท้ายสุดแล้ว พ.ต.อ.ทวี ก็หนีชะตากรรมในครั้งนี้ไปไม่พ้น เมื่อ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สบช่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำปีช่วงปลายเดือนกันยายน จัดการเด้ง "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" ออกจากเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอจนได้ และสลับ "ธาริต เพ็งดิษฐ์" เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐหรือป.ท.ท. ขึ้นมาสวมหมวกแทน
อีกทั้ง ธาริต ยังมีภาษีเหลือเฟือ ในฐานะที่อดีตเคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีดีเอสไออยู่นาน 4 ปี ที่สำคัญยังเป็นคนร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันขึ้นมาอีกด้วย จุดนี้เองทำให้รู้ระบบงานและข้อกฏหมายของกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นอย่างดี
ภารกิจอันหนักอึ้งและท้าทายยิ่งของ ธาริต ครั้งนี้ ที่สังคมฝากความหวังว่าการเข้ามาในฐานะ “หัวเรือใหญ่”ของดีเอสไอ ที่จะต้องลบภาพองค์กรอันถูกตีตราว่าเป็น เครื่องมือทางการเมือง และใช้กลไกอำนาจอันล้นฟ้า เล่นงานฝ่ายตรงข้าม จึงเป็นชนักติดตัวของกรมสอบสวนคดีพิเศษเสมอมา
ในอีกมุมหนึ่งหลายฝ่ายมองว่า ธาริต จะต้องเจอสิ่งที่ท้าทายในอีกรูปแบบหนึ่งนั้นก็คือ โครงสร้างของดีเอสไอที่ยังไม่ได้สลัดคราบ “ทวี สอดส่องโมเดล” ไปเท่าใดนัก โดยเหล่าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษส่วนใหญ่ยังเป็นคนที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง แต่งตั้งในตำแหน่งต่างๆอยู่ ซึ่งจุดนี้จะสร้างความยากลำบากให้กับ ธาริตในการเปลี่ยนดีเอสไอ “ยุคมืด” มาเป็น “ยุคฟ้าเปิด”ได้หรือไม่ !?
หลังจากการสถาปนาองค์กรเมื่อปี 2547 ทั้งนี้ถ้านับคดีในปี 2552 ดีเอสไอได้รับคดีพิเศษรวม 114 คดี สอบสวนเสร็จ 77 คดี โดยอยู่ระหว่างดำเนินการ อีก152 คดี หากมา “โฟกัส” คดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษอันมากมายที่อยู่ในหน้าที่รับผิดชอบ มีคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและคดีที่ต้องเร่งกู้ภาพทางลบขององค์กรเองยังมีหลายคดีที่น่าจับตามอง
---- คดีลอบสังหาร สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าคดีนี้จะไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรงของดีเอสไอ แต่ดีเอสไอก็ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงความรับผิดชอบ เนื่องจากหนึ่งในรายชื่อผู้ลอบสังหารมีชื่อของ “ส.ต.ท.วรวุฒิ มุ่งสันติ” ตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด โดยมีหนังสือการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการว่าเคยมาช่วยราชการกับดีเอสไอ อีกทั้งประวัติยังมีความสนิทชิดเชื้อกับ “พ.ต.อ.ดุษฎี อารยะวุฒิ” อดีตรองอธิบดีดีเอสไอ ที่สำคัญรถที่ใช้หลบหนีหลังก่อเหตุยังเป็นรถที่ใช้ในราชการของดีเอสไอ ซึ่งถือว่าผิดระเบียบอย่างชัดเจน ทั้งนี้ดีเอสไอได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาแต่เรื่องก็ได้เงียบหายไป กระนั้นดีเอสไอที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยในการสืบสวนและล่าสุดได้เซ็นข้อตกลงร่วมในการใช้ฐานข้อมูลบุคคลกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ได้เตรียมตั้งชุดสืบสวนคดีขึ้นมาใหม่ จึงน่าจะใช้กลไกตรงจุดนี้ตามจับ ส.ต.ท.วรวุฒิ เพื่อกู้ภาพลบของดีเอสไออีกทางหนึ่ง
---- คดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น sc asset ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร คดีนี้กลับมาออกตามหน้าสื่ออีกครั้งหนึ่ง เมื่อ นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผช.เลขาธิการ ก.ล.ต. และ นายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีเอสไอ ได้เข้าเบิกความต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ของ “ทักษิณ” ให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยระบุไปในทางเดียวกันว่า พบหุ้นของ บ.เอสซีฯ ที่ขายให้ บ.วินมาร์ค ซึ่งเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยวิธีตั้งกองทุน 3 กองทุน คือ กองทุนแวลู แอสเสทส์ ฟันด์ (VAF) กองทุนโอเวอร์ซี โกรว์ธ ฟันด์ (OGF) และกองทุนออฟชอว์ ไดนามิค ฟันด์ (ODF) ประเทศมาเลเซีย มาถือครองหุ้นแทน บ.เอสซีฯ ซึ่งถือเป็นการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นและไม่รายงานให้ ก.ล.ต.ทราบ อย่างไรก็ตาม "กรณ์ จาติกวณิช" รมว.คลังได้สั่งปัดฝุ่นพิจารณาใหม่อีกครั้ง หลังพบว่าอาจมีหลักฐานใหม่และได้ส่งหนังสือมาถึงดีเอสไอด้วย โดยก่อนหน้านี้ข้อมูลการสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ยังไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพิสูจน์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นเจ้าของหุ้น SC เกือบ 20% อย่างไรก็ตามคดีดังกล่าวถูกตั้งคำถามขึ้นในยุคของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กุมอำนาจอยู่ตลอดเวลาว่าเหตุใดจึงไม่มีการดำเนินการอย่างเต็มที่เท่าที่ควร จึงถือเป็นคดีหนึ่งที่เป็นตราบาปของดีเอสไออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
---- คดีปล่อยข่าวอัปมงคลในตลาดหุ้น ถือเป็นคดีที่กระทบกับหัวใจคนไทยทั้งประเทศอย่างรุนแรงและเป็นปรากฏการณ์ป่วนตลาดหุ้นครั้งประวัติศาสตร์ที่ส่งผลให้หุ้นล่วงดิ่งเหวอย่างหนักสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ซึ่งคดีนี้สันนิษฐานได้ว่ามีการทำเป็นขบวนการจากการตรวจสอบเบื้องต้นของ กลต. พบว่ามีการโยงใยเชื่อมโยงทั้งบุคคลและบริษัทหลักทรัพย์ที่ทำการปล่อยข่าวลือดังกล่าวทั้งในและนอกประเทศ โดยมีตัวการใหญ่ปล่อยข่าวมาจากต่างประเทศผ่านทางสำนักข่าวต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงถึงสถาบันในทางลบ โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 4 ราย อันมีพฤติกรรมโพสข้อความมิบังควร แต่ในส่วนของดีเอสไอนั้นมีหน้าที่ตรวจสอบความผิดตามพ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ ที่สุดแล้วดีเอสไอที่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพรวมไปถึงยังสามารถที่จะเข้าร่วมสืบหาหน่วยงานอื่นในการรวบรวมข้อมูลหลักฐาน จะสามารถกระชากหน้ากาก "ตัวการใหญ่"ที่ยังลอยนวลอยู่ได้หรือไม่ เพราะถือเป็นพฤติกรรมเลวร้ายที่มากระทบกับสถาบันอันเป็นที่รักของคนไทยทั้งชาติ
---- คดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ไทม์ส ออนไลน์ พาดพิงสถาบันเบื้องสูง โดยคดีนี้มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษอย่างมากมาย จึงได้รับเข้าเป็นคดีพิเศษและจะเป็นหน้าที่ของดีเอสไออย่างเต็มที่ โดยได้ตั้ง “พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์” รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน มีพนักงานอัยการรวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์และด้านภาษาต่างประเทศเป็นที่ปรึกษา ซึ่งคดีนี้ถือเป็นเรื่องความผิดกฏหมายความมั่นคงของประเทศ อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งพ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ ขึ้นมาเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ อันมีความสัมพันธ์กับ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” อธิบดีคนเก่า อย่างแนบแน่น จึงอาจทำให้คดีไม่มีความคืบหน้าไปเท่าที่ควรหรือไม่ เนื่องจากในยุคที่ผ่านมาคดีความทั้งหลายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งคดีหุ้นเอสซี ฯ คดีการทุจริตในโครงการต่างๆ ที่อยู่ในรับความรับผิดชอบของดีเอสไอ ยังคงมีการเลือกปฏิบัติอยู่พอสมควร
---- คดีฆาตกรรมพระสุพจน์ สุวโจ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ เป็นคดีสะเทือนขวัญซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนและกระทบสิทธิมนุษยชน จนองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลายแห่ง มีการออกมาเรียกร้องกดดันให้มีการปฏิรูปดีเอสไอ ทั้งนี้นับแต่ 17 มิ.ย.2548 เป็นเวลากว่า 4ปี ที่คดีมีเงื่อนงำหลายแง่มุม อาทิ เกิดจากการแสดงความคิดเห็นกรณีการใช้ความรุนแรง หรือฆ่าตัดตอน ประเด็นการขัดขวางการบุกรุกที่ดินของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เชื่อมโยงกับนักการเมืองระดับชาติ คนร้ายบุกเผาสวนป่าอนุรักษ์เมตตาธรรมกว่า 200 ไร่ มีการเบี่ยงเบนประเด็นเป็นเรื่องชู้สาว ทั้งนี้จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถนำคนร้ายมาดำเนินคดีได้แม้แต่คนเดียว จนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาทางดีเอสไอได้ออกมาให้ข้อมูลความคืบหน้าว่าฮาร์ทดิสก์เครื่องคอมพ์ของพระสุพจน์ที่ส่งตรวจกว่า 9 เดือน พบการถูกแทรกแซงไฟล์ 4,000 ไฟล์ ซึ่งเป็นพนักงานดีเอสไอชุดเก่ามีหน้าที่ดูแล จนทำให้เกิดปัญหากันขึ้นระหว่างคนในองค์กรด้วยกันจึงส่งผลกระทบกับความคืบหน้าของคดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตามยังมีคดีสำคัญที่กรมสอบสวนคดีพิเศษที่ยังอยู่ในความรับผิดชอบและยังเป็นที่สนใจของประชาชน อาทิ คดีการหายตัวของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม คดีฆ่านักการทูตชาวซาอุดีอาระเบีย คดีการหายตัวของนายอัลลู ไวรี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย คดีเพชรที่ถูกโจรกรรมจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ
จากคดีพิเศษทั้งหลายที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการทางกระบวนการตามกฏหมาย ภายใต้การกุมบังเหียนของ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะสามารถนำกรมสอบสวนคดีพิเศษที่มีกลไกอำนาจสืบสวนสอบสวนอย่างสูงขับเคลื่อนไปข้างหน้าผยุงความยุติธรรมให้เกิดแก่สังคมและที่สำคัญยังต้องลบภาพองค์กรที่ถูกตีตราว่าเป็นเครื่องมือการเมืองได้หรือไม่จึงเป็นพันธกิจที่ยังท้าทายและหนักหน่วงยิ่ง
เพราะสังคมคงไม่อยากดู “หนังม้วนเก่า”ของกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกต่อไป
จากนี้ไป "เวลา"เท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งประชาชนทั้งหลายยังคงฝากความหวังถึงทิศทางที่ดีขึ้นของกรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่เสมอ