“สราวุธ เบญจกุล” รองเลขาธิการศาลยุติธรรม แจง นั่งบอร์ดรถไฟในฐานะข้าราชการสำนักงานศาล ไม่ใช่ผู้พิพากษาตัดสินคดี ชี้ปัญหาดำเนินคดีทุจริตจัดสรรประโยชน์ตลาดนัดซันเดย์ เป็นงานบริหารผู้ว่าฯ รถไฟ ระบุสหภาพฯ เข้าใจคลาดเคลื่อนหลังยื่นหนังสือร้องประธานศาลฎีกาทบทวนความเหมาะสม
วันนี้ (26 ต.ค.) นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวชี้แจงกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ยื่นหนังสือถึงนายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา ขอให้พิจารณาความเหมาะสมการเข้าไปเป็นกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย หลังสหภาพฯ แจ้งความดำเนินคดีผู้ว่าการรถไฟฯ และบอร์ดการรถไฟฯ ในการดำเนินคดีทุจริตผลประโยชน์ตลาดซันเดย์พลาซ่าล่าช้าว่า การที่เข้าไปเป็นบอร์ดการรถไฟฯ นั้น ตนไปในฐานะที่เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ไม่ใช่ในฐานะที่ตุลาการที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีใดๆ ขณะที่การไปเป็นบอร์ดนั้นได้ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาถูกต้องตามขั้นตอนและระเบียบสำนักงานศาลยุติธรรม ส่วนภาระหน้าที่ของบอร์ดการรถไฟฯ ซึ่งมีตัวแทนจากข้าราชการตำรวจ ข้าราชการประจำกระทรวง ปลัดกระทรวงคมนาคม ตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 25 บัญญัติให้บอร์ด ฯ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลวางนโยบาย หลักเกณฑ์ ควบคุมดูแลเป็นการทั่วไปในการรถไฟ ฯ เท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจสั่งดำเนินคดีบุคคลใด หรือสั่งการบริหารกับผู้บริหาร โดยอำนาจหน้าที่บริหารการรถไฟฯ เป็นของผู้ว่าการรถไฟฯ ส่วนการที่ดำเนินคดีเกี่ยวกับผลประโยชน์ตลาดซันเดย์ฯ เป็นเรื่องของผู้บริหาร ที่ผู้ว่าการรถไฟฯ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งหากมีผู้กระทำผิดก็ดำเนินคดี ดังนั้นการยื่นหนังสือดังกล่าวที่คิดว่าตนกระทำการในฐานะตุลาการและทำให้เดความเสียหาย น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการยื่นหนังสือดังกล่าว นายภิญโญ เรือนเพ็ชร รองประธาน สร.รฟท.กับพวกรวม 10 คน ซึ่งแต่งกายชุดดำ ได้เดินทางไปยังศาลฎีกา สนามหลวง เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ยื่นหนังสือถึงนายสบโชค ประธานศาลฎีกา ผ่านผู้แทนสำนักเลขาธิการประธานศาลฎีกา โดยหนังสือมีความยาว 3 หน้า พร้อมเอกสารแนบท้ายเป็นรายการหัวรถจักรชำรุดมีใจความสรุปว่า สืบเนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือถึงนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟฯ ให้ดำเนินคดีอาญาต่อนายจิตต์สันติ ธนะโสภณ อดีตผู้ว่าฯ รถไฟ และคณะกรรมการพิจารณาการจัดหาผลประโยชน์ในตลาดซันเดย์พลาซ่า ในบริเวณตลาดนัดสวนจตุจักร โดย สตง.ตรวจพบว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและเมื่อดำเนินคดีแล้วให้แจ้งสตง. แต่นายยุทธนา ผู้ว่าการรถไฟฯ กลับไม่ได้ดำเนินการใดๆ สหภาพฯ จึงมีหนังสือถึงบอร์ดการรถไฟฯ ในฐานะกำกับดูแลการรถไฟ ให้สั่งการให้นายยุทธนา ดำเนินการ แต่บอร์ด ก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ สหภาพฯ จึงแจ้งความต่อกองปราบปราบ ให้ดำเนินคดีกับนายยุทธนา และบอร์ดการรถไฟ ซึ่งมีนายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น สหภาพฯ จึงขอให้ประธานศาลฎีกา ทบทวนความเหมาะสมของนายสราวุธด้วย เนื่องจากจะทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในความเป็นอิสระของศาล และการเสียเกียติภูมิของศาลยุติธรรม