xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.ตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบภาคประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและโฆษกกระทรวงยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรมตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย บูรณาการหลายฝ่าย พร้อมช่วยเหลือลูกหนี้ขจัดปัญหาผู้มีอิทธิพลขูดรีดและเจ้าหน้าที่รัฐรับจ้างทวงหนี้ เปิดลงทะเบียน 1-30 ธ.ค.

วันนี้ (23 พ.ย.) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนเป็นหนี้นอกระบบ 1 ล้านคน ถือเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน สำหรับการดำเนินการจะมีกระทรวงการคลังจะเป็นหน่วยงานหลักแก้ปัญหาหนี้สินประชาชน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง เข้าช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกร, ธนาคารออมสิน ดูแลลูกหนี้ที่เป็นประชาทั่วไป,ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดูแลลูกหนี้ที่มีอาชีพค้าขายและเป็นหนี้เนื่องจากการลงทุนประกอบอาชีพ,ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ดูแลลูกหนี้ที่มีหนี้บัตรเครดิตและอยู่ใน 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล,ธนาคารกรุงไทย ดูแลลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ดูแลลูกหนี้ที่มีหนี้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

นายธาริตกล่าวต่อว่า โครงการนี้กระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ประสานความร่วมมือด้านกฎหมาย ทั้งการบังคับใช้กฎหมายและการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเรียกดอกเบี้ยหรือการเอารัดเอาเปรียบในเรื่องดังกล่าว อาทิ การผลักดันแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งพบว่าบัตรเครดิตมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีความเข้าใจผิดไปเองว่าบัตรเครดิตเป็นธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ จึงนำอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตไปผูกกับกฎหมายพิเศษของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

นายธาริตกล่าวว่า “ศูนย์แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบภาคประชาชน กระทรวงยุติธรรม” จะเป็นการบูรณาการ การทำงานของของทีมยุติธรรม ทั้งดีเอสไอ สำนักงาน ปปง. สำนักงาน ป.ป.ท. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานกิจการยุติธรรม กรมบังคับคดี สำนักงานยุติธรรมจังหวัด โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามา หากพบว่าลูกหนี้ถูกข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย หรือเจ้าหนี้มีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพลซึ่งอยู่ในอำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะสามารถดำเนินคดีได้ทันที หลังจากนั้นจะส่งต่อข้อมูลให้แก่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการยึดทรัพย์เจ้าหนี้นอกระบบ หรือหากมีการบังคับคดีก็จะส่งให้กรมบังคับคดีเป็นผู้ดำเนินการ
โฆษกกระทรวงยุติธรรมกล่าวต่อว่า ส่วนลูกหนี้ที่มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยหรือถูกเจ้าหนี้ดำเนินคดีโดยมิชอบ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะเข้าไปช่วยเหลือให้คำปรึกษาด้านกฎหมายหรือทนายความ และหากการสืบสวนพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปล่อยเงินกู้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือมีการข่มขู่ทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ก็จะเข้าไปดำเนินคดีในส่วนนี้ ส่วนการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องก็จะมอบหมายสำนักกิจการยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ศูนย์แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบภาคประชาชน กระทรวงยุติธรรม” จะเปิดรับลงทะเบียน ลูกหนี้นอกระบบระหว่างวันที่ 1-30 ธันวาคม 2552 ซึ่งตั้งอยู่ที่ ชั้น G อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น