xs
xsm
sm
md
lg

ยังสู้! “โอ๊ค-เอม” ฟ้องสรรพากร ขอยกเลิกประเมินภาษี

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

คุณหญิงพจมาน พร้อมบุตรสาวและบุตรชายเมื่อครั้งเดินทางไปศาล
“โอ๊ค-เอม” ส่งทนายฟ้อง “กรมสรรพากร-คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ” ขอยกเลิกประเมินภาษีรวมกว่าหมื่นล้าน อ้างสรรพากรทำงานตามใบสั่ง คตส.ที่เป็นกลุ่มบุคคลที่มาจากการล้มล้างรัฐบาลพ่อแม้ว

วันนี้ (11 ธ.ค.) เมื่อเวลา 11.45 น.ที่ศาลภาษีอากรกลาง ถ.รัชดาภิเษก นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยนางกาญจนาภา หงษ์เหิน มอบอำนาจให้นายเมธา ธรรมวิหาร ทนายความของยื่นฟ้องกรมสรรพากร, นายสุทธิชัย สังขมณี, นายศิริศักดิ์ พันธ์พยัคฆ์ และนายณัฎฐภพ อนันตรสุชาติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินภาษีของกรมสรรพกร เป็นจำเลยที่ 1-4 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประเมินภาษีของนายพานทองแท้ จำนวน 5,677,136,572 บาท และ น.ส.พิณทองทา จำนวน 5,676,860,088 บาท โดยแยกฟ้องเป็นสองสำนวน

คำฟ้องในส่วนของนายพานทองแท้ สรุปว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2550 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ ภงด.12 ประจำปี 2549 โดยระบุว่าโจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้องเนื่องจากกรมสรรพากรตรวจสอบพบว่า เมื่อปี 2549 โจทก์เป็นกรรมการบริษัทแอมเพิล ริช อินเวสเมนต์ จำกัด ได้ซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากบริษัท แอมเพิล ริชฯ โดยทำการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2549 รวม จำนวน 164,600,000 หุ้นในราคาพาร์ หุ้นละ 1 บาท ขณะที่หุ้นชินคอร์ปมีราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หุ้นละ 49.25 บาท หุ้นชินคอร์ป ที่บริษัทแอมเพิล ริช ขายให้โจทก์เป็นหุ้นชนิดไร้ใบหลักทรัพย์ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะนำหุ้นลักษณะนี้ไปฝากไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ในต่างประเทศไม่ได้ การซื้อหุ้นไม่ว่าในหรือนอกตลาดหลักทรัพย์จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อลงบันทึกบัญชีของผู้ฝากหลักทรัพย์ในสำนักหักบัญชีของบริษัทศูนย์ฝากหลักทรัพย์ และพบว่าได้มีการโอนหลักทรัพย์หุ้นชินคอร์ปจากผู้รักษาทรัพย์ช่วง คือ ธนาคารซิตี้แบงก์ ไปยังโบรกเกอร์คือบริษัท หลักทรัพย์ยูบีเอส จำกัด (มหาชน) จำนวน 164,000,000 หุ้น ดังนั้นการซื้อขายหุ้นครั้งของโจทก์จึงเป็นการซื้อขายหุ้นในประเทศไทย

การที่ บริษัท แอมเพิล ริชฯ ขายหุ้นชินคอร์ปให้กับโจทก์ในวันดังกล่าว จึงมีส่วนต่างคำนวณได้เป็นเงิน 7,941,950,000 บาท จึงถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทแอมเพิล ริชฯได้รับประโยชน์เข้าลักษณะพึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ซึ่งกำหนดให้ต้องเสียภาษีตามมาตรา 40 (2) แต่โจทก์ได้ยื่นแบบ ภงด.90 โดยไม่นำเงินได้ส่วนต่าง 7,941,950,000 บาท ดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษีจึงถือว่าสำแดงรายการต้องเสียภาษีไม่ครบ ดังนั้น จะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับอีกสองเท่า รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,904,791,172.29 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงได้ยื่นยอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2, 3 และ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ และต่อมาเมื่อวันที่ 22 ก.ย.52 คณะกรรมการอุทธรณ์ฯ ได้ลดภาษีให้บางส่วนแต่ยังคงให้โจทก์ต้องเสียภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม รวม 5,677,136,572.88 บาท

โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นการการดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ทั้งที่การเก็บภาษีควรเก็บตามความเป็นจริงหน่วยงานของรัฐไม่ควรต้องตกเป็นเครื่องมือของบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มาจาการล้มล้างรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นการประเมินภาษีจึงไม่ชอบตามประมวลรัษฎากร ขัดต่อระเบียบกรมสรรพากร และแนวทางปฏิบัติตามหนังสือตอบข้อหารือกรณีไม่เป็นธรรม การประเมินไม่มีความโปร่งใส จึงขออุทธรณ์การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานการประเมิน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ฯทุกประเด็น และขอให้ศาลมีคำสั่งปลดภาษี และเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงาน และขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ พร้อมขอลดเบี้ยปรับ ศาลรับฟ้องไว้เป็นคดีเลขดำที่ 266/2552

ขณะที่ คำฟ้องในส่วนของ น.ส.พิณทองทา มีเนื้อหาสอดคล้องกันกับนายพานทองแท้ พี่ชายโดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยในทุกประเด็นและขอให้ปลดภาษี ลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน 5,676,860,088.79 บาท ซึ่งศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีที่ 267/2552
กำลังโหลดความคิดเห็น