xs
xsm
sm
md
lg

“สตช.” จับมือ “ดีเอสไอ” ใช้ระบบไฮเทคไล่จับโจร!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผบ.ตร. และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงนามในบันทึกความตกลง(MOU) ความร่วมมือระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “ว่าด้วยการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์”
สตช.ร่วมมือกับดีเอสไอ เชื่อมโยงฐานข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 7 ด้าน ครอบคลุมประกาศสืบจับ ทะเบียนประวัติ ประวัติบุคคลพ้นโทษ คนหายพลัดหลง รถหาย ใบสั่งจราจร ลายนิ้วมือ เสริมศักยภาพ เอื้อประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

วันนี้ (24 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความตกลง(MOU) ความร่วมมือระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “ว่าด้วยการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์”

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกความตกลง (MOU) ในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถเชื่อมโยงข้อมูลในกระบวนการยุติธรรมจากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมดูแลของ สตช. เช่น ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง กองทะเบียนประวัติอาชญากร และสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งได้รวบรวมจัดเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ไปใช้ในภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับคดีพิเศษ โดยจะเกิดประโยชน์ในการสร้างคลังข้อมูล ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ พัฒนาระบบสารสนเทศเบื้องต้น พัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจขั้นต้นของผู้บริหาร และวิเคราะห์แนวโน้มและความสัมพันธ์พื้นฐานของการกระทำอาชญากรรมในคดีพิเศษที่มีความซับซ้อน โดยถือว่าเป็นการสนับสนุนการพัฒนาประตูแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างภาครัฐผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะนำข้อมูลที่ขอเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ 1.ข้อมูลประกาศสืบจับ 2.ข้อมูลทะเบียนประวัติ 3.ข้อมูลประวัติบุคคลพ้นโทษ 4.ข้อมูลคนหายพลัดหลง 5.ข้อมูลรถหาย 6.ข้อมูลใบสั่งจราจร 7.ข้อมูลลายนิ้วมือ ไปใช้ประโยชน์ในการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษต่อไป

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ของทั้งสองส่วนราชการ จะอยู่ภายใต้ขอบเขตที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติอนุญาตให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ในการใช้ข้อมูลที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง และกองทะเบียนประวัติอาชญากร ได้เฉพาะข้อมูลที่ระบุไว้ในบันทึกความตกลงเท่านั้น เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการตามกฎหมาย โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเป็นผู้กำหนดประเภทของข้อมูลที่อนุญาตใช้เชื่อมโยงระบบการตรวจสอบ การใช้ข้อมูล การวางระบบควบคุม การรักษาความลับข้อมูลส่วนบุคคล และการกำหนดชั้นความลับของข้อมูลที่เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะเข้าถึงข้อมูลโดยมี ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ หรือหัวหน้าศูนย์สารสนเทศ หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายเป็นผู้ประสานงาน ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้บังคับการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง หรือผู้ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมอบหมายเป็นผู้ประสานงาน ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถือเป็นการบูรณาการการทำงานครั้งสำคัญของกระบวนการยุติธรรมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็วในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ยังผลไปสู่ความสงบสุขของประชาชนและประเทศชาติบ้านเมือง” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น