ก.ต.มีมติ 14 ต่อ 1 เลือก “วิรัช ชินวินิจกุล” อดีตเลขานุการศาลฎีกา ยุควิกฤตการเมือง เป็นเลขาธิการศาลยุติธรรมคนใหม่แบบไร้คู่แข่ง มีผล 1 ตุลาคม นี้
วันนี้ (24 ส.ค.) ที่ห้องประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานประชุม ก.ต.ครั้งที่ 13/2552 พิจารณาวาระโยกย้ายข้าราชการตุลาการ โดยมีตำแหน่งที่สำคัญ คือ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่ง นายพินิจ สุเสารัจ กำลังจะพ้นตำแหน่งในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งที่ประชุม ก.ต.มีมติเห็นชอบให้นายวิรัช ชินวินิจกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่การแต่งตั้งดังกล่าว ในที่ประชุมไม่มีการเสนอชื่อผู้พิพากษาอื่นร่วมแข่งขันกับนายวิรัช แต่อย่างใด โดยที่ประชุม ก.ต.จำนวน 15 คน ได้ลงมติ 14 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบนายวิรัชดำรงตำแหน่งดังกล่าว ทั้งนี้ ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมมีวาระดำรงตำแหน่งได้ 2 ปี โดยสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระหรือไม่เกิน 4 ปี
สำหรับประวัติ นายวิรัช นั้นเป็นคนจังหวัดราชบุรี เกิดวันที่ 7 พ.ย.2495 อายุ 57 ปี จบการศึกษานิติศาสตร์เกียรตินิยม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย โดยประวัติการทำงาน หลังจากเข้ามาเป็นผู้ช่วยพิพากษาเมื่อปี 2523 แล้ว มีความเจริญหน้าที่ในสายงานเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต ศาลแขวงธนบุรี เมื่อปี 2524-2532 และเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ปี 2533-2537 กระทั่งได้เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา และก้าวสู่ตำแหน่งบริหาร เข้ามาเป็นรองอธิบดีศาลภาค 9 (ภาคใต้) ปี 2541 ก่อนจะได้รับเลือกเป็นเลขานุการศาลฎีกาปี 2548 ในยุคนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี เป็นประธานศาลฎีกา ซึ่งขณะนั้นเกิดวิกฤตทางการเมืองที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขับไล่ เนื่องจากใช้อำนาจฝ่ายบริหารแทรกแซงองค์กรอิสระ จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสแก่คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด ศาลยุติธรรม และศาลรัฐธรรมนูญ ให้ร่วมเพื่อหาทางออกวิกฤติด้วยการพิจารณาคดีตามกรอบอำนาจทางกฎหมาย นอกจากนี้เมื่อครั้งที่มีการพิพากษาจำคุก 3 กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยุค พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการจัดการเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 นั้น นายวิรัชเคยตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มคนเสื้อแดงว่ามีสายสัมพันธ์กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และมีการโยงเกี่ยวกับการตัดสินคดีของศาลโดยกลุ่มเสื้อแดง นำโดยนายจักรภพ เพ็ญแข อ้างเทปดักฟังโทรศัพท์การสนทนาระหว่างนายวิรัชกับ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ อดีตเลขาธิการ ปปง.ซึ่งคดีดักฟังโทรศัพท์ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา
โดยระหว่างปฏิบัติหน้าที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประกอบด้วย มหาวชิรมงกุฎ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และเหรียญจักรพรรดิมาลา ปี 2540 และ 2544 ตามลำดับ ขณะที่ปัจจุบัน ยังเป็นคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (กบศ.) ชั้นฎีกาด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว ที่ประชุม กต. ยังพิจารณาสับเปลี่ยนโยกย้ายผู้พิพากษาตำแหน่งอื่นๆ ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย น.ส.เพลินจิต ตั้งพูนสกุล ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 9 เป็นประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 2, นายสุรศักดิ์ คิรีวิเชียร อธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 5, นายชูเกียรติ ตันทวีวงศ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 7, นายเอกชัย ชินณ์พงศ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 8 และนายพินิจ สายสะอาด เป็นประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 9 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป
ขณะที่ ก.ต. จะประชุมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาระดับรองประธานศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาอื่นๆ รวม 200 ตำแหน่ง ในวันที่ 1 ก.ย.นี้