xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาจำกัดการประกอบอาชีพ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

สราวุธ เบญจกุล
สัญญาจำกัดการประกอบอาชีพ

โดย สราวุธ เบญจกุล

ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพตราบใดที่อยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด เพราะเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองตามหลักสากลในประเทศที่ใช้ระบอบเศรษฐกิจเสรีนิยม และมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การจำกัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวนี้โดยรัฐจะกระทำได้ต่อเมื่อมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ และต้องกระทำเท่าที่จำเป็น ไม่ให้กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชน การบัญญัติและบังคับใช้กฎหมายจึงต้องกระทำอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

อย่างไรก็ดี ในระหว่างเอกชนด้วยกันอาจเกิดกรณีที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดยินยอมที่จะให้บุคคลอื่นจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพของตนเอง ไม่ว่าข้อตกลงหรือนิติกรรมที่ทำนั้นจะกระทำด้วยเหตุผลใดก็ตาม ซึ่งในการมีข้อตกลงดังกล่าวนี้หากพิจารณาตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา จะเห็นได้ว่าเมื่อมีการแสดงเจตนาเข้าผูกพันตามสัญญาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว คู่สัญญาต้องปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด อันเป็นไปตามหลักความศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสดงเจตนา และหลักเสรีภาพในการเข้าทำสัญญานั่นเอง

หลักการดังกล่าวข้างต้นควรจะบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่มีการทำนิติกรรมสัญญาที่มีลักษณะเป็นการเอารัดเอาเปรียบกัน ทำให้คู่สัญญาฝ่ายที่ต้องเสียเปรียบต้องยอมเข้าทำสัญญาที่มีเนื้อหาในการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพของตนเองโดยปราศจากอำนาจต่อรอง ทั้งนี้ข้อตกลงจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงานหรือการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ อาจพบได้ในสัญญาหลายประเภท เช่น สัญญาจ้างแรงงานที่มีข้อตกลงว่า ถ้าลูกจ้างออกจากงานแล้วจะไปทำงานลักษณะเดียวกับนายจ้างไม่ได้ ภายใน 5 ปีนับแต่ออกจากงานทั้งที่งานประเภทนั้นเป็นงานที่ลูกจ้างมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ หรือในสัญญาตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้า สัญญาให้ใช้สิทธิ (Franchise) ที่มีข้อตกลงห้ามมิให้ตัวแทนหรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพที่คล้ายหรือเหมือนกับสินค้าชนิดนั้นในพื้นที่หรือระยะเวลาที่เนิ่นนานเกินไป เป็นต้น

การที่คู่สัญญาอาจทำข้อสัญญาดังกล่าวที่มีลักษณะเอาเปรียบกันและไม่เป็นธรรมได้ จึงมีแนวคิดในหลักกฎหมายที่จะเปิดช่องให้ศาลสามารถเข้ามาตรวจสอบเพื่อให้การบังคับตามสัญญามีความเป็นธรรม โดยหลักการดังกล่าวปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 5 ซึ่งกำหนดไว้ว่าในกรณีที่ ข้อตกลงจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงาน หรือการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพซึ่งไม่เป็นโมฆะ แต่เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิ หรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

ข้อตกลงจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงานหรือการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพตามมาตรา 5 จึงต้องไม่มีลักษณะที่เป็นโมฆะ คือไม่เป็นข้อตกลงหรือนิติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ทำให้ข้อตกลงหรือนิติกรรมไม่มีผลบังคับใช้ได้ เช่นข้อสัญญาจำกัดห้ามการประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของลูกจ้างอย่างเด็ดขาด จนมีลักษณะเป็นข้อสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบจนถึงขนาดที่ถือได้ว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นต้น

ดังนั้น เฉพาะข้อตกลงหรือนิติกรรมที่มีผลตามกฎหมายเท่านั้นที่บังคับใช้ได้ และศาลสามารถปรับลด “ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี” ถ้าศาลพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าข้อตกลงหรือนิติกรรมจำกัดสิทธิและเสรีภาพนั้นทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิ หรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ อันมีผลให้ศาลสามารถปรับลดให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีได้ในการวินิจฉัยว่าข้อตกลงหรือนิติกรรมนั้นมีลักษณะที่ทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายหรือไม่ ศาลต้องพิเคราะห์ถึง “ขอบเขตในด้านพื้นที่และระยะเวลาของการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ รวมทั้งความสามารถและโอกาสในการประกอบอาชีพการงานหรือการทำนิติกรรมในรูปแบบอื่นหรือกับบุคคลอื่นของผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ ประกอบกับทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของคู่สัญญาด้วย”

การพิจารณาถึงขอบเขตในด้านพื้นที่และระยะเวลาของการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงประกอบว่า ข้อตกลงที่มีการจำกัดขอบเขตดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะกว้างเกินไปหรือไม่มีขอบเขตที่แน่นอนหรือไม่ เช่นมีข้อกำหนดในสัญญาจ้างแรงงานห้ามมิให้ลูกจ้างที่ออกจากงานไปประกอบธุรกิจการค้าประเภทเดียวกันกับนายจ้างในในพื้นที่ 100 กิโลเมตร จนกว่าจะพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่ออกจากงาน ข้อตกลงเช่นนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นข้อกำหนดที่ทำให้ลูกจ้างต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เช่นลูกจ้างอาจต้องย้ายที่อยู่ไปทำงานยังจังหวัดอื่นที่อยู่ห่างไกลจากบ้าน ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในเรื่องที่อยู่อาศัยและการเดินทาง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงโอกาสและความสามารถในการประกอบอาชีพด้วย จากตัวอย่างข้างต้น หากลูกจ้างผู้นั้นเป็นผู้มีความสามารถในการประกอบอาหารเป็นอย่างดี แต่ไม่มีความรู้ความสามารถในเรื่องอื่นๆเลย การมีข้อจำกัดห้ามประกอบอาชีพขายอาหารเป็นเวลา 10 ปี ย่อมทำให้โอกาสและความสามารถในการประกอบอาชีพของบุคคลดังกล่าวย่อมลดน้อยลง และทำให้ลูกจ้างต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติโดยต้องไปหาอาชีพอื่นทำและไม่อาจประกอบอาชีพที่ดีกว่าทำอาหารได้ เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาถึงทางได้เสียที่ชอบด้วยกฎหมายของคู่สัญญาว่าการมีข้อตกลงดังกล่าวมีผลทำให้คู่สัญญาเสียประโยชน์หรือไม่ด้วย เพราะถ้าไม่ทำให้คู่สัญญาเสียประโยชน์ก็ไม่ทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมาย จึงทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี

ดังนั้นการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชนนั้นยังครอบคลุมถึงการทำข้อตกลงหรือนิติกรรมในระหว่างเอกชนด้วยกันที่มีเนื้อหาสาระเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงาน หรือการประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หากปรากฏว่าเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพที่ทำให้คู่สัญญาต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติในลักษณะที่ไม่สมควรและไม่เป็นธรรมแล้ว พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 กำหนดให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบในสังคม

นอกจากนี้ การจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงาน หรือการประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระบอบเศรษฐกิจเสรีนิยมได้หากยอมให้มีการทำสัญญาในลักษณะเอาเปรียบเช่นว่านั้น เพราะจะไม่มีการแข่งขันทางการค้าและกลายเป็นการผูกขาดในทางธุรกิจได้


กำลังโหลดความคิดเห็น