xs
xsm
sm
md
lg

ติชมโดยสุจริตยกฟ้อง! “เฮียชู” หมิ่น “หลงจู๊” ไร้สัจจะ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย

"ชูวิทย์" เฮ ศาลยกฟ้องคดีหมิ่น"บรรหาร"ไร้สัจจะร่วมรัฐบาลพลังประชาชน ศาลชี้เอาข้อเท็จจริงมาพูดไม่ถือเป็นความผิด" ชูวิทย์" ได้ทีตอกกลับนักการเมืองชอบกลืนน้ำลายทำอะไรชาวบ้านรู้ แต่ไม่คิดฟ้องกลับเพราะแค่ผลักก็ล้มแล้วยันเป็นตัวแทนชาวบ้านตรวจสอบต่อไป แถมฝากถึง"นายกมาร์ค"ให้ทำใจเรื่องการตั้ง ผบ.ตร.




ที่ห้องพิจารณาคดี 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 24 ส.ค.52 เวลา 09.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.304/2551 ที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย มอบอำนาจให้นายนิกร จำนง เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา กรณีเมื่อวันที่ 18 - 28 ม.ค. 51 จำเลยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เกี่ยวกับการตัดสินใจร่วมรัฐบาล และวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับฉายา “หลงจู๊” ของนายบรรหาร ว่า ไร้สัจจะ ไม่มีจุดยืน สังคมผิดหวังโกหกประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 , 328 และ 332

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว คดีนี้โจทก์มอบอำนาจให้นายนิกร เป็นผู้ยื่นฟ้องและเบิกความแทนนอกจากนี้ยังมี ส.ส.และ กรรมการบริหารพรรคชาติไทย นายก อบจ.สุพรรณบุรี แม่บ้านซึ่งสามีเป็น รปภ.พรรคชาติไทย และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างหน้าพรรคชาติไทยเบิกความเป็นพยานทั้งที่คดีเป็นความผิดส่วนตัวแต่โจทก์ไม่ได้เบิกความดูแลผลประโยชน์ของตนเองแต่ได้นำพยานซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโจทก์มาเบิกความ ขณะที่จำเลยได้นำนายสรยุทธ์ สุทัศนจินดา ผู้ดำเนินรายการเรื่องเล่าเช้านี้ และจับเข่าคุยกัน ทางสถานีโทรทัศ ช่อง 3 ซึ่งเป็นคนกลางมาเบิกความถึงเหตุการณ์ที่นายบรรหารให้สัมภาษณ์ในวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2550 หลังรัฐประหาร โดยนายสรยุทธ์ เบิกความว่าในวันดังกล่าวนายบรรหารให้สัมภาษณ์รายการเรื่องเล่าเช้านี้ที่ศูนย์เยาวชนไทยญี่ปุ่น- ดินแดง ว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน

แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าหลังจากที่พรรคไทยรักไทยซึ่งเคยมีเสียงข้างมาก 377 เสียงจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเมื่อปี 2548 แล้วต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2549 และได้มีการจัดวันเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 2 เม.ย.2549 ซึ่งมีเวลาห่างกันเพียง 37 วันก็ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้นไม่ร่วมส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง กระทั่งมีการนำเรื่องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วได้ยุบพรรคไทยรักไทย ซึ่งขณะนั้นก็ได้มีการเรียกร้องประชาธิปไตยและให้นักการเมืองมีความซื่อตรงโยเมื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หลังการรัฐประหารก็ปรากฏว่าพรรคพลังประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงใกล้เคียงกัน แต่ไม่สามารถมีเสียงจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ขณะที่พรรคชาติไทยเป็นตัวแปรในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคชาติไทยมีคำขวัญชัดเจนว่า “ สัจจะนิยม ”ยืนหยัดชัดเจนมาตลอดจึงทำให้สาธารณะเข้าใจได้ว่าพรรคชาติไทยจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน

