xs
xsm
sm
md
lg

“พัชรวาท” ฉาวอีก! ยื้อสอบอาญา-ฟันวินัยร้ายแรง เพื่อนร่วมรุ่นรอวันเกษียณ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

โค้งสุดท้ายชีวิตสีกากี “พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” งามหน้าอีก พบพิรุธยื้อสอบฟันอาญา และวินัยร้ายแรง “พล.ต.ต.พิชิตพล” เพื่อนร่วมรุ่น นรต.25 หลัง ป.ป.ช.ส่งเรื่องสอบเอาผิด แต่กลับดองเค็มกองวินัย นานร่วมปี เพื่อรอวันเกษียณ

วันนี้ (27 ส.ค.) ทีมข่าวอาชญากรรม เอเอสทีวี ผู้จัดการ ออนไลน์/รายวัน ได้รับหนังสือ ซึ่งเป็นใบตอบรับ ลงชื่อผู้รับ ส.ต.ท.สุรศักดิ์ สุทิน ที่ได้รับเอกสารหลักฐานจาก ฝ่ายสารบรรณ(1)สำนักงานเลขานุการตำรวจ (สลก.ตร.) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นเอกสารหลักฐาน ประกอบด้วย ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค.ฉบับที่ 31 รวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง จำนวน 689 แผ่น

อย่างไรก็ตาม สำหรับใบตอบรับเอกสารดังกล่าว เป็นเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ได้มีหนังสือ ปช.ที่ 0040014/5280 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551 เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาและวินัยร้ายแรง พล.ต.ต.พิชิตพล แจ่มโสภณ ผู้บังคับการอำนวยการกองบัญชาการตำรวจสันติบาล (ผบก.อก.บช.ส.) กรณีถูกกล่าวหาปลอมแปลงเอกสารการนำอาวุธปืน (ไรเฟิล) เข้าประเทศ เหตุเกิดขณะรับราชการอยู่ที่กองทะเบียน

สำหรับเรื่องดังกล่าวกลับพบว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น นรต.25 รุ่นเดียวกับ พล.ต.ต.พิชิตพล แจ่มโสภณ ไม่ได้มีการสั่งการเพื่อให้สอบวินัยร้ายแรง ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ว่า เหมือนกับมีเจตนาเพื่อต้องการยื้อการสอบสวนออกไป เพื่อให้ พล.ต.ต.พิชิตพล พ้นการสอบสวน ด้วยเหตุเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย.นี้

ด้าน พล.ต.ต.ปัญญา เอ่งฉ้วน ผู้บังคับการกองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงเรื่องนี้ เพียงสั้นๆโดยยอมรับว่า ตนเคยเห็นเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่จำรายละเอียดไม่ได้ ต้องขอเวลาในการตรวจสอบก่อนและจะชี้แจงถึงความคืบหน้าในภายหลัง

จากนั้น ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม พล.ต.ท.ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล (ผบช.ส.) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของ พล.ต.ต.พิชิตพล และเพื่อนร่วมรุ่น นรต.25 ถึงเรื่องดังกล่าว โดย พล.ต.ท.ธีระเดช กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นเรื่อง และการจะไปกล่าวหาใครทำให้เขาเสียหาย จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เพราะหากพูดออกไป ผู้ที่ถูกกล่าวหา จะได้รับความเสียหายได้

**หมายเหตุ**

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 เรื่องการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ตามที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2549 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ต่อไป และแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมทั้งให้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับต่อไป ด้วยนั้น

โดยที่มีปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีเรื่องค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะว่างเว้นจากการมีกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นเวลานาน สมควรปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปโดยรวดเร็วยิ่งขึ้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

ข้อ 1.ให้ยกเลิกความตามข้อ 1 และ ข้อ 2 ของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2549 และให้ความต่อไปนี้แทน ข้อ 1)การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิให้กระทบกระเทือนการบังคับใช้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ยังคงบังคับใช้ต่อไป จนกว่าจะมีกฏหมายแก้ไข เพิ่มเติม หรือยกเลิก และให้ถือว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งได้รับแต่งตั้ง ตามประกาศคณะประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2549 ได้รับการสรรหาและแต่งตั้ง โดยชอบตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ข้อ 2) การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิให้กระทบกระเทือนการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธิพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 โดย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ยังคงบังคับใช้ต่อไป จนกว่าจะมีกฏหมายแก้ไข เพิ่มเติม หรือยกเลิก

ข้อ 2.ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ได้รับการแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2549 ดำรงตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง ตามประกาศฉบับดังกล่าว และมีวาระการดำรงตำแหน่งตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

ข้อ 3.กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จงใจไม่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภายในเวลาที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กำหนด ให้ดำเนินการตามมาตรา 34 เช่นเดียวกับกรณีการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

ข้อ 4.ในการดำเนินการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สิน ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีอำนาจออกคำสั่งยึด หรืออายัดทรัพย์สิน ที่เพิ่มขึ้นผิดปกติไว้ชั่วคราว ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิ์ ผูดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะยื่นคำร้องขอผ่อนผัน เพื่อขอรับทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์ โดยมีหรือไม่มีหลักประกันก็ได้

เมื่อมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวตามวรรคหนึ่งให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จัดให้มีการพิสูจน์เกี่ยวกับทรัยพ์สินโดยเร็ว ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่สามารถแสดงหลักฐานว่าทรัพย์สิน ที่ถูกยึดหรืออายัดชั่วคราว มิได้เพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีอำนาจยึด หรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ จนกว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จะมีมติว่า ทรัพย์สินนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งต้องไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันยึดหรืออายัด หรือจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกคำร้อง แต่ถ้าพิสูจน์ได้ ก็ให้คืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้นั้น

ข้อ 5.ในการไต่สวนข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับแต่งตั้ง ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน และสรุปสำนวน เสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กำหนด

ข้อ 6.ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เห็นสมควร อาจส่งเรื่องที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจ แต่งตั้ง ถอดถอน ดำเนินการทางวินัย หรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แล้วแต่กรณี หรือส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปก็ได้

ข้อ 7.การลงมติของที่ประชุม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไม่ว่าเป็นมติในการวินิจฉัย หรือให้ความเห็นชอบหรือไม่ ให้ถือเสียงข้างมาก

ข้อ 8.บรรดาบทบัญญัติใดของ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ ให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน

ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549

ลงชื่อ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน

หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ใบตอบรับที่อื้อฉาว
พล.ต.ต.พิชิตพล แจ่มโสภณ
กำลังโหลดความคิดเห็น