การที่โจทก์อ้างว่าพรรคชาติไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ศาลเห็นว่าคะแนนเสียงของพรรคพลังประชาชนขนาดนั้นนอนจากพรรคชาติไทยแล้วหากจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่นก็ทำได้และมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ขณะที่หากพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นร่วมกับพรรคชาติไทยจัดตั้งรัฐบาลก็จะทำให้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อยจึงทำให้โจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยกลับมาร่วมกับพรรคพลังประชาชน ส่วนที่โจทก์อ้างว่าการให้สัมภาษณ์กับนายสรยุทธ์ในวันลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว หากเป็นมติพรรคจะต้องมีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการนั้น โดยร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนเป็นมติพรรคเป็นการเสียสัจจะเพื่อประเทศชาติ ศาลเห็นว่าที่โจทก์อ้างว่าเป็นมติพรรคนั้นเกิดหลังการเลือกตั้ง ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลหากพรรคพลังประชาชนไม่ร่วมกับพรรคชาติไทยแต่ร่วมกับพรรคอื่นก็ยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ข้ออ้างของโจทก์จึงเป็นเพียงคำพูดที่สวยหรู ซึ่งประชาชนที่เลือกพรรคชาติไทยไม่สามารถแก้คะแนนเสียงได้ การกระทำของโจทก์เท่ากับเป็นการยอมรับว่าได้เสียสัจจะ

การที่จำเลยวิจารณ์การกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นนักการเมืองหัวหน้าพรรคชาติไทยและอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะจึงอยู่ในวิสัยที่จำเลยซึ่งเป็นนักการเมืองเช่นกัน และประชาชนจะแสดงความคิดเห็นได้และเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 45 ซึ่งแม้ว่าการวิจารณ์ของจำเลยจะใช้ถ้อยคำรุนแรงไปบ้างแต่ก็เป็นลีลาของจำเลยในการเป็นนักการเมืองขณะที่การวิจารณ์ของจำเลยนั้นเป็นความจริง ส่วนคำกล่าวเกี่ยวกับฉายา “ หลงจู๊ ” ของจำเลยนั้นก็เป็นฉายาที่ที่สื่อมวลชนตั้งให้สมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งหมายถึงการที่โจทก์ลงมาจัดการทุกอย่างด้วยตัวเองไม่ได้หมายความว่าเป็นการทุจริต

ส่วนที่โจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตแต่เพราะจำเลยโกรธแค้นโจทก์ที่ไม่ได้จัดชื่อให้อยู่ในลำดับต้นของการลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ศาลเห็นว่าจำเลยมีนายสรยุทธ์เบิกความว่าการสัมภาษณ์จำเลยในรายการจับเข่าคุยกันว่าในประเด็นดังกล่าวพยานได้ถามจำเลยหลายครั้งในรายการจำเลยตอบยืนยันว่าไม่ได้มีความโกรธแค้นซึ่งพยานดังกล่าวเป็นคนกลางจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้ ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 329พิพากษายกฟ้อง

ภายหลังนายชูวิทย์ ชูมืออย่างผู้ชนะ ก่อนจะให้สัมภาษณ์ว่า นายชูวิทย์ กล่าวว่า คดีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นว่านักการเมืองสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ เมื่อมีพฤติกรรมเป็นที่สงสัย ใครๆก็มีสิทธิ์พูด เพียงแต่ตนพูดแล้วเสียงดังกว่า

“ ขอฝากบอกนักการเมืองว่า ท่านทำอะไรไว้ ท่านกลืนน้ำลายตัวเองชาวบ้านรู้ดีแต่ไม่มีใครกล้าพูด อย่างน้อยมีผมซักคนที่กล้าพูดกล้าทักท้วง ”

เมื่อถามว่าจะฟ้องกลับนายบรรหารหรือไม่ นายชูวิทย์กล่าวว่า ไม่ เพราะแค่ผลักก็ล้มแล้ว แต่จะทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไป นอกจากนี้ยังอยากฝากถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรื่องการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ว่า ตอนท่านจะเข้ามาท่านรู้อยู่แล้วว่าสูตรการเมืองคือหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง ดังนั้นท่านไม่ควรคิดมากหากเขาจะตั้งใครมาเป็น ผบ.ตร.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีที่นายบรรหารยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาทกับนายชูวิทย์ในคดีแพ่ง ซึ่งสืบเนื่องกับคดีนี้ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้ยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นความจริงและเป็นเรื่องที่สังคมทราบกันโดยทั่วไป อีกทั้งนายบรรหาร และนายชูวิทย์ต่างเป็นนักการเมืองจึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นว่าไม่เป็นไปตามที่เคยสัญญาไว้กับประชาชน
นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น